ระเบียบแถวเบื้องต้น
1. การทำความเคารพ
การเคารพเป็นการแสดงความอ่อนน้อมนับถือตามวินัยของลูกเสือ ลูกเสือชั้นผู้น้อยจะต้องทำความเคารพผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ทั้งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนมีมารยาทเรียบร้อย มีความรักใคร่นับถือซึ่งกันและกันตามหลักการของลูกเสือ
การทำความเคารพของลูกเสือ (สามัญ) เมื่ออยู่ในเครื่องแบบ มีวิธีทำความเคารพ 2 วิธีคือ
1. ทำวันทยหัตถ์ ให้ทำวันทยหัตถ์ 3 นิ้วโดยยกมือขวาขึ้น นิ้วหัวแม่มือกดปลายนิ้วก้อยไว้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง เหยียดชิดติดกัน ให้ปลายนิ้วชี้แตะที่ขอบหมวกปีก ประมาณตรงหางคิ้วขวาหรือมิได้สวมหมวกให้ปลายนิ้วชี้แตะที่หางคิ้วขวา
2. การทำวันทยาวุธ คือการทำความเคารพในขณะที่ลูกเสือถือไม้พลองอยู่ ได้แก่ การทำวันทยาวุธเมื่ออยู่ในท่ายืนตรงพลองชิดลำตัวด้านขวา ปลายพลองอยู่ในร่องไหล่มือขวาจับพลอง มือซ้ายแสดงรหัสลูกเสือ รวบนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วก้อยจรดกัน เหลือนิ้วชี้ นิ้วกลางนิ้วนาง เหยียดชิดติดกัน งอศอกยกแขนซ้ายให้อยู่ในแนวเสมอไหล่ ฝ่ามือคว่ำให้ปลายนิ้วชี้แตะพลองที่ร่องไหล่ขวา
|
|
โอกาสแสดงความเคารพ ใช้ในโอกาสต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. เคารพต่อธงสำคัญๆช่นธงชาติธงคณะลูกเสือแห่งชาติธงลูกเสือประจำจังหวัดธงประจำกองทหารฯลฯ
2. เคารพในขณะที่บรรเลงเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า
3. เคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถและบุคคลที่ควรเคารพ นายทหาร นายตำรวจที่แต่งเครื่องแบบ
4. เคารพต่อลูกเสือด้วยกัน
รหัสลูกเสือ เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้รู้กันเฉพาะในวงการลูกเสือเท่านั้น ซึ่งลูกเสือทุกคนเมื่อเห็นรหัสนี้ ก็จะรับรู้และเข้าใจความหมายซึ่งกันทันทีว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน”
|
วิธีการแสดงรหัส
ลูกเสือไทยใช้แสดงรหัสแบบอังกฤษ คือ ยืนในท่าตรงยกมือขวาขึ้นเสมอไหล่ข้อศอกชิดลำตัวหันฝ่ามือไปข้างหน้านิ้วหัวแม่มือกดปลายนิ้วก้อยไว้อีกสามนิ้วที่เหลือเหยียดขึ้นตรงนิ้วชิดติดกันนิ้วทั้งสามที่เหยียดขึ้นไปนั้นมีความหมายถึงคำปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ
|
โอกาสแสดงรหัส ใช้ในโอกาสต่อไปนี้
1. เมื่อลูกเสือกล่าวคำปฏิญาณในพิธีปฏิญาณตนเข้าประจำกองและพิธีอื่น ๆ ที่มีการทบทวนคำปฏิญาณ
2. เมื่อพบกับลูกเสือชาติเดียวกันหรือต่างชาติเป็นการรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
2. การจับมือ
การจับมือทักทายกันของลูกเสือนั้นใช้จับด้วยมือซ้าย และปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ในหมู่ลูกเสือทั่วไป ทำได้โดยต่างคนต่างยื่นมือซ้ายออกไป แล้วจับกันเหมือนกับการจับมือขวาตามธรรมดา
3. คติพจน์ของลูกเสือสามัญ
คติพจน์ คือข้องความที่เป็นหลักหรือแบบอย่างให้ลูกเสือได้ยึดถือ และปฏิบัติเพื่อตนเองและส่วนรวม
คติพจน์ของลูกเสือสามัญ คือ “จงเตรียมพร้อม” หมายความว่า ลูกเสือจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอทั้งทางกายและใจต่อการที่จะปฏิบัติหน้าที่
