Advertisement
❝ ,,,,,,,,ครู.....ในฝัน.........,,,,,ครูในอุดมคติ........ ❞
เรียงความ
เรื่องครูในอุดมคติ
หากเราจะนึกถึงใครคนหนึ่งที่นอกจากคุณพ่อ และคุณแม่ของเรา ใครคนหนึ่งที่เขาคอยดูแลเรา คอยอบรม และมอบวิชาความรู้ให้กับเรา ใครคนหนึ่งที่ ยอมเหนื่อย เพื่อเราโดยที่เขา ไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ใครคนนั้นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ ครู ” หลายคนได้ให้คำนิยามมากมายที่เกี่ยวกับคำว่า ครู บางคนเปรียบครูเป็นเหมือนกับแสงเทียนที่คอยส่องแสงสว่างไปยังเส้นทางที่ดีบางคนอาจจะเปรียบครูเป็นเหมือนกับเรือลำหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางข้างหน้า ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันแต่ละคะนึงย่อมที่จะมีความต้องการครูในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ข้าพเจ้าเองก็มีความคิดและความคาดหวังที่อยากจะศึกษากับครูในอุดมคติของข้าพเจ้า เช่นเดียวกัน ซึ่งครูในอุดมคติของข้าพเจ้าจะต้องเป็นครูที่มี จิตใจโอบอ้อมอารี สามารถ ให้ความรู้ กับนักเรียนนักศึกษา ได้อย่างเต็มที่ ดูแลเอาใจใส่นักศึกษาและคอยให้คำปรึกษาเวลานักศึกษามีปัญหาและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ สามารถสื่อสารกับนักเรียน นักศึกษาในขณะที่ทำการสอนได้อย่างเข้าใจ มีการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการสอน อยู่เสมอ เปิดโอกาส ให้นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาส แสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นเหล่านั้นมาทำการ ปรับปรุงแก้ไขการสอนของตนเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับครูในอุดมคติของข้าพเจ้าคือ ต้องเป็น ครูที่มีคุณธรรม จริยธรรม และ มีหัวใจของการเป็นครู อย่างเต็มเปี่ยม เพราะสิ่งนี้จะเป็นหัวใจสำคัญให้แสงเทียน หรือ เรือลำนี้ สามารถ นำพา และช่วย ขัดเกลา นักเรียนนักศึกษา ไปสู่จุดหมายปลายทาง และพบกับความสำเร็จของชีวิตพร้อมที่จะเป็น บุคลากรที่ดีของชาติ ต่อไป
แม้ว่าครูในอุดมคติของข้าพเจ้าจะมีคุณสมบัติมากมาย แต่ข้างในลึก ๆ แล้วข้าพเจ้าก็หวังเพียงว่าครูทุกคนคงจะเป็นครูที่พร้อมที่จะมอบวิชาความรู้ให้กับตัวข้าพเจ้าและนักศึกษาคนอื่นอย่างเต็มใจ สร้างความประทับใจ ให้กับตัวนักศึกษาได้ มิใช่ทำให้ข้าพเจ้าและนักศึกษาคนอื่นมองครูเป็น แค่เพียง เรือจ้างลำหนึ่ง หรือ เป็นแค่ เปลวเทียนข้างทาง ที่ทำหน้าที่พาเราข้าม ไปสู่จุดหมายแล้วก็ลาจากกันไป โดยที่ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่น่าจดจำและประทับใจติดตัวไปเลย เมื่อตัวข้าพเจ้าต้องเดินจากครูไป
นายวรวิทย์ แวอุมา สาขาการแพทย์แผนไทย
รางวัลชนะเลิศการประกวดเรียงความ เรื่อง ครูในอุดมคติ
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข กาญจนาภิเษก
|
รายละเอียด
|
สัมภาษณ์พิเศษ : อาจารย์ไพรรุ่ง งามสมพรพงศ์ ครูพันธุ์ใหม่ ใจเกินร้อย
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ : ขวัญชนก
เอื้อเฟื้อรูปถ่าย : อ.ไพรรุ่ง งามสมพรพงศ์
หลายคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ คงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยเฉพาะผู้ที่มุ่งหวังจะเดินบนเส้นทางของการเป็นแพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่บางคนอาจถึงกับต้องเบนเข็มไปเรียนสายวิชาอื่นเลยทีเดียว เพราะขยาดที่ต้องเรียนวิชา “ฟิสิกส์” หนึ่งในวิชาที่หินสุด ๆ สำหรับใครหลายคน!
