กุหลาบปากซัน - 12 ปี คนด่านเกวียน
ฟังเพลง กุหลาบปากซัน คนด่านเกวียน เพราะๆ ...ครับ
ฟังแต่เพลงไม่รู้ที่มาก็ยังไงๆอยู่นะครับ...เอาเนื้อหาสาระกล้อมแกล้มสักหน่อย..
แม้เพลง "กุหลาบปากซัน" จะโด่งดังไปทั่วถิ่นแคว้นแดนไทย และได้ถ่ายทอดผ่านนักร้องมากหน้าหลายตา ทั้งเพื่อชีวิตและลูกทุ่ง
แต่กว่าจะมีการระบุชื่อของ "สุลิวัต" หรือ "ส.สุลิวัต" ลงไปในฐานะผู้ประพันธ์เพลงที่ถูกต้องนั้น เพิ่งปรากฏชัดแจ้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีเหมารวมว่า "ศิลปินลาว"
ผู้ประพันธ์เพลง "กุหลาบปากซัน" จึงไม่ต่างจากคีตกวีนิรนามมาตลอด เฉกเช่นเพลงลาวดังอีกหลายเพลง
เพลง "กุหลาบปากซัน" ถูกนำมาถ่ายทอดมากที่สุด นับแต่ครั้งแรกที่ สีเผือก คนด่านเกวียน นำมาบันทึกเสียงใน ชุด "*หิน" (2529)
จากนั้นก็มีอีกหลายอัลบั้มหลายค่ายที่บนแผงเทปมีให้ติดตามตลอด ไม่ว่าจะเป็น ชุดสะแด่วแห้ว, รวมเพลง 12 ปีคนด่านเกวียน, รวมสุดยอดเพลงฮิต และเสียงเพรียกแห่งชีวิต 3 ที่รถไฟดนตรีวางขายเมื่อกันยายน 2540 หลังจากสุลิวัตสิ้นชีพไปแล้ว 3 ปี
โดยระบุว่า "คำร้อง-ทำนองเป็นของศิลปินประเทศลาว" เช่นเคย
และบางอัลบั้มไม่รู้ว่าผิดพลาดประการใดที่ใส่ชื่อผู้แต่งคำร้อง-ทำนองว่า "อิศรา อนันตทัศน์" ลงไปด้วย
หรืออย่างสองพี่น้องตระ*ล "หน่อสะหวัน" จากชุด "เพชรแท้" ของภูสมิง ยังใส่กุหลาบปากซันลงไปโดยระบุคำร้อง-ทำนองว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว"
หรือภูสมสนุก ออกอัลบั้ม "ถนนสายเวียงจันทน์" ในนามค่ายกระบือแอนด์โค เมื่อกลางปีที่แล้ว ก็ระบุคล้ายๆ กัน
""ดูแล้วมันแป้วหัวใจ แต่ใจหนึ่งก็ภูมิใจนะ ที่เพลงของเราดีขนาดที่คนเอาไปร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า""
น้ำเสียงที่ไม่รู้ว่าน่าดีใจหรือสลดใจกันแน่ ของ สุลิวัต ที่เคยให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการรายสัปดาห์เมื่อ 9 ปีก่อน ถ้าหากมีชีวิตถึงวันนี้ ไม่รู้จะกล่าวเช่นเดิมหรือไม่?