จงเตรียมพร้อมทางกาย ได้แก่ การทำตัวให้แข็งแรงว่องไวสามารถทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม และเหมาะแก่โอกาสที่ทำ
จงเตรียมพร้อมทางใจ ได้แก่ การทำตัวให้อยู่ในระเบียบวินัย และพร้อมเสมอเมื่อมีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นจะต้องรู้ว่าจะพึงปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร
คติพจน์ของลูกเสือทุกประเภทรวมกันว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” สัตย์ แปลว่า คำปฏิญาณ หมายความว่าลูกเสือต้องรักษาคำปฏิญาณของตนยิ่งกว่าชีวิต เพราะเมื่อให้คำมั่นสัญญาไปอย่างใดแล้วย่อมปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้เสมอ หากลูกเสือถูกบีบบังคับให้ละเว้น หรือไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาแล้ว แม้จะถึงแก่ชีวิตก็ไม่เสียดาย
สัญญาณมือและสัญญาณนกหวีด
1. สัญญาณมือ
ในการฝึกระเบียบแถว ผู้กำกับลูกเสืออาจสั่งด้วยสัญญาณมือ ลูกเสือจึงจำเป็นต้องเรียนรู้สัญญาณมือเพื่อจะได้แปลสัญญาณมือที่ได้รับและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว สัญญาณมือที่ลูกเสือจำเป็นต้องเรียนรู้มีดังนี้
1) เตรียมคอยฟังคำสั่งหรือหยุด
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะเหยียดแขนขวาขึ้นตรงเหนือศีรษะ มือแบ นิ้วทั้งห้าเรียงชิดติดกัน หันฝ่ามือไปข้างหน้า
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ให้ลูกเสือ หยุดการเคลื่อนไหว หรือหยุดการกระทำการต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่หันหน้าไปทางผู้บังคับบัญชาเพื่อคอยฟังคำสั่ง ถ้าอยู่ในแถวให้ยืนอยู่ในท่าตรง
2) รวมหรือกลับมา
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะเหยียดแขนขวาขึ้นตรงเหนือศีรษะ แบมือไปข้างหน้านิ้วมือทั้งห้านิ้วชิดติดกันและหมุนมือเป็นวงกลมจากซ้ายไปขวา
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ ให้ลูกเสือรวมกองรีบมาเข้าแถวรวมกัน
3) จัดแถวหน้ากระดาน
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะเหยียดแขนทั้งสองออกไปด้านข้างเสมอไหล่ ฝ่ามือแบไปข้างหน้านิ้วเรียงชิดติดกัน
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ให้ลูกเสือ เข้าแถวหน้ากระดาน หันหน้าไปหาผู้ให้สัญญาณ
4) จัดแถวตอน
การให้สัญญาณ ผู้กำกับลูกเสือจะเหยียดแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้า แนวเดียวกับไหล่ แขนขนานกัน ฝ่ามือแบเข้าหากัน
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ ให้ลูกเสือเข้าแถวตอน
5) เคลื่อนที่ไปยังทิศที่ต้องการ
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะหันหน้าไปยังทิศที่ต้องการชูแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะสุดแขน ฝ่ามือแบไปข้างหน้า นิ้วชิดกันแล้วลดแขนลงเสมอไหล่
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ ให้ลูกเสือ วิ่งไปยังทิศทางที่มือผู้ให้สัญญาณชี้ไป
6) เร่งจังหวะหรือทำให้เร็วขึ้น
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะงอแขนขวามือกำเสมอบ่าแล้วชูขึ้นตรงเหนือศีรษะแล้วลดลงหลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ ให้ลูกเสือรีบวิ่งหรือเร่งจังหวะสิ่งที่ทำอยู่ให้เร็วขึ้น