แต่ตอนนี้วิชาฟิสิกส์ จะไม่เป็นวิชาที่ยากและน่าเบื่อต่อไปอีกแล้วค่ะ เพราะอาจารย์ไพรรุ่ง งามสมพรพงศ์ หัวหน้ากลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 4 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ อดีตเจ้าของรางวัลครูดีเด่น จากครุสภาปี 2549 ได้หยิบจับของใกล้ตัวในท้องถิ่นมาใช้เป็นเทคนิคการสอนวิชาฟิสิกส์ ทำให้เด็ก ๆ สนุก และไม่รู้สึกเบื่อกับการเรียนวิชานี้อีกต่อไป
ครูพันธุ์ใหม่...ใจเกินร้อย ท่านนี้นอกจากจะเป็นแบบอย่างของการอุทิศตนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนแล้ว ท่านยังเป็นอีกผู้หนึ่งที่มุ่งหวังว่ากระบวนการวิจัยจะสามารถเชื่อมโยงและนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพของครูไทยอีกทางหนึ่งด้วย
|
|
• อาจารย์คิดว่าสังคมไทยมองเห็นความสำคัญของครูในระดับใดคะ
สังคมไทยให้ความสำคัญกับ \"ครู\" มาช้านาน และยกย่อง ครู เปรียบเสมือนเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ที่จะเป็นแบบอย่างและอบรมเด็กให้มีความรู้ คู่ คุณธรรม ในความรู้สึกของคนไทยนั้น ครู ไม่ใช่ผู้มีอาชีพบอกความรู้ แต่คือผู้ที่สอนให้เด็กได้ค้นพบความรู้ควบคู่ไปกับประสบการณ์ชีวิต ในบางครั้งต้องแสดงบทบาทเป็นเสมือนนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาแก่ลูกศิษย์เมื่อเขาเกิดปัญหาเพื่อให้เขาได้ค้นพบทางออกของปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ จะได้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข บางครั้งครูยังเป็นทั้ง หมอ พยาบาล ยามเมื่อนักเรียนเจ็บป่วย ครู จึงเป็นผู้มีพระคุณในความนึกคิดของคนไทยมาแต่โบราณ ให้ความเคารพนับถือแสดงออกด้วยการกราบไหว้บูชา เช่น พิธีไหว้ครู ให้เกียรติครูยกย่องเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญ เสียสละ อดทน
แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะมีข่าวที่กระทบต่อวงการครูบ้าง แต่ก็เป็นเพียงน้อยนิดที่เทียบไม่ได้เลยกับความตั้งใจ ความจริงใจของครูอีกหลายแสนคนที่ทุ่มเท ปฏิบัติหน้าที่เพื่อมุ่งหวังให้ลูกศิษย์ของตนประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดี อาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่มีเวลาเลิกงาน ต้องเป็นครูตลอด 24 ชั่วโมง มีครูอีกหลายหมื่นคนที่อุทิศตัวเองเสี่ยงชีวิตที่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย เพื่อเป็นเสมือนดวงประทีปส่องสว่างเส้นทางสู่ความรู้ให้กับเด็กๆ มีครูจำนวนไม่น้อยที่ท่านต้องสละชีวิตให้กับอุดมการณ์ของความเป็นครู แม้ว่าอาชีพครู ในค่านิยมของเด็กๆ โดยเฉพาะสังคมในเมืองใหญ่ที่ยังยึดวัตถุนิยม ใช้ตัวเลขทางการเงินเป็นตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของชีวิต
|
|
อาชีพครูถูกมองว่าเป็นอาชีพที่รายได้น้อย จึงเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ สำหรับนักเรียนที่เรียนเก่งซึ่งจะเลือกเรียนในอาชีพที่น่าจะให้รายได้สูงอย่างแพทย์ วิศวกร บริหารธุรกิจ สังคมไทยจึงน่าจะปลูกฝังในเรื่องของอาชีพแก่เยาวชนเสียใหม่ ให้เห็นว่า ครู เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความสามารถ ต้องรอบรู้ เก่งทั้งวิชาการและมีคุณธรรม จรรยาบรรณสูง รวมทั้งควรจะยกระดับวิชาชีพครู เงินเดือนรวมถึงสวัสดิการ เพื่อเด็กเก่งจะได้เลือกเรียนครู เมื่อประเทศชาติมีครูที่เก่งทั้งวิชาการและคุณธรรม เยาวชนของชาติก็จะเก่ง ประเทศไทยก็เจริญ
|
|
• แล้วจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของอาจารย์ มีที่มาอย่างไรคะ
ผมรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 มักจะพบกับบรรยากาศเดิมๆ ของการเรียนของนักเรียน ที่มักจะมองว่า วิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากเน้นแต่การคำนวณ แก้ปัญหาโจทย์ มีสูตรคำนวณมากต้องท่องจำสูตรต่างๆให้ได้ เพื่อจะนำไปใช้ในการสอบให้ได้คะแนนดี หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น ขาดความเข้าใจ ไม่ได้สนใจว่าที่มาของสูตรมาได้อย่างไร หรือว่าความรู้จริง ๆ ในเรื่องที่เขากำลังเรียนอยู่ที่จะเอาไปใช้ในการสอบนั้น มันคืออะไรกันแน่ เด็กจะใช้การจำวิธีการที่ครูสอน ถ้าโจทย์มาแบบนี้ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เท่านั้นเอง ขาดการนำมาประยุกต์ ทีนี้ในการสอนบรรยากาศในห้องเรียนมันก็ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ประกาศใช้เพื่อให้มีการปฏิรูปการศึกษา ครูต้องปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็เลยคิดว่า เอ...จะทำอย่างไรดีให้นักเรียนสนใจมากขึ้น คือ เรียนด้วยตนเอง เรียนได้ และอยากที่จะถามโดยที่เราไม่ต้องบังคับให้เขาถามนะครับ เมื่อมานึกถึงสภาพของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็ก ม.ปลาย ก็ยังเป็นเด็ก ก็เลยเกิดแนวความคิดที่ว่า การเรียนรู้จากการเล่นน่าจะทำได้ ก็ได้ทดลองทำดู ก็คือ เริ่มจากการใช้ของเล่นในการเรียนการสอนในวิชาฟิสิกส์ เดิมทีผมจะใช้ของเล่นทั่ว ๆ ไปนะครับ เช่น หยิบจับมาปุ๊บ ผมก็มาศึกษาก่อนว่า เอ๊ะ! ของเล่นชิ้นนี้ ถ้าเอาไปเล่นจะเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในทฤษฎีฟิสิกส์ได้อย่างไร คือ เราต้องการให้เด็กเค้าฝึกกระบวนการคิดนะครับ คิดว่ามันเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แล้วเอามาใช้ในการเรียนให้เด็กได้เล่นกัน
|
|
แล้วก็พอดีว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งปี พ.ศ.2546 ผมได้มีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยเป็นครั้งแรกจากโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ครับ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาครู ด้วยกระบวนการวิจัยเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวผมเองก็มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเองจึงได้เข้าร่วมโครงการ ในปีนั้นได้นำเอาของเล่นพื้นบ้าน ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่ เช่น ลูกข่างโว้,ป๋องแป๋ง,นกหวีดชัก,นกหวีดดิน,ป๊อกแป๊ก,ถึ่มทึ้ม,จักจั่น,กบไม้,นกหวีดไม้ ฯลฯ มาศึกษาเชื่อมโยงกับทฤษฎีฟิสิกส์เรื่อง สมบัติและปรากฏการณ์ของคลื่นเสียง ก่อนที่จะอธิบายทฤษฎีต่าง ๆ นี้ให้เด็กฟัง เราก็เอาของเล่นต่าง ๆ เหล่านี้ให้นักเรียนได้ทดลองเล่นดู แล้วตั้งคำถาม จริง ๆ เราไม่ต้องตั้งคำถามก็ได้ เพราะเด็กเขาเล่นเสร็จเขาจะวิ่งมาถามเราเองว่า เอ๊ะ! ของเล่นนี้มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เสียงเกิดขึ้นได้อย่างไร มันดังได้อย่างไรครับ เราก็ให้เขาศึกษาไปก่อน นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กเขาถามคำถาม เพราะว่าเด็กสมัยนี้จะไม่ค่อยชอบถาม คำถามบางคำถามจากนักเรียน เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ สามารถนำไปต่อยอดศึกษา ค้นคว้า หรือทำเป็นโครงงานได้ บรรยากาศห้องเรียนก็มีชีวิตชีวาขึ้น นักเรียนสามารถนำไปศึกษาทดลอง ออกแบบการทดลองในสิ่งที่เขาอยากรู้ได้ เริ่มใช้กระบวนการวิจัยสู่การเรียนรู้ ผมเองก็เริ่มสนุกเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เมื่อจบโครงการในปี พ.ศ.2547 ก็เสนอโครงการใหม่ คือ การศึกษาหลักการทำงานของเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านของชาวล้านนาในอดีต ที่สัมพันธ์กับทฤษฎีฟิสิกส์เรื่องเครื่องกล ก็ได้รับทุนสนับสนุนต่อในปี พ.ศ.2548-2549
ต่อมาในปี พ.ศ.2550-2551 ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการชุดวิจัยถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ จากการที่ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการวิจัยในโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น ของ สกว. ทำให้พบว่า การเป็นครูผู้บอกความรู้ให้นักเรียนนั้นง่าย แต่การจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ ได้เรียนจากสถานการณ์จริงที่เป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับชีวิตจริง เรียนรู้ความจริงในตัวเองและความจริงในสิ่งแวดล้อมจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ท้าทาย ครูจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษาในหลักสูตร
|
|
การทำงานหนักของครูเทียบกับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการวิจัยก็คุ้มค่า โดยเฉพาะการที่ได้มาทำวิจัยในชุดโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นของ สกว. ทำให้เห็นมุมมองของวิทยาศาสตร์ในอีกมุมหนึ่งในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์ ภูมิรู้ ความเฉลียวฉลาดของคนในท้องถิ่น รวมทั้งความรู้ที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการพัฒนา ประยุกต์ เปลี่ยนแปลง ตามสภาพความเหมาะสมในแต่ละยุค จนทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนแฝงอยู่ในความรู้นั้นๆ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะมีลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเป็นความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ มีหลักการทางวิทยาศาสตร์แทรกอยู่เสมอ ซึ่งวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์และแสวงหากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ซึ่งสามารถนำไปอธิบายองค์ความรู้ สิ่งประดิษฐ์ หรือแม้แต่เครื่องมือต่างๆ ของชาวบ้าน ด้วยทฤษฎีหรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นความรู้สมัยใหม่ได้
โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น เป็นโครงการที่จุดประกายให้ครูผู้สอน ที่ต้องการจะพัฒนาตนเองในเรื่องการถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ โดยเอาความเป็นท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน มาศึกษาเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์อย่างมีระบบระเบียบ นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวในท้องถิ่นซึ่งมีคุณค่าแต่อาจจะมองผ่านไปในอดีต มาเรียนรู้ศึกษาด้วยกระบวนการวิจัย ทำให้ครูและนักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ครูเกิดการพัฒนาในเรื่องของกระบวนการคิดสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอน แม้เพียงส่วนหนึ่งของการเรียน นักเรียนก็ได้รับการพัฒนาด้วยเกิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับการปลูกฝังในเรื่อง เจตคติต่อวิชาวิทยาศาสตร์ รวมถึงตระหนัก และภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ควรจะสืบทอดต่อไป
|
|
• แล้วในส่วนของการประเมินผลนักเรียนที่อาจารย์ได้หันมาใช้วิธีการสอนแบบนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ
ในแนวคิดที่คิดไว้คือว่า การประเมินผลเราประเมินเพื่อการพัฒนาผู้เรียน เราไม่ได้ประเมินเพื่อตัดสิน เหมือนกับตัดสินชะตาชีวิตนักเรียน คือ การประเมินเราไม่ได้ประเมินเฉพาะสอบอย่างเดียว เราประเมินในเรื่องของการทำชิ้นงาน การทำโครงงาน การนำเสนอ ซึ่งนักเรียนสามารถที่จะปรับ สามารถที่จะแก้ไขได้ ถ้าเกิดว่าคะแนนหรืออะไรต่าง ๆ มันไม่ดี ก็สามารถที่จะปรับแก้ไขได้ด้วย ก็พบว่าเด็ก ๆ ก็มีผลการเรียนค่อนข้างดี
“เด็กไทยเรานี้จะเป็นลักษณะที่ว่า เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อสอบ ไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์เพื่ออยากรู้ มีส่วนน้อยที่อยากรู้ นี่ถ้าหากว่าในส่วนที่รัฐให้การสนับสนุนแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ อย่างสื่อ ICT มีประโยชน์มาก”
|
|
ส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความภาคภูมิใจ และการเรียนรู้ที่ได้รับการจากมีส่วนร่วมสร้างชุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กไทย
• ดาวเรือง สร้อยมะโน
อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยา ระดับชั้น ม.4 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ. เชียงใหม่
หลายคนอาจคิดว่า เป็นครูสอนชีววิทยา แต่มาเกี่ยวกับฟิสิกส์เครื่องกลได้อย่างไร ก็จะขอเล่าประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างชุดการเรียนรู้เรื่องการศึกษาหลักการทำงานของเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านของชาวล้านนาที่สัมพันธ์กับทฤษฎีเครื่องกลว่า ตามเนื้อวิชาที่สอนอาจจะไม่เกี่ยวข้อง แต่ในระดับชั้น ม.4 ที่ตนเองได้รับผิดชอบนั้น มีการเรียนในเรื่องของระบบอวัยวะของร่างกายและสุขภาพของร่างกาย เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีครูของเราได้ศึกษาเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ล้านนาที่สัมพันธ์กับทฤษฎีเครื่องกล ดิฉันจึงเกิดแนวคิดบูรณาการว่า ถ้าให้นักเรียนได้มีการศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านล้านนาที่เกี่ยวกับสุขภาพ น่าจะเกิดประโยชน์กับผู้เรียน และเป็นการให้นักเรียนได้รู้จักภูมิปัญญาท้องถิ่นตนเอง เมื่อมอบหมายงานและมีการติดตามงานแล้วพบว่า นักเรียนได้ความรู้ในเรื่องที่ตนเองไปค้นคว้ามา และมาเล่าให้ฟังว่าคุณตา คุณยายที่บ้าน เคยใช้เครื่องแบบนั้นแบบนี้ในการทำงาน หรือในการนวดให้หายปวด นักเรียนก็จะเล่าด้วยความสนุกสนาน และมีภาพกิจกรรมในครอบครัวที่คุณตาคุณยาย ใช้เครื่องมือให้ดู ซึ่งในส่วนตัวแล้วคิดว่าน่าดีใจที่ทำให้เกิดกิจกรรมดี ๆ ในครอบครัว และเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่ชนรุ่นหลังให้รู้จักสืบทอดต่อไป...ภูมิใจค่ะ
|
|
• จันทร์จิรา กาไชย
อาจารย์ประจำวิชาชีววิทยา และวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
ระดับชั้น ม. 5 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ. เชียงใหม่
จากการได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและสร้างชุดการเรียนรู้จากเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต โดยการให้นักเรียนสืบค้น เก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของเครื่องมือเครื่องใช้ในอดีตในด้านที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีววิทยา และด้านอื่นๆ พบว่าทำให้ทั้งนักเรียนและตัวครูเองได้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ความชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้บางชนิดเราก็เห็นและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน แต่พอทำเรื่องนี้ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา ความเชื่อของคนโบราณและได้ความรู้ในแง่ของวัฒนธรรมอีกมากมาย จึงถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุดการเรียนรู้นี้ เพราะทำให้ได้ประสบการณ์ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก และจุดประกายว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากทุกๆ ที่ และทุกๆสิ่งรอบตัวเรา
|
|
