กกอ. ไม่ปรับเกณฑ์ ครูคืนถิ่น ย้ำ TOEIC 400
เลขาธิการกกอ. ยืนยัน ไม่สามารถปรับเกณฑ์ ครูคืนถิ่น ได้พร้อมย้ำ TOEIC 400 คะแนน คกก.โครงการครูคืนถิ่น พิจารณาหลายรอบ ขณะที่ สช. หนุนทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษ
ดราม่า "#ครูคืนถิ่น" เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเซียล ความคิดเห็นหลากหลาย กรณีผู้ผ่านคัดเลือก “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” หรือ “ครูคืนถิ่น” ปี 2560 ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับลดคะแนนสอบ เช่น TOEIC จาก 400 คะแนน เหลือ 250 คะแนน หรือใช้วิธีการอบรมแทน นั้น
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่าการกำหนดเกณฑ์โครงการครูคืนถิ่นนั้น มีการปรับเปลี่ยนทุกปี เพื่อคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ และการปรับเกณฑ์ปีนี้ มีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะต้องการคนเก่งมาเป็นครู ส่วนการกำหนดเกณฑ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องผ่านจากการสอบข้อสอบกลาง 400 คะแนน ไม่ใช่คะแนนจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
อีกทั้ง คะแนนโทอิค 400 คะแนนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่ามีการพิจารณาหลายรอบแล้ว คงไม่สามารถปรับเกณฑ์ได้ ซึ่งหากปรับได้คงต้องเป็นเกณฑ์ใหม่ในปีถัดไป
ขณะที่ ดร.พะโยม ชิณวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ขณะนี้นวัตกรรมการจัดการศึกษามีความก้าวหน้าไปมาก มีการส่งเสริมการสอนรูปแบบสะเต็มศึกษา ที่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังมีในมิติอื่นๆ อีกมาก เพราะฉะนั้น ความรู้ ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษเป็นอีกเรื่องที่ครูผู้สอนจำเป็นจะต้องมี อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการกำหนดให้ครูที่ผ่านการคัดเลือกโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ ครูคืนถิ่น ปี 2560 จะต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษ เช่น มีคะแนน TOEIC 400 คะแนนนั้น ส่วนตัวมองว่าการทดสอบความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องปลายทาง เพราะประเด็นสำคัญคือ การจัดการศึกษาแต่ต้น โดยส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาในโครงการครูคืนถิ่นได้รับการพัฒนาภาษาอังกฤษ
“ผมมองว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สามารถช่วยสนับสนุนและพัฒนาครูคืนถิ่นได้ เพราะโรงเรียนในสังกัดมีทั้งที่เปิดหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม มินิอิงลิชโปรแกรม รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ ที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น ถ้านิสิต นักศึกษาในโครงการครูคืนถิ่นใช้โอกาสในช่วงฝึกปฏิบัติการสอน มาฝึกสอนที่โรงเรียนเหล่านี้ ก็จะได้ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งทักษะการฟัง การพูด เกิดความคุ้นเคยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นพ.ธีระเกียติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายส่งเสริมเรื่องภาษาอังกฤษ แก่ครูและนักเรียน ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้หารือกับรมว.ศึกษาธิการด้วย ขณะเดียวกัน ในการประชุมสมาคมโรงเรียนเอกชนในวันที่ 17 ก.ค.นี้ จะเสนอให้ร่วมมือกันนำจุดแข็งของแต่ละสมาคมร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพการศึกษา”ดร.พะโยม กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก คม ชัด ลึก 7 ก.ค. 2560
ครูคืนถิ่นต่อรองลดคะแนนสอบTOEIC??
โซเชียลวิจารณ์แซ่ด!! ผู้ผ่านคัดเลือกโครงการครูคืนถิ่น ขอปรับลดคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ หลังเกณฑ์กำหนดให้ต้องทดสอบครั้งแรก
กลายเป็นกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดียทีเดียวในช่วง 1-2 วันนี้ แค่พิมพ์ #ครูคืนถิ่น ความคิดเห็นหลากหลาย กรณีผู้ผ่านคัดเลือก “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” หรือ “ครูคืนถิ่น” ปี 2560 ที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับลดคะแนนสอบ เช่น TOEIC จาก 400 คะแนน เหลือ 250 คะแนน หรือใช้วิธีการอบรมแทน จนเป็นที่วิจารณ์อย่างมาก และไม่เห็นด้วยกับการขอปรับลดคะแนน ไปจนตั้งคำถามถึงคุณภาพของ “ครู”
สำหรับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นโครงการในรูปแบบการประกันการมีงานทำ นิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจะได้ สิทธิบรรจุเป็นข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาตามภูมิลำเนาเดิมของผู้สมัครในสาขาวิชาและพื้นที่ที่มีความต้องการในหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และกรุงเทพมหานคร
โดยครูคืนถิ่น ปี 2560 สำนักงานคณะกรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้ประกาศผลการคัดเลือกไปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2560 มีผู้ผ่านการคัดเลือก 3,792 คน ขณะที่ จำนวนรับที่เตรียมไว้ทั้งสิ้น 5,100 คน แบ่งเป็น สพฐ. 4,830 คน สอศ. 245 คน กศน. 10 คน และกรุงเทพฯ 15 คน