7) นอนลงหรือเข้าที่กำบัง
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะเหยียดแขนขวาตรงไปข้างหน้าเสมอแนวไหล่ฝ่ามือแบคว่ำลง นิ้วชิดกันแล้วลดแขนลงและยกขึ้นที่เดิมหลาย ๆ ครั้ง
เมื่อลูกเสือเห็นสัญญาณนี้ให้รีบนอนหรือเข้าที่กำบังทันที
8) ลุกขึ้น
การให้สัญญาณ ผู้กำกับจะเหยียดแขนขวาตรงไปข้างหน้าเสมอไหล่ฝ่ามือแบหงายขึ้นนิ้วชิดและลดลงที่เดิมหลาย ๆ ครั้ง
เมื่อลูกเสือเห็นสัญญาณนี้ให้รีบลุกขึ้นทันที
2. การใช้สัญญาณมือเป็นคำสั่งแถว
1) สัญญาณมือพักตามระเบียบ
การให้สัญญาณในขณะที่ลูกเสืออยู่ในแถว หากผู้กำกับจะสั่งให้พักจะทำสัญญาณมือเป็น 2 จังหวะดังนี้
จังหวะที่ 1 กำมือขวา งอแขนตรงข้อศอกให้มือที่กำอยู่ประมาณตรงหัวเข็มขัดหันฝ่ามือที่กำเข้าหาเข็มขัด
จังหวะที่ 2 สลัดมือที่กำและหน้าแขนออกไปทางขวา เป็นมุม 180 องศาประมาณแนวเดียวกับเข็มขัดเมื่อเห็นสัญญาณนี้
ให้ลูกเสือพักตามระเบียบ
2) สัญญาณมือท่าตรง
การให้สัญญาณ ขณะที่กำลังพักตามระเบียบ ผู้กำกับจะสั่งให้ตรงด้วยการทำสัญญาณมือเป็น 2 จังหวะดังนี้
จังหวะที่ 1 กำมือขวา แขนเหยียดตรงไปทางขวา ให้มือกำอยู่ในระดับเข็มขัด
จังหวะที่ 2 กระตุกหน้าแขนเข้าหาตัว ให้มือที่กำกลับมาอยู่ตรงหัวเข็มขัด
เมื่อเห็นสัญญาณนี้ ให้ลูกเสือชักเท้าซ้ายมาชิดเท้าขวา ลดแขนที่ไขว้หลังมาอยู่ในท่าตรง
|
|
2. สัญญาณนกหวีด
ในการออกคำสั่งแก่ลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสืออาจสั่งด้วยสัญญาณนกหวีดก็ได้ ลูกเสือจึงเข้าใจความหมายของสัญญาณนกหวีด เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วสัญญาณที่ควรรู้มีดังนี้
1. สัญญาณหยุดหรือฟัง เสียงหวีดยาว 1 ครั้ง “หวีด”(-)เป็นสัญญาณให้ลูกเสือหยุดกระทำการใด ๆ หรือเตรียมตัวคอยฟังคำสั่งที่ผู้กำกับลูกเสือจะสั่งต่อไป
2. สัญญาณทำต่อไป เสียงหวีดยาว 2 ครั้ง “หวีด…หวีด” ( ) เป็นสัญญาณให้ลูกเสือทำงานต่อ เดินต่อไปหรือเคลื่อนที่ต่อไป
3. สัญญาณเกิดเหตุ เสียงหวีดสั้น 1 ครั้งยาว 1 ครั้งสลับกันไปหลาย ๆ ครั้ง “วิด…หวีด” “วิด…หวีด” “วิด…หวีด”( . - . - . - )เป็นสัญญาณให้ลูกเสือระวังตัวเพราะเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดเหตุร้ายขึ้น
4. สัญญาณรวมกอง เสียงหวีดสั้นติดกันหลาย ๆ ครั้ง “วิด…วิด…วิด…วิด…วิด…วิด…วิด…วิด…วิด..วิด” ( …. ) เป็นสัญญาณให้ลูกเสือรวมกอง หรือมาประชุม
5. สัญญาณเรียกนายหมู่ เสียงหวีดสั้น 3 ครั้งยาว 1 ครั้ง สลับกันไป “วิด…วิด…วิด…หวีด,วิด…วิด…วิด…หวีด,วิด…วิด…วิด…วิด…หวีด” (…- …-) เป็นสัญญาณให้นายหมู่หรือรองนายหมู่ไปหาผู้ให้สัญญาณเพื่อรอรับคำสั่ง
หมายเหตุ เมื่อจะใช้สัญญาณตามข้า 2 3 4 และ 5 จะต้องใช้สัญญาณในข้อ 1 ก่อน ทุกครั้ง
3. การตั้งแถวและการเรียกแถว
ในการฝึกระเบียบแถวของลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสือมักจะใช้สัญญาณมือซึ่งเป็นสัญญาณเงียบ ลูกเสือจะต้องเข้าใจ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง รวดเร็ว การเข้าแถวของลูกเสือนั้น มีหลักการว่านายหมู่จะต้องอยู่หัวแถว และรองนายหมู่จะต้องอยู่หางแถว