• ระบบการเรียนการสอนที่ผ่านมายังไม่ได้เน้นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์เท่าใดนัก อาจารย์เห็นอย่างไรคะที่ปัจจุบันสังคมกลับมาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ผมว่าต้องมองในมุมกลับด้วย ถ้าเราอยากให้เด็กสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้นควรปลูกฝังคุณสมบัตินักวิจัยให้กับเด็กด้วย ได้วิจัยเพื่อการเรียนรู้ เท่าที่ศึกษาดูพบว่าในเมืองไทยยังขาดนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ถ้าเทียบกับต่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เด็กไทยเรานี้จะเป็นลักษณะที่ว่า เรียนวิทยาศาสตร์เพื่อสอบ ไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์เพื่ออยากรู้ มีส่วนน้อยที่อยากรู้ นี่ถ้าหากว่าในส่วนที่รัฐให้การสนับสนุนแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ อย่างสื่อ ICT มีประโยชน์มาก ถ้าค้นคว้าเป็น ที่นี้ถ้าเรามีวิธีการที่จะสนับสนุนให้เด็กเขารู้จักที่จะค้นคว้า สนใจที่จะศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่เขาได้เห็น หรือที่เขาได้ศึกษาดูแล้วพบว่า มันน่าสนใจ แล้วเขาได้มีแหล่งค้นคว้า ที่สำคัญต้องมีแหล่งเรียนรู้ให้เขา ผมว่าประโยชน์ที่เกิดกับเด็กคือ เด็กเขาจะสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น แล้วประโยชน์ที่ตามมาในอนาคตก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้จะเห็นได้ว่า ในหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลให้การส่งเสริมมากขึ้น มากกว่าสมัยก่อนที่ผมเรียนวิทยาศาสตร์เยอะเลย ก็คือว่ามีการจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ มีการจัดส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เยอะแยะมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งคือว่าในเรื่องแหล่งการเรียนรู้ ควรประชาสัมพันธ์ให้เด็ก ๆ เข้าถึงแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ว่าจะสามารถค้นคว้าได้จากแหล่งไหน ผมว่าประเด็นนี้ยังอ่อนไปนิด เพราะการเสาะหาสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ เด็กจะต้องช่วยตัวเองและครูก็ต้องช่วยด้วย
|
|
ในยุคการปฏิรูปการศึกษา ครูจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เช่น เราอยากให้เด็กค้นคว้าเรื่องอะไร สิ่งแรกคือเราต้องศึกษาก่อน ต้องค้นคว้าก่อน อย่างการสอน ครูก็จะสอนในตำราเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้แล้ว จะต้องคิดว่า เออ...ถ้าเราสอนเรื่องนี้ เราจะหาอุปกรณ์หรือสื่อที่จะกระตุ้นความสนใจเด็กได้อย่างไร เรื่องอื่นที่ใกล้เคียงกันในชีวิตประจำวันนำมานำมายกตัวอย่างได้มีหรือไม่ ครูสมัยใหม่ต้องค้นคว้าอยู่เรื่อย ๆ นะครับ เพื่อเอาความรู้เรื่องนั้นมาคุยให้เด็ก ๆ ฟังได้ ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่จุดประกายคือ เรื่องรางวัลโนเบลต่าง ๆ ของสาขาวิทยาศาสตร์ ในแต่ละปี การค้นพบหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์ ถ้าถามเด็ก ๆ เด็กจะไม่ค่อยรู้จักคือ เขาจะไม่ค่อยสนใจ จะมีเด็กจำนวนน้อยมากที่ติดตาม ที่สนใจ คือการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้จะน้อยไปนิด ที่เราพบเห็นในเรื่องของการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ โดยมากจะเห็นแต่ข่าวปัญหาเด็กวัยรุ่น ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง แต่ ข่าวสร้างสรรค์ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กเขาตื่นตัวเห็นแบบอย่างที่ดี พาดหัวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เช่น เด็กไทยไปคว้ารางวัลความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ คนไทยเก่งสร้างชื่อเสียงระดับโลก หรือ เรื่องของการค้นพบ ประดิษฐ์ นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ปีนี้เขามีรางวัลโนเบลสาขาคือ....นี้ได้เรื่องนี้นะ หาอ่านยากมาก ต้องค้นคว้าในอินเทอร์เน็ต คือแทนที่ว่าสื่อมวลชนพอมีข่าวทางวิทยาศาสตร์ก็นำมาเผยแพร่ให้มากขึ้น ผมว่าก็เป็นจุดหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กสนใจมากขึ้นนะครับ
|
|
• แสดงว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จะเห็นผลได้เป็นรูปธรรมขึ้น เราต้องจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วย
ใช่ครับ เรื่องนั้นก็สำคัญมากเลยนะครับ สิ่งสำคัญคือ ครูผู้สอนด้วย ครูนี่ถ้าเราเข้าใจในเรื่องบทบาทของครู เราจะเห็นว่า ครูในยุคปัจจุบันที่เราจะได้ยินเสมอว่า จัดการเรียนการสอน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ฟังดูเหมือนว่าครูสมัยนี้สบาย เด็กอยากรู้อะไรก็ไปค้นเอาเอง มันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ การที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้อะไร เราต้องค้นคว้าก่อน ครูนี่เป็นอาชีพที่จะต้องยกย่องเลยนะ ผมเชื่อว่าครูไทยทำงานหนัก เพราะว่ามุ่งหวังในผลที่เกิดกับเด็กมากนะครับ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่เข้ามาสู่อาชีพครูนะครับ
|
|
