ประวัติพุ่มพวง ดวงจันทร์
พุ่มพวง ดวง จันทร์ เป็นชื่อการแสดงที่ครูเพลงลูกทุ่ง มนต์ เมืองเหนือตั้งให้ ชื่อจริงของเธอคือ รำพึง จิตรหาญ ชื่อเล่นว่าผึ้ง เกิดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๐๔ ที่บ้านดอนตำลึง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายสำราญ นางเล็ก จิตรหาญ ครอบครัวนี้มีบุตรทั้งสิ้น ๑๒ คน พุ่มพวง หรือ รำพึงเป็นบุตรคนที่ ๕
ครอบ ครัวของพุ่มพวง ฐานะยากจน มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างตัดอ้อยเป็นรายได้จุนเจือ เมื่อครอบครัวมีบุตรหลายคน รายได้ก็น้อย ทำให้เด็กหญิงรำพึงต้องออกจากโรงเรียนบ้านดอนตำลึง ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๑๓ เธอต้องไปช่วยครอบครัวหารายได้เลี้ยงตัวเลี้ยงพี่เลี้ยงน้อง เป็นผลให้เธออ่านหนังสือไม่ค่อยออก
ใน ความโชคร้ายของชะตาชีวิต เธอยังมีความโชคดีที่เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการร้องเพลง เมื่ออ่านหนังสือไม่ออกก็ต้องอาศัยการจำ และเธอก็จำได้ดี(ถ้าได้เรียนต่อคงเก่งมาก) เธอจึงหัดร้องเพลง และเริ่มเข้าประกวดในงานต่างๆตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จในการประกวดใกล้บ้าน เธอก็ออกล่ารางวัล ไปทั่วจนชนะการประกวด ตั้งแต่อำเภอศรีประจันต์ บางปลาม้า แล้วข้ามจังหวัดไปถึงอำเภอเสนา ผักไห่ มหาราช วิเศษชัยชาญ บ้านแพรก หนองโดน พระพุทธบาท สระบุรี จนหาคู่แข่งไม่ได้ จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับ ดวง อนุชา แต่ยังไม่ทันได้เป็นนักร้องอาชีพก็ต้องเลิกทำงานและเดินทางกลับบ้านอำเภอสอง พี่น้อง
พ. ศ.๒๕๑๘ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องลูกทุ่งราชาเพลงแหล่ผู้โด่งดัง นำวงดนตรีมาแสดงที่วัดทับกระดาน น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อยได้มีโอกาสขึ้นร้องเพลงแสดงความสามารถกับวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เห็นความสามารถ เกิดความเมตตา จึงรับเป็นบุตรบุญธรรมและพาไปอยู่กรุงเทพฯ รำพึง จิตรหาญ ได้เริ่มงานศิลปินด้วยการเป็นหางเครื่องและบางครั้งวันไหนนักร้องขาดก็ได้ เป็นนักร้องแก้ขัด จนกระทั่งได้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกที่ห้องอัดเสียงกมลในเพลง “แก้วรอพี่”ซึ่งเป็นผลงานของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่แต่งแก้กับเพลง “แก้วจ๋า”ของ คมเพชร แก้วเมืองกาญจน์ และใช้ชื่อในการการร้องเพลงนี้ว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ”
ชีวิต รักของ น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เกิดขึ้น ในวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ เมื่อเธอเริ่มสนิทสนมกับ ธีระพล แสนสุข นักดนตรีและนักแต่งเพลงในวง และในที่สุดเธอก็ตกลงใช้ชีวิตคู่กับ ธีระพล แสนสุข ทำให้ต้องแยกออกจากวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ มาเริ่มงานกับศรเพชร ศรสุพรรณนักร้องเสียงเด็ดชาวสุพรรณอีกคนหนึ่งที่กำลังมีชื่อเสียง น้ำผึ้ง ต้องทำงานเป็นทั้งหางเครื่องและนักร้อง ในวงศรเพชร