น่าเสียดายที่ท่านสุลิวัต มิทันได้อยู่ดูความฟูเฟื่องเรืองรุ่งของกุหลาบปากซัน ที่ท่านบรรจงปลูกด้วยถ้อยอักษราและดนตรี จนเบ่งบานมากว่าสี่สิบกว่าปี
""ผมเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ เย็นวันหนึ่งผมไปนั่งริมแม่น้ำซัน เห็นสาวๆ ลงอาบน้ำกัน ผมนึกสนุกก็เลยแต่งเพลงขึ้นมาเพลงหนึ่ง ให้ชื่อว่ากุหลาบปากซัน
""ต่อมามีงานประกวดผลงานเพลงที่กรุงเวียงจันทน์ ก็ส่งเข้าประกวด ปรากฏว่าได้อันดับ 3 แรกทีเดียวเพลงนี้ไม่ได้อัดเสียง ก็ได้แต่เอาไปร้องตามงานต่างๆ สันติ พิมสุวัน เป็นนักร้องคนแรกที่ร้องเพลงกุหลาบปากซัน ร้องมากๆ เข้าคนก็จำได้""
นั่นเป็นที่มาของกุหลาบปากซันอันลือลั่น ที่หนุ่มชาวคันทะบุลีแต่งไว้เมื่อปี 2502 ด้วยวัยเพียง 24 ปี ในยามที่แวะไปพักกับพี่ชายที่เป็นตำรวจอยู่ที่ปากซัน
ในปีนั้น ท่านจำปา ลัดตะนะสะหวัน เจ้าของนามปากกา "สุลิวัต" คือข้าราชการหนุ่มที่เพิ่งเข้าทำงาน หลังจากเรียนจบด้านช่างสำรวจจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพไปหมาดๆ
เรื่องเรียนหนังสือนั้น ท้าวจำปาเคยข้ามโขงมาเรียนหนังสือยังฝั่งเมืองมุกดาหาร ตั้งแต่อายุ 10 ขวบก็ว่าได้ กระทั่งอายุ 18 ปี จึงได้ทุนรัฐบาลลาวไปเรียนช่างสำรวจก่อสร้างสะพาน-ถนน ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ ในปี 2496
ตลอดชีวิตห้าปีที่เรียนอยู่ในกรุงเทพฯนั้น ตรอกจันทร์คือนิวาสถานอันคุ้นเคยที่เขาได้พักอยู่กับเพื่อนนักเรียนทุนด้วยกันเอง ด้วยความรักเสียงเพลงเป็นนิจ ช่วงเรียนปีสุดท้าย "วงดนตรีลาวร่วมมิตร" จึงเกิดขึ้น
กลับมารับราชการอยู่บ้านเกิดได้ปีสองปีสถานการณ์การเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้น เมื่อร้อยเอกกองแลก่อการรัฐประหารยึดนครเวียงจันทน์ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2503 จัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีเจ้าสุวรรณภูมา เป็นนายกรัฐมนตรี ณ เวลานั้น ชะตาชีวิตข้าราชการหนุ่มนักประพันธ์พลิกผันเข้าสู่กองทัพในอีกหนึ่งเดือนต่อมา
ทันทีที่นายพลพูมี หน่อสะหวัน และเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสัก ประกาศจัดตั้งคณะปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลเวียงจันทน์อยู่ที่สะหวันนะเขต หนุ่มวัยเบญจเพสจึงถูกเรียกเข้าประจำการในหน่วยจิตวิทยา กองทัพราชอาณาจักรกลุ่มนายพลพูมี โดยรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีกองทัพ
ตามวิสัยนักแต่งเพลง มีหรือที่จะปล่อยวิกฤติทางการเมืองเช่นนั้นผ่านเลยไปได้
"สองฝั่งของ" บทเพลงอันว่าด้วยความปรองดองของพี่น้องลาวไทยทั้งสองฝั่งจึงเกิดขึ้น หลายบทเพลงของจำปาจึงถูกนำไปถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติอยู่หลายปี
ในการบันทึกแผ่นเสียงเพลง "สองฝั่งของ" ครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เพลงนี้ขับร้องโดย "ทานตะวัน ขันทะวาน"
ต่อมาได้มีนักร้องไทยนำมาร้องบันทึกเสียงอีกหลายคน อาทิ พุ่มพวง ดวงจันทร์, ศันสนีย์ นาคพงศ์, อังคนางค์ คุณไชย เป็นต้น
กระทั่งปลายปี 2518 เมื่อรัฐบาลเจ้ามหาชีวิตสุวันนะภูมสิ้นสุดลง แผ่นดินลาวเข้าสู่ยุคสร้างสรรค์สังคมนิยม ท่านจำปาต้องไปสัมมนาอยู่นานถึงสามเดือนก่อนทางการจะปล่อยให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ
ในขณะที่ยุคนั้น ปัญญาชนของลาว "โตน" ไปสู่ประเทศที่สาม หากแต่จำปายังคงปักหลักอยู่บ้านเกิด มีเพียงแต่บทเพลงของเขาเท่านั้นที่โบยบินไปสู่ดินแดนแสนไกล