ชื่อเรื่อง รายงานการพัฒนาทักษะการสื่อความหมายจากการฟังของเด็กปฐมวัย
โดยใช้ชุดหนังสือสำหรับเด็ก
ผู้รายงาน นางสาวฝันสุรีย์ จิตชัยจรัสศรี
กรม/ส่วนราชการ โรงเรียนวัดบันไดม้า อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานคราชสีมา เขต 4 ปีที่พิมพ์ 2552
บทคัดย่อ
การพัฒนาชุดหนังสือสำหรับที่มีลักษณะเป็นคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการสื่อความหมายจากการฟังของเด็กปฐมวัย เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากอ่าน อยากทำกิจกรรมและยังเป็นสื่อที่สามารถช่วยส่งเสริมต่อพัฒนาด้านการใช้ภาษาจากการฟังคำคล้องจองที่ไพเราะ ทำให้เด็กฟังแล้วสามารถพูดตามได้ง่ายและจดจำเรื่องราวได้ดี การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของกิจกรรมเสริมประสบการณ์โดยใช้ชุดหนังสือสำหรับเด็กที่มีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ 80/80 และเปรียบเทียบความสามารถทางภาษาด้านการสื่อความหมายจากการฟังระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มเป้าหมายได้แก่ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2โรงเรียนวัดบันไดม้า อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ จำนวน 45 แผน ชุดหนังสือสำหรับเด็ก จำนวน 9 เล่มใช้เวลาสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 20 นาที รวม 9 สัปดาห์ ระหว่างเวลา 10.00-10.20 คำถามท้ายเรื่อง ฉบับละ 5 ข้อ รวม 9 ฉบับ แบบสังเกตพฤติกรรมการสื่อความหมายจากการฟัง แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียน ที่มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94,0.88 ตามลำดับและแบบทดสอบความสามารถทางภาษาด้านการสื่อความหมายจากการฟัง จำนวน 1 ฉบับ แบ่งเป็น 2 ตอน มีความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบนอนพาราเมตริก แบบ Wilcoxon Sigend Rank Test
ผลการศึกษาพบว่า
1. การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อความหมายจากการฟัง โดยใช้ชุดหนังสือสำหรับเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.07/93.89 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้80/80
2.เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีคะแนนความสามารถทางภาษาด้านการสื่อความหมาย จากการฟังโดยใช้ชุดหนังสือสำหรับเด็ก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01
โดยสรุปกิจกรรมเสริมประสบการณ์โดยใช้ชุดหนังสือสำหรับเด็ก เป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งผู้รายงานจัดกิจกรรมตามลำดับขั้นตอนจากง่ายไปหายาก ตั้งแต่การกระตุ้นความสนใจ การฟังและพูดคำคล้องจองการแสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง การวาดภาพและบรรยายภาพ ตลอดจนการสรุปความจำ สะท้อนความคิด ส่งผลทำให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทางภาษาด้านการสื่อความหมายจากการฟังเพิ่มขึ้นเด็กมีความกระตือรือร้น อยากเรียน สนุกสนานและมีความสุขในการปฏิบัติกิจกรรม ดังนั้นจึงสมควร สนับสนุนให้ครูผู้สอนระดับปฐมวัยนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้สอนกับเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอื่นได้