ชื่อ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ถือกำเนิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ โดยครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง มนต์ เมืองเหนือ รับเป็นลูกศิษย์ เปลี่ยนชื่อ น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มงานด้วยการร้องเพลงแก้กับ ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด จนเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นจึงได้ตั้งวงดนตรี “พุ่มพวง ดวงจันทร์” และได้เซ็นสัญญาเป็นนักร้องในบริษัทเสกสรรเทปของประจวบ จำปาทอง นับเป็นนักร้องหญิงคนแรกของบริษัท หลังจากที่มีนักร้องชายเสียงดีชาวสุพรรณคือเสรีย์ รุ่งสว่าง เซ็นสัญญามาก่อน
ปี พ.ศ.๒๕๒๑ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มประสบความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจคือการได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราช ทาน จากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จากเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” ผลงานของธีระพล แสนสุข นับเป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับชีวิตเด็กสาวท้องนาผู้อาภัพ แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็ไม่ย่อท้อมุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนร้องเพลง จนมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ
ผล งานเพลงลูกทุ่งของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ทยอยออกมาอย่างมากมาย ปีพ.ศ.๒๕๒๕ นับเป็นปีทองของพุ่มพวง ที่ส่งผลให้เธอได้รับทั้งชื่อเสียงและรายได้มหาศาลที่ตามมา เนื่องจากเธอได้ร่วมงานกับครูเพลงลพ บุรีรัตน์ ครูลพได้แต่งเพลงหลายเพลงที่กลายเป็นเพลงยอดนิยมมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เพลงสาวนาสั่งแฟน นัดพบหน้าอำเภอ อื้อฮือหล่อจัง กระแซะเข้ามาซิ ห่างหน่อยถอยนิด และบทเรียนราคาแพง เป็นต้น นอกจากเนื้อหาสาระและทำนองเพลงที่เร้าใจ สนุกสนานแล้ว เอกลักษณ์เฉพาะตัวในการร้องการเต้นที่กลมกลืนสอดรับกับเนื้อเพลง อารมณ์เพลง เธอจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความสามารถในการร้องเพลงยอดเยี่ยม และมอบฉายาราชินีลูกทุ่ง สืบต่อจาก ราชินีลูกทุ่งคนก่อน คือผ่องศรี วรนุช
ชีวิต คนเราเป็นไปตามกรรมที่ครอบงำโลก มีสุข มีทุกข์ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา แม้ชีวิตพุ่มพวง จะประสบความสำเร็จแต่ชีวิตรักและครอบครัวกลับประสบความล้มเหลว จนทำให้ต้องแยกทางกับคู่ชีวิตคนแรก ธีระพล แสนสุข
ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ พุ่มพวง ได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ โดยเป็นดารานำแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “สงครามเพลง” ของฉลองภักดีพิจิตร การแสดงภาพยนตร์ พุ่มพวงต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะมาก เพราะเธออ่านหนังสือไม่ออกต้องให้คนอ่านหนังสือให้ฟังแล้วท่องจำบทภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามเธอก็สามารถแสดงภาพยนตร์จนมีผลงานถึง ๑๖ เรื่อง และยังแสดงละครโทรทัศน์อีก ๑ เรื่องคือเรื่อง “น.ศ.ยี่ส่าย” ของไพจิตร ศุภวารี
การ เข้าสู่วงการนักแสดงภาพยนตร์ ละคร ทำให้เธอได้พบรักกับ ไกรสร แสงอนันต์ และได้จดทะเบียนสมรสกับไกรสร แสงอนันต์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีบุตรชาย ๑ คน คือ นายสันติภาพ ลีละเมฆินทร์ ที่เรารู้จักกันในนาม “น้องเพชร หรือ บ่อยบ๊อย”
ปัจจุบัน กำลังเป็นนักร้องที่เริ่มมีผลงานออกสู่วงการเพลง โดยนำผลงานของแม่มาขับร้องในลีลาที่ตนเองถนัด