อย่างไรก็ตาม ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เรื่องรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกเข้าร่วมโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ปี 2560 กรณีคัดเลือกนิสิต นักศึกษาครู ชั้นปีที่ 5 ปีการศึกษา 2559 ได้แจ้งเงื่อนไขและคุณสมบัติที่ผู้ผ่านการคัดเลือกทราบและปฏิบัติ ว่า ผู้ผ่านการคัดเลือกโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ เป็นนิสิตนักศึกษาครูหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี ที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2559 ในสาขาวิชาที่กําหนด ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรทุกวิชา ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรในวิชาเอก และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ในวิชาชีพครูตามข้อบังคับของสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดไม่ต่ำกว่า 3.00
ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 หากพ้นระยะเวลาที่กำหด จะถือว่าผู้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติไม่เป็นตามที่กำหนด จะถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
ผู้ที่ผ่านคัดเลือกโครงการฯ จะต้องมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษ ซึ่งได้ให้ตัวเลือกไว้ดังนี้ TOEFL ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 400 คะแนน (paper) หรือไม่ต่ำกว่า 120 (CBT) และไม่ต่ำกว่า 40 (IBT)IELTS ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 3.5 TOEIC ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 400 คะแนนการสอบมาตรฐานอื่นๆ ที่เทียบเท่ากับ TOEFL เช่น CU-TEP
และผลการสอบดังกล่าวต้องไม่เกิน 2 ปี โดยนับถึงวันที่ปิดรับสมัคร ภาายในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 หากพ้นวันที่กำหนดจะถือว่าคุณสมบัติไม่เป็นไปตามประกาศ จะถูกตัดสิทธิ์สมัครเข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เป็นปีแรกที่ โครงการครูคืนถิ่น ปี 2560 กำหนดคุณสมับัติให้ต้องมีผลทดสอบภาษาอังกฤษ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก คมชัดลึก 7 ก.ค. 2560
เชื่อกระแสดราม่า "ครูคืนถิ่นลดสอบTOEIC" เหตุเตรียมตัวไม่ทัน
คณบดีศึกษาฯ มศว. ชี้คะแนนภาษาอังกฤษ 400 ไม่สูง เชื่อคนเก่งมาเป็นครูมากขึ้น ระบุบอกกระทันหัน ไม่แจ้งล่วงหน้า หวั่นครูเตรียมตัวไม่ทัน กลัวคะแนนไม่ถึง แนะเปิดโอกาส
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร และในฐานะ ประธานสภาคณบดีคณะ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) กล่าวถึงกรณี ดราม่า "ครูคืนถิ่น ขอให้ลดคะแนนภาษาอังกฤษ เช่น TOEIC จาก 400 คะแนน เป็น 250 คะแนน ว่า ต้องถามว่าการสอบครูคืนถิ่น ในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นนั้น ต้องการครูคุณภาพ หรือ ครูประเภทไหน ซึ่งหากตามความจริงต้องการครูคุณภาพ และมีการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกอย่างชัดเจน ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนภาษาอังกฤษ 400 นั้น ไม่ใช่คะแนนที่สูง และตอนนี้นักศึกษาที่มาเรียนครู ไม่ใช่เด็กที่ไม่เก่งแล้วมาเรียนครูแต่เป็นเด็กมีความรู้ความสามารถ ซึ่งเชื่อว่ามีครูคืนถิ่นที่สอบได้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด และย่อมแสดงให้เห็นว่ามีคุณภาพ
แต่กระแสดราม่า ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการใช้ปีแรกและไม่แน่ชัดว่ามีการประกาศบอกล่วงหน้าแก่ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีการบอกล่วงหน้าคงมีหลายคนที่อาจเตรียมตัวไม่ทัน เนื่องจากบางคนเรียนเอกที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ก็มีความเชี่ยวชาญวิชาอื่นๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเท่าที่ควร อาจทำให้กังวลว่าตนเองจะสอบได้คะแนนภาษาอังกฤษตามที่กำหนดหรือไม่ ดังนั้น ก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย
"ตอนนี้ทุกคนน่าจะวิตกกังวลว่าคะแนนสอบภาษาอังกฤษของตัวเองจะถึงตามที่เกณฑ์กำหนดหรือไม่ ซึ่งถ้ามองว่า 400 คะแนนสูงไปหรือไม่ หากมีผู้สอบได้ แสดงว่าคะแนนอาจจะไม่สูง แต่หากไม่มีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึง และไม่ได้เป็นการประกาศใช้ล่วงหน้า แถมให้ยื่นทีหลัง หลายคนก็คงไม่มั่นใจ เพราะคงเตรียมตัวไม่ทัน ฉะนั้น คงต้องมาดูว่าเกณฑ์ดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ มีผู้สอบได้คะแนนถึงจำนวนเท่าใด ซึ่งหากมีคะแนนถึง และคะแนนรวมอื่นๆผ่านก็ต้องรับเขาไป รวมถึงถ้ามีอัตราว่างอยู่ และมีผู้ที่สอบคะแนนอื่นๆ ผ่าน ก็ต้องดูคะแนนภาษาอังกฤษว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะรับผู้สมัครอื่นๆ ที่ได้คะแนนภาษาอังกฤษลดต่ำลงมา" รศ.ดร.ประพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ครูไม่ควรจะกลัวข้อสอบ กลัวการสอบ กลัวคะแนน แต่หากเกณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้บอกครูล่วงหน้า บอกกระชั้นชิด กระทันหัน ครูก็คงเตรียมตัวไม่ทัน ก็ต้องให้โอกาสแก่ครูด้วย แต่ถ้าบอกนานแล้ว ก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์ และคะแนนภาษาอังกฤษ 400 คะแนน มีคนที่สอบได้ ต้องดูศักยภาพของตัวเอง พัฒนาตัวเองให้ได้ตามเกณฑ์
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก คมชัดลึก 7 ก.ค. 2560