เด็กไทยโง่ลง เพราะสมองได้รับการกระตุ้นน้อยและไม่ถูกวิธี ในช่วงแรกเกิดถึง ๖ ขวบ
สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) จัดประชุมเรื่อง "สื่อการเรียนรู้แบบ BBLในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา" โดยมี ดร.สุรชัย โฆษิตบวรชัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ และนายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ เป็นผู้บรรยาย
ดร.สุรชัย โฆษิตบวรชัย กล่าวว่า "สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีการพัฒนาเต็มศักยภาพ ตามลำดับขั้นของสมองแต่ละวัย ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมีพันธกิจที่จะสร้างขีดความสามารถของเด็กและเยาวชนไทยอายุ ๐-๑๙ ปี ให้มีพัฒนาการด้านความรู้คู่คุณธรรมล้ำหน้านานาประเทศ เพื่อเตรียมประเทศไทยให้แข่งขันได้ทั่วโลก"
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กล่าวว่า "การวิจัยระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กไทยมีไอคิวลดลง เนื่องจากระยะแรกเกิดถึง ๖ ขวบ สมองของมนุษย์จะมีการสร้างใยประสาทขึ้นมาก จากนั้นจะเริ่มมีการจัดระเบียบ โดยใยประสาทส่วนที่ไม่ได้ใช้จะหลุดหายไป ส่วนใยประสาทส่วนที่มีการใช้งานจะมีการหนาตัวขึ้น ระยะนี้เด็กควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่และถูกต้อง หากสื่อการเรียนการสอนไม่น่าสนใจ ไม่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลง ซึ่งสื่อการเรียนรู้แบบ BBL ( Brain-Based-Learning ) จะมีการใช้ศิลปะ รูปภาพ สีสันเข้ามาประกอบในหนังสือ เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ทำให้เด็กไม่ต่อต้านการเรียนรู้ เมื่อไม่เกิดการต่อต้าน สมองของเด็กก็จะเปิดรับข้อมูลต่างๆได้มากขึ้น"
ทั้งนี้ภาครัฐไม่สามารถที่จะผลักดันให้เกิดสื่อการเรียนการสอนแบบ BBLได้โดยลำพัง จึงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาคเอกชนหลายฝ่าย ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับเด็กไทยต่อไป