• แรงผลักดันที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาศักยภาพของครูในความเห็นของอาจารย์คิดว่าควรมีองค์ประกอบที่ดีใดบ้างคะ
“โลกเรานี้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในทุกๆ ด้าน ก่อให้เกิดทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชากรโลก การจัดการศึกษาเพื่อให้ทันกระแส การเปลี่ยนแปลงของโลกจึงมีความสำคัญยิ่ง
ครู เป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในฐานะเป็นผู้ให้ความรู้ จึงควรพัฒนาตนให้เป็นผู้มีความรอบรู้ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนพัฒนาในสรรพวิทยาต่างๆ ขณะเดียวกัน การอบรมสั่งสอนเยาวชนในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ก็เป็นสิ่งสำคัญเสมอกัน จะละเลยเสียไม่ได้ นอกจากครู ผู้มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา ก็ควรจะต้องปรึกษาหารือร่วมกัน วางแผนการศึกษาที่เหมาะสม และส่งเสริมการฝึกอบรมครู ให้เป็นผู้มีความรอบรู้ทันสมัย ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน ก็จะสามารถสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับความมีคุณธรรม เป็นสังคมแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำรงอยู่ได้ในกระแสการเปลี่ยนแปลง ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของโลก”
|
|
ผมได้อัญเชิญ พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นกำลังใจแด่ครูทุกๆท่าน ครูดีในสังคมไทยยังมีอยู่อีกมากมาย ครูที่พร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลง ครูที่พร้อมจะพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ เพื่อให้การศึกษาของเยาวชนไทยเจริญก้าวหน้า ครูที่เสียสละ ทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และเวลา ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ควบคู่ไปกับคุณธรรม ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ความสามัคคีให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ครูที่มีจิตวิญญาณแบบนี้มีอยู่มาก แต่ครูอีกจำนวนไม่น้อยยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ด้วยยังขาดแคลนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ เนื่องจากอยู่ห่างไกล ขาดแคลนอุปกรณ์ในการสร้างสื่อการเรียนการสอน ปัญหาด้านความปลอดภัย เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร มีภาวะขาดแคลนอาหาร ครูให้ความสนใจเป็นห่วงลูกศิษย์ จนลืมนึกถึงการพัฒนาศักยภาพตนเอง นอกจากนี้ครูหลายคนประสบปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ รายได้น้อย มีหนี้สินมาก
ผมคิดว่าแรงผลักดันที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาศักยภาพของครู เพื่อไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษานั้น คือ
|
|
1. ปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติที่มีต่อวิชาชีพครูแก่เด็กและเยาวชน ให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของการประกอบวิชาชีพครู ที่จะเป็นผู้สร้างเยาวชนอนาคตของชาติ เมื่อเยาวชนเกิดความตระหนัก เด็กที่เรียนดี มีคุณธรรม จะได้ให้ความสนใจมาเรียนวิชาชีพครู เพื่อจะเป็นครูดี ครูเก่ง มาช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทย
2. ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพพิเศษ (ทั้งครูของรัฐและเอกชน) มีสวัสดิการที่ดี มีค่าครองชีพที่เหมาะสมอย่างพอเพียงในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน สามารถดำรงชีพและดูแลครอบครัวได้อย่างมีความสุข
3. เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนาศักยภาพตนเอง สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ให้สถาบันอุดมศึกษาในแต่ละภูมิภาคเป็นเสมือนพี่เลี้ยงครูในโรงเรียนที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการจัดการเรียนการสอนเป็นแหล่งค้นคว้า สืบค้น สำหรับครูและนักเรียนในชุมชน
4. ส่งเสริมให้ครูเป็นครูนักวิจัย ไม่ใช่วิจัยเพื่อสร้างผลงาน แต่วิจัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกในยุคปัจจุบัน หรือเมื่อพบปัญหาในการจัดการเรียนการสอน ก็วิจัยเพื่อหาทางแก้ไขของปัญหาดังกล่าว ครูนักวิจัยนั้นจะเป็นคนช่างสังเกต มีคำถามหรือข้อสมมุติฐานในใจเสมอ มีความต้องการพิสูจน์ หรือหาคำตอบให้กับคำถาม หรือข้อสมมุติฐานที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีขั้นตอน เป็นระบบ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการวิจัย ยังส่งผลไปถึงนักเรียนที่จะได้รับความรู้รวมถึงการแสวงหาความรู้โดยมีครูเป็นแม่แบบ
5. มีการสนับสนุนในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน มีอุปกรณ์ที่ครูจะสามารถสร้างสื่อการเรียนได้อย่างเพียงพอ รวมถึงแก้ไขปัญหาภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การเรียนให้กับเด็กและเยาวชน
และสิ่งสำคัญอีกประการคือ ความปลอดภัย โดยเฉพาะครูที่เสี่ยงภัยปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนที่ไม่สงบเรียบร้อย เมื่อครูได้รับการคุ้มครอง รู้สึกปลอดภัย การพัฒนาศักยภาพครูก็จะเกิดผลได้
