หลักสูตรแกนกลางของประเทศ : เครื่องมือพัฒนาคุณภาพเด็กไทย
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ ฉบับล่าสุด หลังจากการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ได้มาจนถึงปัจจุบันนับระยะเวลา ๙ ปี
ทำไมต้องเปลี่ยนหลักสูตรอีกจาก หลักสูตรฯ ๔๔ เป็นหลักสูตรฯ ๕๑
หลักสูตรฯ ๔๔ เป็นอย่างไร
หลักสูตรฯ ๔๔ บกพร่องอย่างไรหรือ ถึงต้องเปลี่ยนอีก
มีคำตอบค่ะ..
จากการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก การจัดสาระการเรียนรู้ ระดับช่วงชั้นที่ ๑-๒ คือระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม พื้นฐานความเป็นมนุษย์ ทักษะพื้นฐาน การอ่าน เขียน การคิดคำนวณ การคิดวิเคราะห์ การติดต่อสื่อสาร ระดับช่วงชั้นที่ ๓ คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ได้แก่ สำรวจ ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ พัฒนาบุคลิกส่วนตน ทักษะพื้นฐาน ด้านการเรียนรู้ทักษะการดำเนินชีวิต ระดับช่วงชั้นที่ ๔ คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ ได้แก่ เพิ่มพูนความรู้ และทักษะเฉพาะด้าน ความรู้ ความสามารถ ทักษะในวิทยาการและเทคโนโลยี มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่เน้นการกระจายอำนาจทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและสถานศึกษามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของตนเอง
ผลจากการวิจัยและติดตามการใช้หลักสูตรฯ ๔๔ พบว่ามีทั้งจุดดี จุดด้อย ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมายหลายประการ ผู้เขียนขอสรุปนำเสนอบอกเล่าให้เพื่อนๆ ที่สนใจได้รับทราบ จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เรียกย่อ สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ,จากประสบการณ์การนิเทศการใช้หลักสูตรของสถานศึกษาที่มีโอกาสได้สัมผัสตลอดมา รวมทั้งการฟังการบรรยายสรุปของผู้รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางของประเทศ ได้แก่ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (เรียกย่อ สวก.) หน่วยงานใน สพฐ. พบดังนี้
จุดดี ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔
ช่วยส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการศึกษาได้จริง
ท้องถิ่นและสถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรจริง
..จากหลักสูตรแกนกลาง สู่ หลักสูตรสถานศึกษา
..จากชาติ สู่ ท้องถิ่น
มีแนวคิดและหลักการในการส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมอย่างชัดเจน
พัฒนาผู้เรียนได้เต็มตามศักยภาพ
มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
นักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงออก มีภาวะผู้นำ
นักเรียนมีความสนุกในการเรียน รักโรงเรียนมากขึ้น
ครูตื่นตัวในการพัฒนาตนเอง พัฒนาการเรียนการสอน
มีการใช้สื่อ แหล่งการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
จุดด้อยและประเด็นปัญหา ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔
ปัญหาการขาดความชัดเจนและความสับสนของผู้ปฏิบัติระดับสถานศึกษาในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่ ไม่มีการกำหนดสาระแกนกลาง สาระเพิ่มเติมและสาระท้องถิ่นไว้ชัดเจน
ปัญหาหลักสูตรแน่น ได้แก่ กำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้มาก
เอกสารประกอบหลักสูตรมีความสับสน ไม่ชัดเจน
การวัดประเมินผลการเรียนรู้ที่ไม่สะท้อนมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาคือ
ปัญหาการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา
ปัญหาการเทียบโอนผลการเรียน
ปัญหาคุณภาพผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ไม่มีความพร้อมในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
ครูขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เทคนิคการสอนแบบใหม่ๆ การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง
ครูมีภาระงานอื่นมาก ขาดแคลนครู สอนไม่ตรงวุฒิ
ขาดสื่อสำหรับการศึกษาค้นคว้า สื่อที่เน้นกระบวนการคิด ราคาแพง
ขาดงบประมาณ อุปกรณ์การเรียนรู้
ผลการประเมิน สมศ. พบว่า ผู้เรียนมีคุณภาพในระดับที่ควรปรับปรุงในเรื่องการมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร
ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (NT) ค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ
จากปัญหาที่พบดังกล่าวจึงทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลง
“การใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
ของประเทศไทย
จาก..
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔
..เป็น..
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
กำลังเริ่มใช้ในโรงเรียนนำร่อง ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ ค่ะ
แหล่งที่มาของข้อมูล
๑.เอกสารกรอบแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๒.สื่อประกอบการบรรยาย (power point) การอบรมวิทยากรแกนนำการใช้หลักสูตรแกนกลาง
การศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