ย้อนรอยศาสตร์และศิลป์คนสยาม กับภูมิปัญญาการเขียนอักษรภาษาไทย
ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ประจำชาติ ที่ใช้ในการสื่อสาร เพื่อสื่อความหมาย และสร้างความเข้าใจของคนในสังคม เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีความงดงาม และมีคุณค่าอันสูงยิ่ง เป็นสิ่งสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ภาษา ไทยเป็นภาษาที่งดงาม ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านภาษาพูด และภาษาเขียน สามารถนำเสนอได้ในรูปแบบของร้อยแก้วและร้อยกรอง ในภาษาเขียนที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ เป็นลักษณะแบบร้อยแก้ว มีทั้งการเขียนแบบเรียงความ การเขียนบทความ ฯลฯ แต่การเขียนและการออกเสียงภาษาไทยของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ได้ผิดเพี้ยนไปจากอักขรวิธีของภาษาไทย และขาดทักษะในการเขียน ภาษาไทยให้ถูกสวยงามตามแบบไทย โดยเฉพาะการเขียนลายมือที่ผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แบ่งประเภทการเขียนลายมือไว้เป็น 3 แบบ คือ
1. เขียนตัวบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรเต็มบรรทัด (ขนาดตัวหนังสือสูง 8 มิลลิเมตร หรือ 1 เซนติเมตร เป็นอย่างมาก) จะเริ่มฝึกตั้งแต่นักเรียนเริ่มเรียนหนังสือ ในการการเขียนตัวบรรจง ตัวอักษรต้องตรง เรียบ การวางสระ วรรณยุกต์ ช่องไฟถูกต้อง
2. เขียนหวัดแกมบรรจง หมายถึง เขียนตัวอักษรครึ่งบรรทัดเล็กน้อย เป็นการเขียนตามความถนัด ต้องการความรวดเร็ว แต่ยังต้องเขียนตัวอักษรให้เป็นตัว คือ ตัวอักษรต้องชัดเจน
3. เขียนหวัด หมายถึง การเขียนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ความประณีตหรือความชัดเจนอะไรนัก
รูปแบบของตัวอักษรไทย ที่ใช้กันในปัจจุบัน แบ่งตามลักษณะอักษรได้ 2 ประเภท คือ
1. ประเภทตัวเหลี่ยม มีเส้นตรงเป็นส่วนประกอบ ได้แก่
- แบบอาลักษณ์ แผนก อาลักษณ์ กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ใช้เป็นแบบคัดของทางราชการ เป็นลายมือไทยที่สวยงาม ใช้เขียนเพื่อใช้ในงานเกียรติยศต่าง ๆ
- แบบพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกรู) อยู่ในแบบหัดอ่าน ที่พระยาผดุงวิทยาเสริมเขียนขึ้น คือ แบบหัดอ่านหนังสือไทยภาคต้น แบบหัดอ่าน ก ข ก กา และหนังสือแบบหัดอ่านเบื้องต้น ซึ่งพิมพ์ขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ.2471, 2473 และ 2476 ตามลำดับ เพื่อใช้ฝึกเด็กให้เขียน หรือคัดลายมือหลังจากเรียนอ่านพยัญชนะแต่ละครั้ง
- แบบโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ คล้าย แบบของพระยาผดุงวิทยาเสริม ซึ่งอาจารย์สูริน สุพรรณรัตน์ อาจารย์ใหญ่ท่านแรกของโรงเรียน ได้นำลายมือของบิดา คือ อาจารย์มงคล สุพรรณรัตน์ เจ้าของและอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสุพมาศพิทยาคม (ตรอกวัดราชนัดดา จ.พระนคร) มาเป็นต้นแบบให้อาจารย์พูนสุข นีลวัฒนานนท์ (ปุณย์สวัสดิ์) จัดทำเป็นแบบคัดลายมือของโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2509
- แบบโรงเรียนสายน้ำทิพย์ คล้าย แบบของพระยาผดุงวิทยาเสริม ซึ่งอาจารย์อุไร ศรีธวัช ณ อยุธยา อาจารย์ใหญ่ และอาจารย์สูริน สุพรรณรัตน์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ ได้ดำริให้ลายมือของครูทุกคนเป็นแบบเดียวกัน และคณะครูของโรงเรียนได้นำลายมือของอาจารย์มงคล สุพรรณรัตน์มาดัดแปลงและทำแบบฝึกคัดลายมือของโรงเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2510 และได้ดัดแปลงลักษณะ ของตัวอักษรอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2519