การพัฒนาครูด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมครูให้เป็นครูนักวิจัย เสมือนเป็นการบำรุงหัวใจให้แข็งแรง การศึกษาไทยก็จะเจริญรุดหน้าได้ เยาวชนไทยก็จะได้ “เรียนรู้ มิใช่ จำความรู้”
|
|
• ที่ผ่านมาการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นตนเอง ยังต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงในด้านใดอีกบ้างคะ
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปใช้ศึกษาเรื่องราวในท้องถิ่นได้ดี เพราะมีความเป็นธรรมชาติ มีขั้นตอนกระบวนการไปสู่การเรียนรู้ การค้นพบในเรื่องที่ศึกษาได้เป็นอย่างดี คงจะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงในการดำเนินงานของผมเองมากกว่า ซึ่งระหว่างการทำงานวิจัยก็พบปัญหา ติดขัดในบางขั้นตอนของการดำเนินงานวิจัย ในโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นนั้นผมได้เลือกใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (processes of scientific inquiry) ซึ่งประกอบด้วย
|
|
• การสังเกตและการวัด
ในขั้นตอนนี้มีข้อค้นพบคือจะต้องออกแบบเครื่องมือวัดให้เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการจะวัด เช่น อุปกรณ์ในการเก็บข้อมูลจากการทดลอง,แบบสัมภาษณ์,แบบวัดเจตคติ,แบบบันทึกการสังเกต เป็นต้น
• การมองเห็นปัญหาและการหาวิธีที่ใช้แก้ปัญหา คือ การยอมรับและมองเห็นปัญหา การตั้งสมมุติฐาน การเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการทดสอบสมมุติฐาน และการออกแบบการทดลองที่เหมาะสมสำหรับทดสอบสมมุติฐาน
• การแปลความหมายของข้อมูลและการสร้างข้อสรุป ได้แก่ การจัดกระทำกับข้อมูล ,การนำเสนอข้อมูลในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร, การแปลความหมายของการสังเกตและข้อมูลที่ได้จากการทดลอง, การเพิ่มเติมความและการขยายความ, การตรวจสอบสมมุติฐานด้วยข้อมูลที่ได้จากการทดลอง และ การสร้างข้อสรุป กฎ หรือหลักการที่เหมาะสมอย่างมีเหตุผล ตามความสัมพันธ์ที่พบ
ในขั้นตอนนี้พบว่าเป็นปัญหาต่อเนื่องจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลเชิงสถิติมีน้อยไม่สามารถใช้โปรแกรมประมวลผลได้ การสร้างข้อสรุป จึงยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ในการทำวิจัยครั้งต่อไปจะต้องปรับปรุงพัฒนาในเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบมากขึ้น
• การสร้างการทดสอบและการปรับปรุงแบบจำลองเชิงทฤษฎี
ในขั้นตอนนี้คณะวิจัย มิได้มุ่งหวังที่จะค้นพบทฤษฎีใหม่แต่เป็นการนำทฤษฎีฟิสิกส์ ที่มีอยู่แล้วไปศึกษา อธิบาย เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การเกิดเสียงของของเล่นพื้นบ้าน, หลักการทำงานของเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน ที่สัมพันธ์กับทฤษฎีฟิสิกส์เรื่องเครื่องกล คณะวิจัยต้องออกแบบวิธีการศึกษา ทดลอง ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับทฤษฎี หรือหลักการในวิชาฟิสิกส์ ที่ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ และสามารถต่อยอดความรู้ มีจินตนาการ ซึ่งการออกแบบกิจกรรมดังกล่าวจะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมของคณะวิจัยและนักเรียน จึงใช้เวลาในขั้นตอนนี้ค่อนข้างมาก
|
|
• อาจารย์มีวิธีทำงานนอกกรอบอย่างไรโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการสอนตามวิธีปกติคะ
ผลกระทบจากการทำงานนอกกรอบนั้น ก็มีบ้างแต่ไม่ใช่อุปสรรค เช่น เวลาของการทำงานมากขึ้น,การทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองว่าทำไมต้องมีการเสริมการเรียนด้วยวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น, การใช้เวลาในการสอนปกติมากขึ้น ฯลฯ แรกๆก็มีปัญหาบ้างเพราะยังขาดการวางแผนในเรื่องการจัดการ ผมจะลองเรียงลำดับความยากง่ายของงาน เลือกทำงานที่สำเร็จง่ายๆก่อน เพราะจะทำให้เนื้องานเหลือน้อยลงเกิดกำลังใจ ส่วนงานที่มีปัญหามากหรือยากก็ค่อยๆคิด ค่อยๆศึกษาไปบางครั้งก็ได้ความคิดจากงานที่ง่ายมาแก้ปัญหางานที่ยากได้ สิ่งที่ได้รับจากการทำงานวิจัยในโครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ผมว่าคุ้มค่า ทำให้ครูได้ค้นพบตนเอง มีวิสัยทัศน์ในการจัดการเรียนการสอนกว้างขึ้น พบมุมมองใหม่ของการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งครูผู้วิจัยและนักเรียนที่ร่วมงานวิจัย มีการจัดการความรู้ที่ค้นพบจากการวิจัย ในยุคที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษา มักจะพูดถึง การปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้การศึกษาไทยก้าวหน้าไม่แพ้ชาติอื่นนั้น ครูเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษาตามแนวปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นการพัฒนาครูด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมครูให้เป็นครูนักวิจัย เสมือนเป็นการบำรุงหัวใจให้แข็งแรง การศึกษาไทยก็จะเจริญรุดหน้าได้ เยาวชนไทยก็จะได้ “เรียนรู้ มิใช่ จำความรู้” สามารถใช้กระบวนการคิด เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความคิดของตนเอง กล้าคิดสิ่งแปลกใหม่ และเป็นประโยชน์ ซึ่งไอน์สไตน์ได้ให้ความสำคัญของจินตนาการว่า “Imagination is more important than knowledge”
