พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
ให้การรับรองรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป 281 รางวัล เพื่อการประเมินวิทยฐานะ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามมติ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายและระบบบริหารงานบุคคล โดยให้การรับรองรางวัลที่ส่วนราชการเสนอมาเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป ทั้งรางวัลระดับชาติ 206 รางวัลเดิมที่เคยเห็นชอบแล้ว และรางวัลใหม่อีก 75 รางวัล รวมทั้งสิ้น 281 รางวัล รวมทั้งเห็นชอบการกำหนดแนวทางการพิจารณากลั่นกรองและคัดเลือกข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเข้ารับการประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามเกณฑ์ ว13/2556
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้ผู้ขอรับการประเมิน ยื่นคำขอพร้อมแบบรายงานและข้อเสนอในการพัฒนางานต่อผู้บังคับบัญชาได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2559 รวมทั้งผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ย้อนหลังติดต่อกัน 3 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2556-30 เมษายน 2559 หลังจากนั้นให้ส่วนราชการต้นสังกัดเสนอรายชื่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการคัดเลือก พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ครั้งเดียวพร้อมกัน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559
สำหรับรายที่เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2559 ให้ส่งถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559
เห็นชอบร่างกฎ ก.ค.ศ. การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งของบุคลากรอื่นฯ ในสถาบันการอาชีวศึกษา
ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. การจัดประเภทตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ฉบับที่... พ.ศ. .....
สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 กำหนดให้สถาบันการอาชีวศึกษา เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งส่วนราชการในสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 23 สถาบัน
ซึ่งแต่เดิม ก.ค.ศ.ได้กำหนดกรอบอัตรากำลังเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38ค. (2) มีสองประเภท คือ ประเภทวิชาการและประเภททั่วไป แต่ในร่างกฎ ก.ค.ศ.ฉบับใหม่นี้ได้กำหนดให้เพิ่มตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38ค. (2) ให้มีสามประเภท คือ ประเภทวิชาการ ประเภททั่วไป และประเภทอำนวยการ (ทั้งอำนวยการระดับต้นและระดับสูง) เช่น ตำแหน่งหัวหน้าสำนัก หัวหน้าศูนย์ ฯลฯ โดยระยะแรกกำหนดไว้จำนวน 23 แห่งๆ ละ 14 อัตรา รวมทั้งสิ้น 322 อัตรา ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ในภาพรวม และไม่ขัดหรือแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีและมาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557-2561)
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น และระดับสูง ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 5,600 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ
อนุมัติวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ รายที่ 6 ของประเทศ
ที่ประชุมอนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะ "ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญพิเศษ" ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ว 17/2552 จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางกิตติกร คัมภีรปรีชา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
ซึ่งถือเป็นรายแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการอนุมัติให้ข้าราชการครูฯ ทุกสังกัด เลื่อนเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษแล้วจำนวน 5 ราย คือ 1) นายนคร ตังคะพิภพ ผอ.โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี 2) นางศรีลักษณ์ ผลวัฒนะ ครู โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาวิทยาศาสตร์ (เคมี) 3) นางสาวพลพิมล ชาญชัยเชาวน์วิวัฒน์ ครู โรงเรียนบางมด สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์ สาขาวิทยาศาสตร์ (เคมี) 4) นายสมเดช ศรีแสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 1 และ 5) นางสาวรัตนา สถิตานนท์ ครู โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย (สาขาภาษาไทย)
เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ฯ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภททั่วไปในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ สำหรับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และใน 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ สรุปสาระสำคัญ คือ
1. ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีคุณวุฒิตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ
2. ต้องมีตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง
3. เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วจะต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อไปเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษ
รับทราบกำหนดการคัดเลือกและสอบบรรจุฯ ครูผู้ช่วย สพฐ.
ที่ประชุมรับทราบกำหนดการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2559 ดังนี้
1) การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2559
- ประกาศรับสมัคร ภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559
- รับสมัคร วันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2559
- ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
- ประเมินประวัติและผลงาน วันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 11 มีนาคม 2559
- สอบภาค ก และภาค ข วันที่ 12 มีนาคม 2559
- สอบภาค ค (สัมภาษณ์) วันที่ 13 มีนาคม 2559
- ประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2559
2) กำหนดการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2559
- ประกาศรับสมัคร ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2559
- รับสมัคร วันที่ 4 – 10 เมษายน 2559
- ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขัน ภายในวันที่ 20 เมษายน 2559
- สอบข้อเขียน ภาค ก วันที่ 7 พฤษภาคม 2559, ภาค ข วันที่ 8 พฤษภาคม 2559, ภาค ค (สัมภาษณ์) วันที่ 9 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป
- ประกาศผลการสอบแข่งขัน ภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559
อนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา
ที่ประชุมอนุมัติตั้งอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 2 เขต แทนตำแหน่งที่ว่าง ได้แก่
1) นายกชบดินฐ ภูมิพงศ์ อนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2
2) นางสาวจารุณี บุรุษชาต อนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างบัญชีการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ไปดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนทางราชการต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกรณีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งในระดับผู้บริหารสถานศึกษาด้วยว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) หรือประชารัฐ ก็เห็นตรงกันว่าการคัดสรรคนเก่ง คนดี มีความทุ่มเท ได้เข้ามาบริหารงาน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจ (Key Success) ในความสำเร็จของการพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งกรณีการกล่าวโทษหรือร้องเรียนการทุจริตต่างๆ นั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามระบบให้เกิดความรวดเร็วขึ้น โดยต้องเร่งพิสูจน์บุคคลผู้ถูกกล่าวหาด้วยความเป็นธรรม จัดวางระบบและมาตรการต่างๆ ในกระบวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะจะโยงไปถึงสิทธิต่างๆ เช่น การพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการรายนั้นๆ ด้วย
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 27 มกราคม 2559