- แบบภาควิชาประถมศึกษา คณะ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คล้ายแบบของพระผดุงวิทยาเสริม เกิดขึ้นจากดำริของศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล หัวหน้าแผนกวิชาประถมศึกษา ที่ต้องการให้มีอักษร ของแผนกวิชาที่ง่ายต่อการฝึกเด็กเขียน และเพื่อใช้เป็นแบบฝึกลายมือของนิสิตทุกคน ของแผนกวิชาที่จะนำไปสอนศิษย์เมื่อจบเป็นครูแล้ว
2. ประเภทตัวกลมหรือตัวมน มีส่วนโค้งเป็นส่วนประกอบ ได้แก่
- แบบขุนสัมฤทธิ์วรรณการ กระทรวงธรรมการใช้เป็นแบบฝึกหัดลายมือ ของนักเรียนในสมัยก่อน และโรงพิมพ์ต่าง ๆ ใช้เป็นแบบทำสมุดคัดลายมือจำหน่าย
- แบบกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการได้ดัดแปลงจากตัวอักษรแบบ ขุนสัมฤทธิ์วรรณการ เพื่อทำเป็นแบบฝึกหัดคัดลายมือใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาของโรงเรียน รัฐบาลทั่วประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2520
- แบบราชบัณฑิตยสถาน เป็น แบบตัวอักษรตัวกลม ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำหนดขึ้น (ในปี 2540) เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการสร้างตัวอักษรไทยทั้งการเขียน และการพิมพ์รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการออกแบบ ตัวอักษรไทยมาตรฐานที่จะใช้ในกิจการคอมพิวเตอร์
การเขียนเป็นการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารของมนุษย์ในเชิงแสดงออก โดยที่ใช้ตัวอักษรแทนคำพูด เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบ และเกิดการตอบสนอง ตามที่ผู้เขียนต้องการ การเขียนจึงเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์อยู่ในตัวเอง การเขียนเป็นศิลปะที่ต้องประกอบด้วยความประณีต ภาษาที่งดงาม สามารถสื่อสารได้ทั้งความรู้ ความคิด อารมณ์ และความปรารถนาให้ได้ ซึ่งการใช้ภาษาให้งามนั้น นับเป็นศิลปะชั้นสูงอย่างหนึ่งของมนุษย์ ส่วนที่กล่าวว่าการเขียน เป็นศาสตร์ก็เพราะการเขียน ทุกชนิด ต้องประกอบด้วยความรู้ หลักการวิธีการและทฤษฎีต่าง ๆ การเขียนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในโลกของการสื่อสารปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญของการเขียนไว้ดังนี้
- การเขียนทำให้เกิดความรู้ ความคิด เกิดความเข้าใจกัน
- การเขียนทำให้เกิดอาชีพ และการพัฒนาอาชีพ
- การเขียนทำให้ทราบความต้องการของบุคคลและสังคม
- การเขียนเป็นสื่อทำให้เกิดนันทนาการ
- การเขียนทำให้สังคมสงบสุข
- การเขียนเป็นเครื่องมือแสดงภูมิปัญญาของมนุษย์
- การเขียนหากยึดเป็นอาชีพ ก็เป็นอาชีพที่ได้รับความยกย่องมากอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
ฉะนั้น การเขียนเป็นวิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง ที่มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อเท็จจริง ความคิด จินตนาการ ความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนการเขียนจะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับ ความสามารถของผู้เขียน และการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเป็นสำคัญ