ปลัดศธ.แจงประเทศต้องการสาขาขาดแคลนสูง/เผยรับพวกไร้ตั๋วปีละประมาณ2หมื่นมาแล้ว
จุฬาฯ เผยโพลสำรวจความเห็นเปิดกว้างสอบครูไม่มีตั๋ว พบมีผู้ไม่เห็นด้วยกว่า 84% แต่เห็นด้วยกรณีพัฒนาศาสตร์ด้านวิชาชีพครูให้แก่ผู้ไร้ตั๋วครู กว่า 83% ส่วนกลุ่มนิสิตนักศึกษาครูปริญญาตรี 36.7% บอกถ้ารู้เป็นอย่างนี้จะไม่มาเรียนครู "ปลัด ศธ." แจงเป็นความจำเป็นของประเทศ ต้องรับครูสาขาขาดแคลนสูง เผยที่ผ่านมาในปี 58-59 เฉลี่ยรับผู้ไม่มีตั๋วมาเป็นครูแล้วปีละประมาณ 2 หมื่นราย
นายศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบสาขาอื่นสามารถเข้าสอบบรรจุครูได้ ทางคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการสอบบรรจุเข้ารับราชการครู โดยสอบถามนิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,346 คน โดยมีคำถามดังต่อไปนี้ 1.เห็นด้วยหรือไม่กับการเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบสาขาอื่นและไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสามารถสอบบรรจุครู พบว่ามีผู้เห็นด้วย 216 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ไม่เห็นด้วย 1,130 คน คิดเป็นร้อยละ 84 2.ระบบการผลิตครูในปัจจุบันยังผลิตครูที่มีคุณภาพดีหรือไม่ เห็นด้วย 676 คน คิดเป็นร้อยละ 50.2 ไม่เห็นด้วย 670 คน คิดเป็นร้อยละ 49.8 3.ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีทางเลือกในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นครูหลายรูปแบบ เห็นด้วย 725 คน คิดเป็นร้อยละ 53.9 ไม่เห็นด้วย 621 คน คิดเป็นร้อยละ 46.1 4.หากอนุญาตให้ผู้ที่จบสาขาอื่นที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสอบบรรจุได้ ต้องมีการพัฒนาศาสตร์ด้านวิชาชีพครูให้แก่คนกลุ่มนี้ด้วย เห็นด้วย 1,117 คน คิดเป็นร้อยละ 83 ไม่เห็นด้วย 229 คน คิดเป็นร้อยละ 17
5.การเรียนรู้ศาสตร์การสอนยังคงมีความสำคัญต่อการประกอบวิชาชีพครู เห็นด้วย 1,319 คน คิดเป็นร้อยละ 98 ไม่เห็นด้วย 27 คน คิดเป็นร้อยละ 2 6.ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ของคนที่จบครูและไม่จบครูน่าจะแตกต่างกัน เห็นด้วย 1,183 คน คิดเป็นร้อยละ 87.9 ไม่เห็นด้วย 163 คน คิดเป็นร้อยละ 12.1 7.ไม่ว่าจะใช้ช่องทางใดในการสอบบรรจุครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพยังเป็นเงื่อนไขสำคัญของผู้สมัครสอบ เห็นด้วย 1,254 คน คิดเป็นร้อยละ 93.2 ไม่เห็นด้วย 92 คน คิดเป็นร้อยละ 6.8
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณสมบัติของครูที่ดีในทัศนะ ผลสำรวจมีผู้ลงคะแนนว่า ครูควรที่จะมีจิตวิญญาณของความเป็นครู 1,230 คน คิดเป็นร้อยละ 91.4 ครูจะต้องมีความสามารถด้านการสอน/การถ่ายทอดความรู้ 1,187 คน คิดเป็นร้อยละ 88.2 ครูต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาที่สอน 1,099 คน คิดเป็นร้อยละ 81.6 ครูต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 275 คน คิดเป็นร้อยละ 20.4 ทั้งนี้ เมื่อถามเฉพาะนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่กำลังเรียนอยู่ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ว่าหากเปิดให้ใครก็ได้มาสอบครูได้ยังคงคิดจะเรียนครูต่อหรือไม่ พบว่า เรียน 371 คน คิดเป็นร้อยละ 43.8 ไม่เรียน 311 คน คิดเป็นร้อยละ 36.7 และไม่แน่ใจ 166 คน คิดเป็นร้อยละ 19.5
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า การดำเนินการเปิดให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาสอบเป็นครูนี้ ถือว่าเป็นความจำเป็นของประเทศ โดยเพราะมีปัญหาขาดครูในสาขาที่ขาดแคลนสูง เช่น การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ครูสาขาวิชากายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก หรือการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้ครูในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ช่างอุตสาหกรรม ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างสำรวจ ประมง ซึ่งวิชาเหล่านี้ไม่มีการจัดสอนหลักสูตร 5 ปี จึงจำเป็นต้องเปิดรับคนนอกซึ่งไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมาสอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคุรุสภาได้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ รวมทั้งผู้ที่มีคุณวุฒิในสาขาวิชาขาดแคลน ซึ่งหน่วยงานหรือสถานศึกษามีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องการ โดยในปี 2558 ได้ออกให้ส่วนราชการต่างๆ จำนวน 21,297 ราย ปี 2559 จำนวน 20,845 ราย และในปี 2560 ณ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2,226 ราย และที่สำคัญ ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีแผนพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่ง ศธ.ต้องจัดการศึกษาเพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 แต่ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ไม่มีการเปิดสอน จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสมัครเป็นครูได้
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า การเปิดกว้างให้ผู้ที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ ครอบคลุมถึงครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันวิทยาลัยชุมชน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสมัครสอบครู แต่หากสอบบรรจุได้ก็ต้องไปพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามระยะเวลาที่คุรุสภากำหนด ดังนั้นเชื่อว่าคนที่จะมาสมัครเป็นครูคงมีจำนวนไม่มาก เพราะไปทำงานบริษัทได้เงินเดือนมากกว่า แต่ ศธ.เองก็จำเป็นต้องเปิดทางให้ผู้ที่จบในสาขาขาดแคลนเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 มีนาคม 2560