การทำงานทุกอย่าง จะต้องมีหลักฐานเก็บไว้... รุ่นพี่ท่านหนึ่งบอกไว้ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยจำ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ช่วงที่ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นนิติกร ที่สำนักงานคดีศาลสูง แต่ละวันจะมีสำนวนคดีพิจารณาชั้นอุทธรณ์/ฎีกา จำนวนมาก เข้ามาในแต่ละวัน
นิติกร ก็มีหน้าที่ตรวจสอบสำนวคดีแต่ละคดีว่าจะครบวันเวลาอุทธรณ์/ฎีกา วันใด จะต้องบันทึกไว้หน้าสำนวน และ บัญชีนัดทำการ(บ.๒) เพื่อกันลืม ถือว่าเป็นจุดตายของการปฏิบัติหน้าที่นิติกรโดยเฉพาะ เพราะหน้าที่ของพวกเรา ขาข้างหนึ่งอยู่นอกคุก แต่อีกข้างหนึ่งแหย่เข้าไปในคุกแล้ว หากคดีที่ขาดอุทธรณ์/ฎีกา เป็นคดียาเสพติดมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นคดีนโยบายแล้วละก้อ ชีวิตความเป็นข้าราชการคงต้องพัง ขาข้างหนึ่งที่อยู่นอกคุก มีสิทธิย้ายขาทั้งสองข้างเข้าไปอยู่ในคุกเช่นกัน
มีคดีหนึ่งใกล้จะครบอุทธรณ์ในอีก ๑ วัน ผู้เขียนได้โทรศัพท์ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าว ให้ยื่นคำร้องขอขยายอุทธณ์ออกไปอีก ๑๕ วัน เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างพิจารณา และ สำนวนขาดเอกสารสำคัญ หลังโทร.เสร็จก็ไม่ได้ทำบันทึกเอกสารติดไว้ในสำนวนคดี และมีหนังสือแจ้งเป็นทางการ
ต่อมาปรากฎว่าคดีดังกล่าว ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ ทำให้คดีขาดอุทธรณ์ ผู้บังคับบัญชาต้องให้รายงานข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดชอบว่าใครผิด คดีขาดอุทธรณ์เกิดจากจุดใด หากผู้เขียนได้ทำเกสารทุกอย่างไว้เป็นหลักฐานและเป็นทางการ ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่เกิด กว่าจะเอาตัวเองรอด ก็เกือบไปเช่นกัน
หลักฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการตรวจสอบการทำงาน และการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันและความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเราอีกด้วย และ ไม่ต้องมาถามว่า...พยานและหลักฐานอยู่ไหน ?...!!!