Advertisement
จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกแดดออกไม่ตรงตามฤดูกาล ภาวะโลกร้อนเข้าคุกคาม สถานการณ์ของโรคระบาดต่างๆ ที่เกิดจากแมลงเป็นพาหะนำโรค นับวันยิ่งทวีความรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็น โรคท้องร่วง ไทฟอยด์ บิด ตาแดง หรือเยื่อบุตาอักเสบที่มาจากแมลงวัน โรคระบบทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ โรคระบบลำไส้ ผิวหนังพุพอง หรือโรคภูมิแพ้ และหืดหอบที่มาจากแมลงสาบ หรือโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค จึงเป็นสิ่งที่ทุกบ้าน และทุกครอบครัวต้องระวัง และรู้จักป้องกันเพื่อไม่ให้แมลงเหล่านี้นำโรคมาสู่สมาชิกภายในบ้าน
|
อย่าให้ยุงกัด-อย่าให้ยุงเกิด
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุงเป็นพาหะนำโรคที่มาสู่ตัวคนได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ยุงจะเพิ่มจำนวนแบบมหาศาล เพราะเพาะพันธุ์ได้ง่าย เช่น ยุงลาย เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุณกุนยา (ไข้ญี่ปุ่นหรือไข้ปวดข้อ) ยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย และยุงรำคาญ หรือยุงคิวเล็กซ์ เป็นพาหะนำโรคฟิลาเรีย (โรคเท้าช้าง) และโรคไข้สมองอักเสบ
* ป้องกันไม่ให้ยุงกัด *
- นอนในมุ้ง หรือกรุหน้าต่าง ประตู ด้วยมุ้งลวด
- เวลาเปิด-ปิดประตูหรือหน้าต่าง ควรใช้ผ้าปัดมุ้งลวดก่อนเพื่อไล่ยุงที่อาจเกาะอยู่
- บ้านควรลมพัดผ่าน อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อบอ้าว เหม็นอับ
- ใช้ผลิตภัณฑ์จำกัดยุง ซึ่งมีหลายชนิดได้แก่ ยากันยุงชนิดขด ชนิดแผ่น และชนิดน้ำ และปัจจุบันมีเทียนหอมกันยุง สูตรสมุนไพรธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม เป็นต้น หรือยากันยุงชนิดใช้ทาผิว ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี Deet อยู่ระหว่าง 15-20 % และใช้ในเด็กไม่เกิน 10 % หรือใช้สารสกัดจากพืชจะปลอดภัยกว่า ไม่ควรทาต่อเนื่องทุกวัน และไม่ควรทาไว้ที่มือเด็ก เพราะอาจเผลอไปขยี้ตาหรือหยิบอาหารเข้าปากได้ จนเกิดอันตรายได้ ที่สำคัญถ้ามีอาการแพ้ ให้ไปพบแพทย์ทันที
ป้องกันไม่ให้ยุงเกิด
อย่างไรก็ดี ทุกคนในบ้านต้องช่วยกันจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงด้วย ซึ่งหลายครอบครัวอาจจะรู้กันบ้างแล้ว เริ่มจาก ปิดปากภาชนะที่มีน้ำให้มิดชิด อย่าปล่อยให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทั้งใน และนอกบ้าน เช่น จาน ชาม หรือยางรถยนต์เก่า ถ้าครอบครัวไหนชอบจัดดอกไม้ใส่แจกัน หรือไว้สำหรับไหว้พระ หรือเลี้ยงปลา ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำ และทำความสะอาดอยู่เสมอ ส่วนบริเวณรอบบ้านที่มีต้นไม้รกหรือหนาทึบเกินไป ควรทำให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นที่เกาะของยุง สำหรับจานรองตู้กับข้าว ควรใส่เกลือแกง 2 ช้อนชา หรือน้ำส้มสายชู 2 ช้อนชา หรืออาจใช้ขี้เถ้าแทนน้ำก็ได้ เพื่อป้องกันยุงลงไปวางไข่ นอกจากนี้อ่างเลี้ยงปลา ควรใส่ปลาหางนกยูง ปลากัด หรือปลาหัวตะกั่ว ลงไปด้วย เพื่อกินลูกน้ำยุงลายให้หมด
ข้อแนะนำที่อยากจะบอก ปัจจุบันภาครัฐได้จัดทีมงานสำหรับกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณท้องที่ชุมชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ หรือบริการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุง แต่บ้านส่วนใหญ่มักจะปิดบ้านเพื่อไม่ให้ควันกำจัดยุงเข้าไป เพราะเข้าใจว่า จะเกิดอันตราย จริงๆ แล้ว ต้องเปิดให้เจ้าหน้าที่ฉีดเข้าไปในบ้านด้วย เพื่อกำจัดยุงที่อยู่ด้านใน แต่ต้องเอาผ้าปิดจมูก และอยู่ในที่โปร่ง หายใจสะดวก และต้องเอาอาหารเข้าตู้กับข้าว หรือปิดให้มิดชิด
|
"แมลงสาบ" ตัวแสบรังควานลูกรัก
แมลงสาบเป็นแมลงดึกดำบรรพ์ ประมาณ 250 ล้านปีมาแล้ว มีวงจรชีวิต 3 ระยะคือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย มีอยู่ทั้งหมด 12 ชนิด มักชอบอยู่ในที่มืด และมีความชื้นสูง เป็นตัวการที่ปล่อยสารก่อภูมิแพ้ และหอบหืด เวลามันเดินผ่าน หรือลอยฟุ้งในอากาศ และทำให้เกิดโรคท้องเสียในเด็ก นอกจากนี้ในตัวแมลงสาบมีเชื้อโปรโตชัว เป็นสาเหตุของโรคบิด และทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ด้วย ถือเป็นตัวแสบตัวหนึ่งที่ทุกครอบครัวต้องพึงระวังอย่าให้เข้าใกล้ และสัมผัสตัวมันเด็ดขาด เพราะมันจะสร้างความรำคาญ และความเดือนร้อนไม่ใช่น้อยทั้งต่อตัวคุณ และลูกน้อยของคุณ
กำจัดแมลงสาบ ปราบไอ้ตัวแสบ
- เก็บอาหารทุกอย่างไว้ในตู้กับข้าว หรือในตู้เย็น หรือครอบฝาชีให้มิดชิด
- ปิดปากถุงขยะ หรือปิดปากถังขยะให้มิดชิด เพื่อกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงสาบ
- ถ้าบ้านไหนมีสัตว์เลี้ยง ต้องดูแลความสะอาดภายในบ้านเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นตัวสัตว์เลี้ยง หรือกรงที่อยู่ของสัตว์
- ทำความสะอาดบ้าน รวมถึงดูแลกล่องกระดาษใส่ของต่างๆ เช่น บริเวณตู้ หรือห้องเก็บของ เพื่อไม่ให้รกรุงรัง และอับชื้น จนเป็นแหล่เพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
- ใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง และต้องใช้อย่างถูกต้อง ทำตามคำแนะนำข้างขวดอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ดีควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลูกเล็ก เพราะบางที ลูกมีความรู้ อยากเห็น และอยากลองไปซะทุกอย่าง อาจเผลอไปจับเจ้าแมลงสาบที่เคลื่อนไหวมาเป็นของเล่น และของกินได้ เพราะเด็กยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนควรเล่น และไม่ควรเล่น พ่อแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย
|
แมลงวัน...ว่อนทุกวัน มีทุกบ้าน
แมลงวันมีอยู่หลายชนิด พบมากในฤดูร้อน มีวงจรชีวิตวางไข่ครั้งละ 100-600 ฟองตามกองขยะที่มีความชื้น จากนั้นจะฟักเป็นตัวหนอน ลอกคราบเป็นดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าหากลูกหลาน หรือสมาชิกในครอบครัวลองได้สัมผัส หรือเผลอไปกินอาหารที่เจ้าแมลงวันตอมอาหารเข้าไปแล้ว อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้หลายชนิด เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคบิด ไทฟอยด์ พาราไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และอาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดโรคจากเชื้อไวรัสที่มีแมลงวันเป็นพาหะได้อีกด้วย เช่น โรคโปลิโอ ตาแดง ริดสีดวงตา และเยื่อบุตาอักเสบ
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และบริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ส่วนวิธีการปราบเจ้าแมลงวันน่ารำคาญชนิดนี้ ไม่ยากครับ แนวทางก็เหมือนกับแมลงสาบ หรือแมลงชนิดอื่นๆ เพราะพวกนี้มันชอบสิ่งสกปรก ดังนั้นต้องรักษาความสะอาดบ้านอยู่เสมอ ไม่เป็นที่หมักหมมของเศษขยะ หรือเศษอาหาร เก็บอาหารเข้าตู้ และเก็บไว้ให้มิดชิด รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง และต้องใช้อย่างถูกต้อง ทำตามคำแนะนำข้างขวดอย่างเคร่งครัด
นอกจากแมลงร้ายที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ มาสู่คนแล้ว ยังมีแมลงอีกจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความรำคาญ และทำลายทรัพย์สินภายในบ้านไม่ใช่น้อย ได้แก่ มด ปลวก และแมลงต่างๆ เช่น เห็บ และหมัด เป็นต้น
ฉะนั้น "บ้าน" คือ วิมานของเรา ทุกคนใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากที่สุด เพราะรู้สึกว่าปลอดภัย แต่บางครั้งอาจมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นตัวสร้างโรค และความน่ารำคาญมาสู่ลูก และสมาชิกภายในบ้าน ทางที่ดีขอให้ทุกสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 2-3 วัน ควรร่วมใจกันทำความสะอาดบ้านด้วย 6 ขั้นตอนปลอดยุง-แมลงง่ายๆ ดังนี้
1.นอนในมุ้ง ซ่อมแซมบ้าน ป้องกันยุง 2. กำจัดแหล่งน้ำขัง กันยุงเกิด 3. ถ่ายน้ำ-ใส่ทรายกันยุงไข่ 4. หมดสิ้นเศษอาหารภายในบ้าน 5. ปิดปากถุง กันแมลงเข้าไปกิน 6. ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธี เพียงแค่นี้บ้านที่คุณอยู่ ก็จะปลอดภัยจากแมลง และโรคร้ายต่างๆ แน่นอนครับ
|
แหล่งที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Advertisement
เปิดอ่าน 16,955 ครั้ง เปิดอ่าน 45,784 ครั้ง เปิดอ่าน 21,914 ครั้ง เปิดอ่าน 14,095 ครั้ง เปิดอ่าน 13,648 ครั้ง เปิดอ่าน 17,063 ครั้ง เปิดอ่าน 10,172 ครั้ง เปิดอ่าน 12,287 ครั้ง เปิดอ่าน 12,161 ครั้ง เปิดอ่าน 13,681 ครั้ง เปิดอ่าน 11,215 ครั้ง เปิดอ่าน 11,968 ครั้ง เปิดอ่าน 16,233 ครั้ง เปิดอ่าน 13,429 ครั้ง เปิดอ่าน 20,333 ครั้ง เปิดอ่าน 12,784 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 16,306 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 485 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,532 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,180 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,000 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,686 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,182 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,608 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,137 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,254 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,192 ครั้ง |
เปิดอ่าน 46,739 ครั้ง |
|
|