สวัสดีคะ.. เริ่มปีงบประมาณ 2552 แล้วนะคะ คนของรัฐ .. ข้าฯของประชาชน เตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่ระบบราชการใหม่.. ตอนนี้เขาสังว่าการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆต้องทำให้เรียบร้อยก่อนวันที่ 24 ตุลาคม 2551 นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่สูญญากาศ เพื่อดูดพวกเราไปไว้ในระบบแท่งแล้วละ.. ขอแสดงความยินดีต่อพี่ๆ เพื่อนๆน้องๆทุกคนที่เป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับ 6 แล้วเงินเดือนชนเพดานอยู่ คงจะได้เงินเดือนขึ้นไต่ระดับเทียบเท่า ซี 7 ต่อไปได้ .. แต่ต้องทำงานให้คุ้มค่านะ..
วันนี้เลยจะนำเรื่องการประเมินความคุ้มค่ามาเล่าสู่ฟัง.. ข้อมูลมาจากเอกสารเรื่อง "แนวทางการประเมินความคุ้มค่า การปฏิบัติภารกิจของรัฐ" จัดทำโดย คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งร่วมกับสำนักงบประมาณได้จัดชี้แจงเจ้าหน้าที่ของกระทรวง กรม และจังหวัด ไป เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 ที่เมืองทองธานี.. ดิฉันไม่ได้ไปหรอก.. แต่หลังจากคนที่ไปกลับมาแล้วนำเอกสารมาให้อ่าน 2 เล่ม แล้วบอกว่าเตรียมตัวนะ จะเริ่มใช้กับการทำงบประมาณปี 2553 ในเดือนธันวาคม นี้แหละ ก็เลยนั่งอ่าน.. อื้อหือ..คุณเอ๋ย..การเป็นข้าของรัฐนี้จะยากไปหน้านะ..คนที่เออลี่น่าจะโชคดีกว่าคนอยู่ต่อ..
ดิฉันสรุปสาระแนวคิดของเรื่องนี้มาเล่านะคะ..
“ แนวทางการประเมินความคุ้มค่าการปฏิบัติภารกิจของรัฐ” มาจาก 2 เหตุผล คือ
1. การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ที่มุ่งบริหารแบบมืออาชีพ ยึดหลักการดำเนินงานที่มีมาตรฐานและมีวิธีวัดผลงานที่ชัดเจน มีการควบคุมผลผลิตและความประหยัดในการใช้ทรัพยากร เรียกว่า การบริหารงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ( Results Based Management : RBM) โดยมีตัวชี้วัดผลงานเพื่อประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งมีการปรับระบบงบประมาณ ไปสู่การมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ ( Strategic Performance Budgeting : SPBB) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
2. การพัฒนาระบบราชการไทย ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
( พ.ศ. 2546-2550) เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาระบบราชการ และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทยไปสู่การปฏิบัติ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการปฏิบัติงานของส่วนราชการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสามารถวัดความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจ
ดังนั้น หน่วยงานของรัฐต้องมี การประเมินความคุ้มค่า ในการดำเนินภารกิจของตนเองเพื่อดูว่าได้ผลผลิต ผลลัพธ์ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลประโยชน์ที่สมดุลกับทรัพยากรที่ใช้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งผลสำเร็จที่พึงประสงค์ และผลกระทบในทางลบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนและสังคม ทั้งที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้และไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้
การประเมิน ให้ความสำคัญกับประเด็นการทำงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติประสิทธิผล ควบคู่ไปกับมิติประสิทธิภาพ และมิติผลกระทบ
1. ประสิทธิผลการปฏิบัติภารกิจ
พิจารณาจากตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ การบรรลุวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติภารกิจ ความพึงพอใจ และคุณภาพการให้บริการ
2. ประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจ ประเมินความเหมาะสมสอดคล้องของการใช้ทรัพยากรและกระบวนการทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตตามวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด มี 2 ด้าน คือ ประสิทธิภาพการปฏิบัติ และ การประหยัด
3. ผลกระทบ หมายถึง ผลอันสืบเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจ ทั้งที่คาดหมายหรือตั้งใจ และไม่ได้คาดหมาย ทั้งที่เกิดขึ้นระหว่างและภายหลังการปฏิบัติภารกิจ ที่อาจกระทบต่อการพัฒนาในมิติอื่น หรือการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานอื่น หรือประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มอื่น ทั้งในและนอกพื้นที่ การวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามภารกิจภาครัฐ ครอบคลุมถึงผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ ในมิติที่สามารถประเมินในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน