“หมอจรัส” ทุบโต๊ะเด็กประถมฯต้นต้องเลิกเรียน 8 กลุ่มสาระฯ หลังผลวิจัยพบ เรียนมากไม่สบความสำเร็จ ทำเด็กต้องแข่งขัน ชี้เด็กวัยนี้ควรเรียนรู้สมรรถนะการใช้ชีวิต เพื่อพัฒนาตนเองสู่โลกอนาคต
วันนี้ (27 ก.พ.) รศ.ทิศนา แขมมณี กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ. ว่า ตนได้นำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น(ป.1-3) สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่พบว่า การให้เด็กช่วงชั้นนี้เรียน 8 กลุ่มสาระฯเป็นการเรียนที่มากเกินไป และการมีดัชนีชี้วัดผู้เรียนจำนวนมาก ทำให้ครูต้องเร่งสอนเพื่อให้เด็กไปสอบวัดความรู้และรองรับการประเมินต่าง ๆ จนเด็กไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเท่าที่ควร ทั้งนี้การวิจัยพบว่า ช่วงชั้นนี้เป็นรอยเชื่อมต่อจากปฐมวัยสู่ประถมศึกษา ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กต้องปรับตัว ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กระดับนี้ต้องมีความยืดหยุ่นให้ตอบสนองต่อความแตกต่างของเด็ก ดังนั้น กอปศ.จึงมีแนวคิดที่จะปฎิรูปหลักสูตรใหม่ให้มีความเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยจะสร้างชุดวัดสมรรถนะของเด็กวัยนี้เพื่อให้เด็กอยู่ได้ทั้งในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต
“ขณะนี้ กอปศ.ร่วมกับ สภาการศึกษา(สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทำการวิจัยเพื่อปรับหลักสูตรใหม่ โดยเน้นการสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ของเด็กช่วงวัยนี้ เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ หรือ คณิตศาสตร์ ควรเรียนแค่ไหน ซึ่งไม่ใช่เรียนเพื่อไปสอบแข่งขันหรือไปเรียนต่อ แต่เป็นการเรียนเพื่อสร้างสมรรถนะให้ตนเองไว้ใช้ในอนาคต ทั้งนี้คาดว่าชุดวัดสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กช่วงชั้นนี้ จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน จากนั้นจะเริ่มต้นสร้างกรอบสมรรถะผู้เรียนประถมศึกษาตอนต้น เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการในระดับต่อไป”รศ.ทัศนากล่าว
ด้าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.กล่าวถึงกระแสข่าวการยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระฯ ว่า ที่ประชุม กอปศ.ขอทุบโต๊ะและพูดตรง ๆ ว่า การเรียน 8 กลุ่มสาระฯ ไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ต่อเด็ก เพราะทำให้เด็กเกิดการแข่งขัน ต้องไปกวดวิชา เพื่อสอบเข้า ป.1 ทั้งที่การเรียนของเด็กในช่วงวัยนี้ต้องเป็นการเรียนรู้การใช้ชีวิต เพื่ออนาคตพร้อมกับพัฒนาชีวิตของตัวเอง ดังนั้นตนจึงบอกได้เลยว่าในระดับประถมศึกษาตอนต้นไม่ควรมีการเรียน 8 กลุ่มสาระฯ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561