คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
วันนี้ ( 12 ก.ย. 60 ) เวลา 10.40 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติไว้โดยสรุปว่า ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านให้เบิกจ่ายได้อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งอัตราค่าเช่าบ้านที่กำหนดให้มีอัตราเริ่มต้นไม่เกินเดือนละ 800 บาท ถึงอัตราค่าเช่าบ้านสูงสุดในอัตราไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท นั้น ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ โดยมิได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลานาน จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าเช่าบ้านให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ 3)ฯ ไม่สอดคล้องกับการปรับปรุงกำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาการเทียบอัตราค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านให้กับข้าราชการประเภทต่าง ๆ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
2. กำหนดให้ข้าราชการซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการอยู่แล้วภายหลังได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ให้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้านอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระรากฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
3. กำหนดให้ในกรณีที่ข้าราชการซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
4. กำหนดให้ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการศาลยุติธรรม และข้าราชการธุรการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 7 ตั้งแต่วันที่ข้าราชการแต่ละประเภท ได้ปรับเปลี่ยนการกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งใหม่ เช่นเดียวกับกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งใหม่ของข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
5. กำหนดให้สิทธิการได้รับอัตราค่าเช่าบ้านของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในช่วงที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนภายใต้ กฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553 เป็นต้นไป และกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2554 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ มีผลใช้บังคับ ให้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 7 ตั้งแต่วันที่ กฎ ก.พ.อ. ดังกล่าวใช้บังคับ
6. กำหนดให้สิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านสำหรับข้าราชการตำรวจในแต่ละบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 จนถึงก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้ข้าราชการตำรวจ ผู้นั้นมีสิทธิได้รับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 4 สำหรับข้าราชการตำรวจท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ตามบัญชีเงินเดือนข้าราชการตำรวจพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 แต่ให้นำจำนวนเงินเดือนที่ได้รับมาเทียบอัตราค่าเช่าบ้านกับการปรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจแต่ละบุคคลที่ได้รับเสมือนหนึ่งว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับเงินเดือนตามมาตรา 67 วรรคห้า และมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
7. กำหนดให้สิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านสำหรับข้าราชการทหารในแต่ละบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 จนถึงก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้ข้าราชการทหารผู้นั้น มีสิทธิได้รับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 5 สำหรับข้าราชการทหารท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ตามบัญชีเงินเดือนข้าราชการทหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 แต่ให้นำจำนวนเงินเดือนที่ได้รับมาเทียบอัตราค่าเช่าบ้านกับการปรับเงินเดือนข้าราชการทหารแต่ละบุคคลที่ได้รับเสมือนหนึ่งว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับเงินเดือนตามมาตรา 12 วรรคห้า และมาตรา 12 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2556
8. กำหนดให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ถึง 7 ท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 และให้ใช้บัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ถึง 7 ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้แทน
----------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย วันอังคารที่ 12 กันยายน 2560
รายละเอียดเพิ่มเติม