วัน ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๒ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง เป็นรางวัลขับร้องเพลงดีเด่น เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค ๒ ในเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ผลงานประพันธ์ของครูลพ บุรีรัตน์
วัน ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๕ พุ่มพวง ป่วยเป็นโรคไต อาการอยู่ในขั้นรุนแรงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน จังหวัดจันทบุรี ต่อมาย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงมีอาการภูมิแพ้ตัวเอง หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “โรคลูปุส” อาการอยู่ในขั้นอันตรายลุกลามถึงไต วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ หลังจากออกจากโรงพยาบาลศิริราช พุ่มพวงเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก เพื่อ กราบพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.พุ่มพวงช็อกและหมดสติ ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลพุทธชินราช พุ่มพวงถึงแก่กรรมอย่างสงบในเวลา ๒๐.๔๕ น. ขณะมีอายุได้ ๓๑ ปี
วัน ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๕ ตั้งศพพุ่มพวงที่วัดมกุฎกษัตริยาราม มีแฟนเพลงจำนวนมากไปร่มแสดงความรักความอาลัย วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๕ เคลื่อนศพพุ่มพวงไปยังสถานที่พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นวัดที่พุ่มพวงทำบุญ และเคยร้องเพลงพิสูจน์ความสามารถจนได้มาเป็นนักร้องที่ยิ่งใหญ่
วัน ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๕ เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ครอบครัวจิตรหาญ และวงการเพลงลูกทุ่ง เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาพระราชทานทานเพลิงศพพุ่มพวง ดวงจันทร์ มีประชาชานมาทั่วประเทศมาร่วมงานกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ครูพิสูจน์ กับครูลักขณา ใจเที่ยงกุล ก็ได้ไปร่วมงานนี้ด้วย ผมจำได้ว่าผมขับรถจักรยานยนต์ไปกันเพราะไม่มีที่จอดรถ คนต้องเดินเข้าไปเป็น กิโลเมตรจากที่จอดรถ วันนั้นผมได้ประจักษ์แก่ตาถึงความยิ่งใหญ่ของพุ่มพวง ทุกคนมาเพราะรักเพราะศรัทธาในตัวพุ่มพวง รวมทั้งผมด้วย
แม้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะจากไปไป ๑๗ ปีแล้ว แต่แฟนเพลงจำนวนไม่น้อยยังคงรักและอาลัยในตัวเธออยู่เสมอ เห็นได้จากประชาชนจำนวนมากที่เดินทางไปวัดทับกระดาน เพื่อเคารพรูปหุ่นขี้ผึ้ง พุ่มพวงดวงจันทร์ เพื่อศึกษาเรื่องราวชีวิตของเธอ และเชื่อกันว่าเมื่อมีชีวิต พุ่มพวง ให้ความสุขแก่แฟนๆด้วยเสียงเพลง เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วพุ่มพวงก็ยังให้โชคลาภแก่แฟนๆอีกด้วย วัดทับกระดานจึงเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอสองพี่น้อง ตราบเท่าทุกวันนี้
ขอไว้อาลัยแด่ดวงวิญญาณ ของ “ผึ้ง” พุ่มพวง ดวงจันทร์ พระจันทร์ที่ยังคงส่องแสงไม่มีวันดับ ประทับใจแฟนเพลงตลอดกาลครับ
เรียบเรียงโดย :สุภัค มหาวรากร
จาก.. หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง
ปรับปรุงแก้ไขล่าสุด โดย..ครูหนูเหลี่ยง
๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๒
ดาวเรือง ดาวโรย . พุ่มพวง ดวงจันทร์
ขอบคุณบ้านมหาดอทคอมเอื้อเฟื้อเสียงเพลง
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ติ๋ม เปอร์โย : 09-17-2007 เมื่อ 05:47 AM.