เปิด 10 อาชีพฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก รับเทรนด์อินดัสทรี 4.0 การันตีสร้างรายได้…ไม่เตะฝุ่น
เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิตอล โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งด้านการใช้ชีวิต การทำงาน ความบันเทิง การท่องเที่ยว ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มสับเปลี่ยนความเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จากทวีปยุโรปที่เซื่องซึม เข้าสู่ทวีปเอเชียที่มีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศ “ไทย” ในการประกอบอาชีพของประชาชนจึงต้องสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย
ล่าสุด กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ระบุถึงอาชีพที่ใกล้สูญพันธุ์จากความเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบด้วย อาชีพบุรุษไปรษณีย์ พนักงานไปรษณีย์ โอปะเรเตอร์ ตำรวจจราจร สาวโรงงานทอผ้า ช่างตัด-พับ-เจาะ-เชื่อม-อัดโลหะและพลาสติก ช่างซ่อมนาฬิกา ช่างทำแพตเทิร์นเสื้อผ้า และพนักงานเรียงพิมพ์
ใครที่กำลังประกอบอาชีพข้างต้น ย่อมเกิดความรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เป็นแน่!!!
แต่ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ข้อมูลอาชีพในอนาคต ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูงในไทย 10 อันดับ ได้แก่
1.อาชีพเขียนโปรแกรมเมอร์ คิดค้นแอพพลิเคชั่นต่างๆ ตามเทรนด์สังคมโลกเปลี่ยนผ่านจากอะนาล็อกสู่ดิจิตอล สอดคล้องกับไทยที่กำลังก้าวสู่อินดัสทรี 4.0 ที่มีดิจิตอลเป็นส่วนสำคัญ
2.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม ทั้งแพทย์ศัลยกรรม แพทย์ผิวหนัง ทันตแพทย์ เภสัชกร พนักงานขายสินค้าด้านความงาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับหญิงและชาย ซึ่งในไทยเป็นที่นิยมอย่างมาก
3.อาชีพดูแลด้านสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา เทรนด์นี้ทั้งโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อยากมีอายุยืนยาวขึ้น ยอมจ่ายเเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีกับโรงพยาบาล รับประทานอาหารที่เน้นดูแลตัวเอง และธุรกิจฟิตเนส เทรนเนอร์ จะได้รับความนิยม
4.อาชีพที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์เคมี ชีวเคมี เพราะเทรนด์ของโลกจะมีการใช้สารเคมีที่มาจากธรรมชาติ จากพืช อาทิ การใช้พลาสติกจากชานอ้อย บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ผลิตจากพืชจะได้รับความนิยม เพราะโลกจะให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
5.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การประหยัดพลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เด็กที่เรียนจบวิศวกรรมด้านไฟฟ้าจะมีงานทำ ไม่ตกงานแน่นอน
6.อาชีพที่มีความชำนาญเกี่ยวกับเครื่องกลขั้นสูง กลุ่มนี้จะตรงตามเป้าหมายของไทยที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมครั้งใหญ่
7.อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา ทั้งการพูด การเขียน การคิดสโลแกน ถ้อยคำ ภาษาสำคัญ คือ อังกฤษและจีน ที่ใช้ทั่วโลก และภาษาอารบิกสำหรับชาวมุสลิมที่กระจายอยู่ทั่วโลก รวมถึงภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น
8.อาชีพนักกฎหมายธุรกิจ และนักกฎหมายระหว่างประเทศ
9.อาชีพที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักอนุรักษ์จะมีความสำคัญ
และอันดับสุดท้าย อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง โดยอาชีพที่จะได้ความนิยม คือ สัตวแพทย์ ผู้ผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยง ร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง แฟชั่นสัตว์เลี้ยง และการผลิตอาหารสัตว์
อาชีพทั้งหมดนี้ประเมินจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่มีระบบดิจิตอลเป็นหัวใจสำคัญ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากโรบอติก เชื่อมโยงโลก ต้องการแรงงานทักษะ แต่ลดการใช้แรงงานทั่วไป
การเปลี่ยนของโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศที่เกิดขึ้น “อรรชกา สีบุญเรือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงความเห็นว่า ต่อไปประเทศไทยต้องก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมากขึ้น ทำให้ความต้องการแรงงานทั่วไปลดลง แต่ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเอกชน ได้หารือร่วมกัน เพื่อปรับหลักเกณฑ์การเรียนการสอนให้นักศึกษาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวยังมั่นใจว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง คือความต้องการแรงงานที่ต้องใช้ทักษะอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบจนเลิกจ้างงาน หรืออัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น เพราะตอนนี้แรงงานในภาคบริการยังขาดอยู่มาก อาทิ ภาคท่องเที่ยว ซึ่งอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจมีการโยกแรงงานจากอุตสาหกรรมการผลิต เข้าสู่อุตสาหกรรมภาคบริการเพิ่มขึ้น
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเตือนให้รับมืออนาคต แต่ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน คือนโยบายลดพนักงานลงแบบสมัครใจออก ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่จัดโครงการ “จากกันด้วยใจ” โดยเป็นพนักงานในส่วนของการรับเหมาค่าแรง (ซับคอนแทร็กต์) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,000 คน
สาเหตุที่โตโยต้าปรับลดพนักงาน บริษัทให้ข้อมูลว่า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต แต่ยืนยันว่าหากกำลังผลิตกลับมาปกติจะกลับมาจ้างงานกลุ่มที่ลาออกแน่นอน
แม้จะเป็นการจากลาแบบ “สมยอม” แต่ลึกๆ ในกลุ่มแรงงานเองต่างหวาดหวั่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหวาดหวั่นกับสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวจนบริษัทใหญ่ต้องลดพนักงาน เกิดการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจไทยกำลังดี หรือชะลอตัว
เพราะในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เพิ่งประกาศกับนักลงทุนญี่ปุ่นภายในการประชุมแบงค็อก นิกเกอิ ฟอรั่ม 2559 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตดี โดยเฉพาะไตรมาส 2 มากกว่า 3%
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบ่งชี้สถานการณ์การจ้างงานของไทย เปิดเผยโดยกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตัวเลขการว่างงานของไทยช่วง 3 เดือนของปีนี้ พบว่าเดือนเมษายน มีตัวเลขผู้ว่างงาน 1% เดือนพฤษภาคม 1.2% และเดือนมิถุนายน 1% โดยกระทรวงแรงงานยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวอยู่ในภาวะปกติ
แต่หลายคนก็มองว่าตัวเลขการว่างงานดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องปกตินักเพราะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เอง ก็กำลังจับตาการจ้าง 5 เดือนแรกของปีนี้ ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม พบว่ามีอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 385,682 คน จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.07% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 0.93%
นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ยังให้ข้อมูลว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2559 จะมีบัณฑิตจบใหม่ 100,000 คน และ 1 ใน 4 อาจไม่มีงานทำ
แม้สถานการณ์จ้างงานจะไม่สู้ดีนัก แต่ถ้ารู้จักรับมือและมองเทรนด์โลกให้ออก เชื่อว่าไม่มีคำว่า “ตกงาน” แน่นอน
ที่มา คอลัมน์ เศรษฐกิจ มติชนสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่: 23 ก.ค. 59 เวลา: 07:46 น.