"รมว.ศึกษาธิการชี้แจง 4 เหตุผล ใช้ม.44 รื้อโครงสร้างบริหารงานศธ.ในส่วนภูมิภาค ทั้งมีปัญหาบูรณาการระดับพื้นที่ ช่วงบังคับบัญชากว้างไป ความเป็นเอกภาพในการทำงาน และความคล่องตัวการบริหารงานบุคคล ด้านปลัดศธ.ยืนยันไม่ได้ยุบเขตพื้นที่ประถม-มัธยม ไม่กระทบสิทธิข้าราชการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาวษ์พงษ์ รัตนสุวรรณ พร้อมด้วยนพ.กำจร ติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานแถลงข่าวเพื่อชี้แจงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ออกคำสั่งที่ 10 และ 11 / 2559 ใช้มาตรา 44 ในการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาและปรับระบบการบริหารงานของศธ.ในส่วนภูมิภาค
พลเอกดาว์พงษ์ บอกว่า การที่ต้องออก 2 คำสั่งนี้ก็เพื่อปรับระบบการบริหารงานกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค เพราะการปฏิรูปการศึกษาทำได้ แต่ที่ผ่านมาทำไม่ทัน โดยมีเหตุผล 4 ข้อที่ออกคำสั่งคือ
1.มีปัญหาการบูรณาการระดับพื้นที่ พบว่าการบริหารการศึกษาในจังหวัดและเขตพื้นที่เดียวกัน ยังการขาดเชื่อมโยงระหว่างกันและขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษา เช่น เอกชน ท้องถิ่นจึงให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาระดับภูมิภาคที่มีรมว.ศธ.เป็นประธาน และมีผู้บริหาร 5 องค์กรหลักศธ.เป็นกรรมการ และมีศึกษาธิการภาค 18 คน และศึกษาธิการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด 77 จังหวัดเป็นประธาน จะดูแลการศึกษาทุกระบบภายในจังหวัดทั้งอนุบาล ประถม มัธยม อาชีวศึกษา กศน. การศึกษาพิเศษและโรงเรียนเอกชน รวมทั้งเชื่อมโยงการจัดการศึกษาของหน่วยงานอื่นๆ เช่น โรงเรียนตชด. ท้องถิ่น ทำให้ขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างเป็นเอกภาพ
2.ช่วงบังคับบัญชากว้างไป เช่น เลขาธิการกพฐ.ต้องกำกับดูแลผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 225 คน
3.ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการศึกษา ทั้งสพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษ(ก.ค.ศ.)แยกกันทำงาน โครงสร้างบริหารงานใหม่ไมได้ยุบสำนักงานก.ค.ศ. และสพฐ.ส่งงบประมาณให้เขตพื้นที่ การประเมินผลและนิเทศก์เหมือนเดิม แต่การบริหารงานวิชาการจะให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ดูแลในภาพรวม
4.ความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล ที่ผ่านมาศธ.มีปัญหาในการย้ายครูข้ามเขตพื้นที่่ การบรรจุครูใหม่ในแต่ละเขตพื้นที่ การคัดเลือกผอ.โรงเรียน การดำเนินการทางวินัย ซึ่งโครงสร้างใหม่จะดำเนินการโดยคณะกรรมการกศจ. จะพิจารณาในพื้นที่ได้กว้างขึ้น การเกลี่ยครู จะทำได้ดีขึ้น การบรรจุครูใหม่ ผอ.โรงเรียนมีตัวเลือกที่เหมาะสมและหมุนเวียนได้มากขึ้น
หลังจากนี้เรื่องแรกที่จะต้องดำเนินการคือ การบรรจุครูผู้ช่วยซึ่งเดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่ และจะใช้รูปแบบโครงสร้างบริหารงานใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาปรับโครงสร้างใหญ่ของศธ.
ด้านนพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) บอกว่า โครงสร้างใหม่ศึกษาธิการภาคจะกำกับศึกษาธิการจังหวัดโดยจะให้ผู้บริหารระดับสูงของศธ. เช่น ผู้ตรวจราชการไปทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการภาค และให้ผู้บริหารระดับต้นไปเป็นศึกษาธิการภาคด้วย และศึกษาธิการภาคจะเข้าไปเป็นรองประธานบอร์ดกศจ.แต่ละจังหวัดโดยศึกษาธิการภาค 1 คน เป็นรองประธานกศจ.ได้ 4-5 จังหวัด
ส่วนเขตพื้นที่ประถมศึกษาและเขตพื้นที่มัธยมศึกษานั้นยืนยันยังทำหน้าที่อย่างเดิมทั้ง 225 เขต ไม่ได้ยุบและไม่กระทบสิทธิของข้าราชการแต่อย่างใด ยังอยู่ครบหมด และศึกษาธิการจังหวัดทำหน้าที่เป็นเลขานุการของบอร์ดศึกษาธิการจังหวัด
ที่มา Nation TV วันที่ 22 มีนาคม 2559
ไฟล์ประกอบการแถลงข่าวของ รมว.ศธ. (การบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค)