รมช.ศธ."ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล" มอบนโยบายโรงเรียนคุณธรรม
เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 101/2560 เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2560 มีประเด็นที่ รมช.ศธ."ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล" มอบนโยบายโรงเรียนคุณธรรม ดังนี้
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า ประเด็นที่จะมาขอความอนุเคราะห์ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบและช่วยกรุณาให้งานเดินหน้า 2 เรื่อง คือ
- การปรับกรอบการทำงานใหม่ของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) : ให้มีศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาคเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นศึกษาธิการจังหวัดและเป็นเลขานุการ กศจ. ด้วยนั้น ทำให้การทำงานที่ผ่านมายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะมีภาระงานจำนวนมาก หลายจังหวัดต้องจัดประชุม กศจ.ในวันหยุดราชการ ดังนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน จะประชุมพิจารณาในเรื่องนี้โดยเร็ว และคาดว่าหากมีความจำเป็นอาจจะต้องใช้มาตรา 44 เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
- โรงเรียนคุณธรรม : จากการที่ได้เดินทางไปพบปะและตรวจเยี่ยมสถานศึกษาต่าง ๆ ในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ทำให้เห็นว่าทุกโรงเรียนได้ปฏิบัติตามแนวทางโรงเรียนคุณธรรมอยู่แล้ว เพราะถือเป็นวาระสำคัญของชาติอันดับแรกที่จะนำพาความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออนาคตของประเทศชาติ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการสืบสานพระราชปณิธานเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จึงขอความอนุเคราะห์ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกท่าน ช่วยกรุณาให้งานนี้เดินหน้า ซึ่งขณะนี้ได้กำหนด "กรอบแนวคิดที่สำคัญของโรงเรียนคุณธรรม 5 ด้าน" ที่มีความเชื่อมโยงกันในทุกมิติ และถือเป็นการสร้างให้นักเรียนมีคุณธรรมนำความรู้ ดังนี้
- ความพอเพียง: ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้จักความพอดีพอเหมาะ และใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย
- ความกตัญญู: เป็นพื้นฐานด้านคุณธรรมของทุกคน และเป็นสัญลักษณ์ของคนดี เราจึงต้องมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือนพระในบ้าน และกตัญญูต่อครูอาจารย์ซึ่งเปรียบเสมือนพระที่โรงเรียน
- ความซื่อสัตย์สุจริตสร้างชาติ: ความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่มีไม่ได้ อีกทั้งการซื่อสัตย์คือการไม่สร้างภาพ ไม่เล่นละครหรือสวมหัวโขน แต่คำพูดหรือการกระทำทุกอย่างควรมาจากใจ
- ความรับผิดชอบ: ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญสัมมาชีพต่อไปในวันข้างหน้า ขอให้ยึดมั่นกฎกติกาในการทำงานอย่างเสมอต้นเสมอปลาย คงเส้นคงวาในความดี ปากตรงกับใจ และอย่าหลงลืมตัว
- คุณธรรมจริยธรรม: การยึดมั่นคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญ และต้องดำรงตนให้เป็นแบบอย่างของสังคม
นอกจากนี้ ได้กำหนด "ตัวชี้วัดโรงเรียนคุณธรรม 7 ข้อ" ดังนี้
- มีอุดมการณ์คุณธรรม ต่อการพัฒนาในโรงเรียนคุณธรรม
- มีกลไกและเครื่องมือในการปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมร่วมกันทั้งโรงเรียน
- มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ มีคุณธรรม จริยธรรม ความพอเพียง ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ สุจริต อดทน และเสียสละในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น
- พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดน้อยลง
- มีกระบวนการมีส่วนร่วม และสร้างความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้องในโรงเรียน
- มีองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านคุณธรรม และบูรณาการร่วมกันไว้ในชั้นเรียน
- เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านคุณธรรม
อย่างไรก็ตาม กรอบแนวคิดและตัวชี้วัดโรงเรียนคุณธรรม อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมถ้อยคำบางส่วนให้มีความสมบูรณ์
ขอบคุณที่มาและอ่านประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560