ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์
ทรงช่วยคนไทย ห่างไกลมะเร็งลําไส้ใหญ่
โดยทรงรับ "โครงการการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" ไว้เป็นโครงการหนึ่งในการบำเพ็ญพระกุศล เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย...
ในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม 2552 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรับ "โครงการการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" ไว้เป็นโครงการหนึ่งในการบำเพ็ญพระกุศล เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานศูนย์วิจัยและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานในการแถลงข่าวที่โรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเร็วๆนี้
ที่มาของโครงการนี้ นพ.จรัสกล่าวว่า เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯทรงตระหนักถึงปัญหาความทุกข์ทรมานที่เกิดจากโรคมะเร็ง จึงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ขึ้น และในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 ก.ค.ในปีนี้ จึงทรงบำเพ็ญพระกุศลให้บริการช่วยเหลือคนที่ได้รับความทุกข์ใจจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยจัดโครงการ "การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" โดยโครงการพระราชทานนี้จะทำให้คนไทยมีความตระหนักถึงโรคมะเร็งว่า เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ และหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็มีโอกาสหายได้ พร้อมทั้งให้คนไทยเปลี่ยนความคิดจากกลัวหา กลัวเป็น มาเป็นการตรวจหาเพื่อป้องกัน
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลนี้เป็นส่วนขยายมาจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่ให้บริการด้านการแพทย์ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เพื่อช่วยเหลือผู้เป็นมะเร็งจากความทุกข์ทรมานและยกระดับการดูแลรักษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยโรงพยาบาลจะเป็นศูนย์ ชำนาญการเฉพาะด้านมะเร็งที่ทันสมัย มีเครื่องมือต่างๆพร้อมพรั่ง รวมถึงเครื่องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
สำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น นายแพทย์ณวรา ดุสิตานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์มะเร็ง ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก กล่าวว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในผู้ชายและเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิง โดยช่วงอายุที่เกิดคือ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงผนังลำไส้มาเป็นมะเร็งใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น การมาตรวจคัดกรองเพื่อสามารถพบผู้ป่วยที่เป็นได้ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่ยังไม่แสดงอาการ นับเป็นการป้องกันและดูแลรักษาที่ดีกว่าปล่อยให้เกิดอาการ ซึ่งแสดงว่าเป็นระยะ 2-3 แล้ว
คุณหมอณวรากล่าวอีกว่า โครงการ "การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" นี้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 50-65 ปี โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มที่มีอาการเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงปกติต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และต้องไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มาก่อน ตลอดจนไม่มีโรคประจำตัวที่ไม่เหมาะสมแก่การได้ยาระงับความรู้สึก หรือการส่องกล้องตรวจ ได้แก่ โรคหัวใจ, โรคทางเดินระบบหายใจ, โรคไต หรือโรคอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควรว่าอาจไม่ปลอดภัย
นอกจากนี้ผู้ร่วมโครงการจะได้รับการทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การตรวจร่างกาย การตรวจหาเลือดที่ปนมาในอุจจาระ การนำอุจจาระไปสกัด DNA การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด การทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อ เตรียมส่องกล้องและได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โครงการนี้เริ่มต้นแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 โดยรับจำนวน 1,500 คน ผู้สนใจสอบถามและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ 0-2576-6008 ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.
ขอบคุณ ไทยรัฐออนไลน์