“ครูยุค ICT ต้องเป็นครูที่ทันสมัย ซึ่งในที่นี้คือต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในระบบการศึกษา รู้เท่าทันเทคโนโลยีสามารถที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสืบค้น และประกอบสื่อการสอนได้”
|
|
• อาจารย์คิดว่าคุณครูในฝันควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ
ครูในฝัน น่าจะหมายถึงครูในอุดมคติมากกว่า เพราะครูในฝัน นักเรียนก็คงจะอยากได้ครู
ใจดี ไม่ดุ ไม่ว่า เมื่อนักเรียนทำความผิด ส่วนครูในอุดมคติ คือครูที่ห่วงใย เอาใจใส่ อบรมสั่งสอนเพื่อให้ลูกศิษย์เป็นคนดี เก่ง และมีความสุขในสังคม ซึ่งนั่นก็ต้องหมายความว่า ครูต้องเก่ง ซึ่งคงไม่ใช่ต้องถึง ขนาดอัจฉริยะ แต่เก่งในที่นี้ คือสามารถเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ได้ ตามบทบาทที่สังคมไทยได้ยกย่องให้ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ขยายความก็คือ ถ้าอยากให้ลูกศิษย์เป็นนักค้นคว้าสืบค้นเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ครูก็ต้องเป็นนักค้นคว้าก่อนเพื่อจะได้นำข่าวสารความรู้ใหม่ๆ มากระตุ้นต่อมอยากรู้ของนักเรียน ครูต้องเป็นผู้รอบรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนสามารถวิเคราะห์ ปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนและท้องถิ่น ไม่หยุดนิ่งที่จะเติมความรู้อยู่เสมอ เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต พึงระลึกอยู่เสมอว่าความรู้ไม่มีวันเต็ม ครูต้องเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคกระบวนการในการจัดการเรียนการสอน บูรณาการความรู้ นำผู้เรียนไปสู่เป้าหมายของการศึกษาได้ ครูนักวิจัยนั้นจะเป็นคนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แก้ปัญหาได้อย่างมีขั้นตอน สามารถพิสูจน์หรือหาคำตอบ ในข้อสมมุติฐานอย่างเป็นระบบ รวมถึงเป็นผู้ที่เปิดใจกว้างให้กับข้อมูลความรู้หรือข้อค้นพบ ไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงความรู้ในปัจจุบัน แต่มักจะต่อยอดความรู้นั้นๆ ออกไปเสมอ รวมถึงเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้าง ดังนั้นครูที่เป็นครูนักวิจัยนอกจากจะรู้สึกถึงชีวิตที่ไม่ซ้ำซากจำเจแล้ว ยังสนุกกับงานที่ทำ นักเรียนที่ได้มีโอกาสร่วมงานวิจัยก็จะสนุกตื่นเต้นกับการค้นพบความรู้ หรือสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน สามารถนำกระบวนการวิจัยไปสู่การเรียนรู้ได้ ครูต้องเป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่นักเรียนได้
|
|
ครูยุค ICT ต้องเป็นครูที่ทันสมัย ซึ่งในที่นี้คือต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในระบบการศึกษา รู้เท่าทันเทคโนโลยีสามารถที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสืบค้น และประกอบสื่อการสอนได้ ครูต้องสามารถดึงศักยภาพในตัวผู้เรียนออกมา สนับสนุนและส่งเสริมให้กล้าที่จะนำเสนอผลงานของตนต่อสาธารณชนได้ ครูเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี ใจเย็นไม่โกรธง่ายซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เป็นผู้ชี้นำให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเอง เพราะครูไม่สามารถสอนนักเรียนได้ตลอดไป การที่สอนให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเองจะทำให้นักเรียนแสวงหาความรู้ได้ตลอดชีวิต
กล่าวโดยสรุปก็คือ ครูในอุดมคติจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในการคิด การกระทำ ต้องมีจิตวิญญาณความของเป็นครู เมื่อแม่พิมพ์ของชาติสวยงาม เด็กและเยาวชนที่ถูกหล่อหลอมโดยแม่พิมพ์ที่ดีนี้ก็ จะเป็นเยาวชนที่ดี สวยงาม และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
|
|
|
วันที่ 2 มิ.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,621 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 8,392 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,146 ครั้ง เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,158 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,140 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,220 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,047 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,141 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 17,460 ครั้ง |
เปิดอ่าน 76,094 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,165 ครั้ง |
เปิดอ่าน 13,529 ครั้ง |
เปิดอ่าน 80,842 ครั้ง |
|
|