เมื่อเร็วๆ นี้เราคงได้ยินข่าวว่าเกิดการแพร่ระบาดของ "โรคชิคุนกุนยา" ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้คนแปลกใจไม่น้อยว่า นี่คือโรคประหลาดสายพันธุ์ใหม่อะไรหรือเปล่า วันนี้กระปุกจึงอาสาคลายข้อสงสัย ด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับ "โรคชิคุนกุนยา" มาบอกต่อกันค่ะ
"ชิคุนกุนยา" คืออะไร
"โรคชิคุนกุนยา" (Chikungunya) หรือ "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" ไม่ใช่โรคใหม่อะไรหรอกค่ะ แต่เป็นโรคที่อุบัติขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1955 โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่บรรยายลักษณะของโรคชิคุนกุนยาเป็นคนแรกคือ Marion Robinson และ W.H.R. Lumsden
การแพร่เชื้อโรคชิคุนกุนยาในทวีปแอฟริกานั้น มี 2 วงจร คือชนิด "วงจรชนบท" คน-ยุง-ลิง ซึ่งมีการระบาดเป็นครั้งคราว ก่อนที่คนจะนำเชื้อชนิดนี้ออกมาสู่ชุมชนเมือง ทำให้เกิด "วงจรในเมือง" คน-ยุง กลายเป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คน โดยมียุงเป็นพาหะนั่นเอง
ส่วนในทวีปเอเชียวงจรที่พบคือ "วงจรในเมือง" มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อติดต่อไปสู่คนได้ โดยเกิดการแพร่ระบาดในทวีปเอเชียครั้งแรกที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ในปี ค.ศ.1963 ขณะที่ในประเทศไทยตรวจพบโรคชิคุนกุนยาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2501 พร้อมๆ กับโรคไข้เลือดออกที่ระบาดเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย จากนั้นประเทศไทยก็ได้พบการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยามาทั้งหมด 6 ครั้ง คือในปี พ.ศ 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์, ปี พ.ศ. 2534 พบที่จังหวัดขอนแก่น และปราจีนบุรี จากนั้นในปี พ.ศ.2536 พบว่ามีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย
ก่อนที่ล่าสุดจะพบการระบาดอีกครั้งในช่วงต้นปี 2552 ที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลา และปัตตานี ส่งผลให้มีผู้ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยากว่า 5,596 รายแล้ว (ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)
ที่มาของชื่อไวรัสชิคุนกุนยา
ชื่อของเชื้อไวรัสชิคุนกุนยานั้น มาจากคำในภาษา Makonde ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองในแอฟริกาที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแทนซาเนีย และทางตอนเหนือของประเทศโมแซมบิก โดยรากศัพท์พื้นเมืองเดิมเรียกว่า kungunvala ซึ่งมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า "That which bends up" สอดคล้องกับลักษณะอาการปวดข้อของโรคนี้
สาเหตุของโรคชิคุนกุนยา
โรคชิคุนกุนยาเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ซึ่งเป็น RNA Virus จัดอยู่ใน genus alphavirus และ family Togaviridae ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นจึงมักพบการระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุงลาย
การติดต่อของโรคชิคุนกุนยา
การติดต่อของโรคชิคุนกุนยาเกิดขึ้นเมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสนั้นจะไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นในตัวยุง และเมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อ ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาได้
ทั้งนี้โรคชิคุนกุนยามีระยะฟักตัว 1-12 วัน แต่ช่วง 2-3 วันจะพบบ่อยที่สุด ส่วนในช่วงวันที่ 2-4 จะเป็นช่วงที่มีไข้สูง มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก และสามารถติดต่อกันได้หากมียุงลายมากัดผู้ป่วยในช่วงนี้ และนำเชื้อไปแพร่ยังผู้อื่นต่อ
อาการของโรคชิคุนกุนยา
ผู้ที่เป็นโรคชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงอย่างฉับพลัน ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งดูเผินๆ คล้ายกับโรคไข้เลือดออก หรือหัดเยอรมัน แต่จะไม่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นช็อก หรือเลือดออกมากเช่นโรคไข้เลือดออก
อย่างไรก็ตามโรคชิคุนกุนยาสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่า คือมักจะมีอาการปวดข้อทั้งข้อมือ ข้อเท้า และเป็นข้ออักเสบตามมาด้วย ซึ่งมักจะเปลี่ยนตำแหน่งที่ปวดไปเรื่อยๆ บางครั้งมีอาการรุนแรงมากจนขยับข้อไม่ได้ แต่จะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะปวดเรื้อรังอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
การรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา
ทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษาและป้องกันโรคชิคุนกุนยา ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น หากเป็นไข้ก็ให้ยาลดไข้ หรือหากปวดข้อก็ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น แต่ล่าสุดได้มีผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาคลอโรควิน (Chloroquin) สามารถบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคชิคุนกุนยาได้ผลดีเช่นกัน
ทั้งนี้วิธีที่จะสามารถป้องกันโรคชิคุนกุนยาได้ดีที่สุดก็คือ การกำจัดยุงลายอันเป็นตัวพาหะนำโรค โดยต้องหมั่นตรวจดูแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น บ่อ กะละมัง ชาม โอ่งน้ำ ตุ่ม ฯลฯ ควรหาฝาปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ หรือให้ใส่ทรายอะเบทในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ลงไปในน้ำก็จะสามารถป้องกันการวางไข่ของยุงลายได้ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฉีดพ่นหมอกควันตามอาคารบ้านเรือนที่มีแหล่งน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย
นอกจากนี้ตัวเราเองก็ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุง หรือใช้สารไล่ยุง และสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันไม่ให้ยุงกัด รวมทั้งยังต้องเฝ้าสังเกตอาการของคนรอบข้างว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคชิคุนกุนยาหรือไม่ หากมีอาการคล้ายเคียงหรือต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
จะเห็นว่าแม้โรคชิคุนกุนยาจะไม่ทำอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้คนป่วยได้รับความทุกข์ทรมาน และความรำคาญใจจากอาการปวดได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรป้องกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคชิคุนกุนยาไว้ก่อนจะดีที่สุดค่ะ
ขอขอบข้อมูลจาก :: กระทรวงสาธารณสุข , thaimuslim.com , bangkokhealth.com