ไม่สูบก็พลอยแย่ สูด "ควันบุหรี่มือสอง" แค่ 30 นาทีมีสิทธิเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
ไซน์เดลี/เฮลธ์เดย์นิวส์ - แม้ตัวไม่สูบบุหรี่ แต่ผลวิจัยชี้ชัดว่าแค่เราหายใจอยู่ในสถานที่ที่อบอวนไปด้วยควันบุหรี่ เพียง 30 นาที ควันมรณะก็คร่าเซลล์สำคัญในหลอดเลือดได้มิใช่น้อย และมิหนำซ้ำยังทำให้กลไกการซ่อมแซมตัวเองของหลอดเลือดด้อยประสิทธิภาพลงด้วย แถมยังผลยาวนานถึง 24 ชั่วโมง เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ทันตั้งตัว
ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (University of California) เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่เข้าไป พบว่าเพียงแค่ 30 นาที ควันมรณะจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับเซลล์และหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารของวิทยาลัยโรคหัวใจอเมริกัน (Journal of the American College of Cardiology) ฉบับวันที่ 6 พ.ค.51
นักวิจัยได้ศึกษาผลของควันบุหรี่ที่มีต่อผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่หายใจเอาควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเข้าไป หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke) ซึ่งได้ทดลองในอาสาสมัครจำนวน 10 คน ที่ไม่สูบบุหรี่ และมีอายุตั้งแต่ 29-31 ปี โดยได้ทดลองปล่อยควันบุหรี่เข้าไปให้ห้องทดลองที่มีอาสาสมัครอยู่ในนั้นเป็นเวลา 30 นาที ในอัตราที่ควบคุมไว้ให้มีปริมาณควันบุหรี่อบอวนอยู่ในห้องดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณควันบุหรี่ที่พบได้ทั่วไปตามผับหรือบาร์ที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ได้
ทันทีที่อาสาสมัครทุกคนได้รับควันบุหรี่ครบเวลาตามกำหนด ก็ต้องได้รับตรวจวัดอัตราการไหลของโลหิตในเส้นเลือดผ่านการอัลตราซาวด์ และเจาะเลือดมาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อวินิจฉัยสุขภาพของเส้นเลือด และรับการตรวจวัดซ้ำอีกเมื่อผ่านไป 1, 2.5 และ 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ซึ่งนักวิจัยได้นำผลไปเปรียบเทียบผลการตรวจเมื่อให้อาสาสมัครชุดเดียวกันอยู่ในห้องควบคุมที่มีอากาศบริสุทธิ์ของการทดลองในวันอื่น
ผลวิจัยบ่งชี้ว่าควันบุหรี่ได้ทำลายเอนโดธีเลียลเซลล์ (endothelial cell) ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเซลล์ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบหลักของหลอดเลือดและผนังหลอดเลือด และโดยปรกติเมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นกับเอนโดธีเลียลเซลล์หรือหลอดเลือด ร่างกายของเราก็จะมีกลไกในการซ่อมแซมโดยอัตโนมัติ แต่กลับพบว่ากระบวนการดังกล่าวในอาสาสมัครทั้ง 10 คน ด้อยประสิทธิภาพลง ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนของหลอดเลือดที่ได้รับความเสียหายได้เหมือนปรกติ
จากการทดลองพบว่าควันบุหรี่ไปรบกวนการทำงานของสารเคมีในร่างกายที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้เอนโดธีเลียล โปรเจนิเตอร์ เซล (endothelial progenitor cell: EPCs) ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเอนโดธีเลียลเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูก ให้ไปซ่อมแซมเส้นเลือดตรงบริเวณที่ได้รับความเสียหาย และแม้จะได้รับควันบุหรี่เพียง 30 นาที แต่ 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้วก็ยังมีผลอยู่ ซึ่งนักวิจัยเองก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผลกระทบดังกล่าวจะสามารถอยู่ได้ยาวนานมากแค่ไหน
ที่สำคัญเมื่อเซลล์หลอดเลือดถูกทำลายและไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ก็จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจได้ในที่สุด
ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายสถาบันเพื่อชี้ให้เห็นโทษของควันบุหรี่ที่ไม่ได้มีผลเสียเฉพาะกับตัวผู้สูบเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายถึงบุคคลรอบข้างที่ต้องสูดหายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอดแบบจำใจ และผลวิจัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรืองดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งนักวิจัยบอกอีกว่าในรัฐหรือเมืองในที่ออกกฏหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างที่ทำงาน ร้านอาหาร และบาร์ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 20%.
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2551 17:17 น.