ห่วงตำแหน่งหายกลบปฏิรูปเรียนรู้ แฉคนในทำเองไม่มีทางสำเร็จ
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยสลายองค์กรหลักและกลับเป็นกรมตามเดิม โดยให้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เป็นประธานคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้าง ศธ. นั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเป็นอนุกรรมการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... และอนุกรรมการร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ซึ่งได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วเกือบร้อยละ 80 ดังนั้น ขณะนี้จึงนับได้ว่าถึงเวลาที่เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับกฎหมายและแผนการศึกษาชาติที่กำลังปรับปรุงอยู่ ซึ่งเน้นที่ภารกิจ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มภารกิจหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มผู้กำหนดนโยบายและแผนการศึกษา อาทิ สภาการศึกษา 2.กลุ่มผู้กำกับการศึกษา ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.), 3.กลุ่มผู้จัดการศึกษา ได้แก่ ภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น วัด มูลนิธิ ภาคเอกชน, 4.กลุ่มผู้สนับสนุนการจัดการศึกษา อาทิ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ 5.กลุ่มผู้สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากร อาทิ สำนักงบประมาณ กองทุนต่างๆ เป็นต้น
Advertisement
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาพูดคุยกันถึงเรื่องโครงสร้างแต่สิ่งที่พบขณะนี้คือ ข้าราชการศธ.เกิดภาวะแตกตื่น หรือตื่นตระหนกกับโครงสร้างใหม่ ทำให้ทุกคนคิดถึงแต่ตัวเองโดยเฉพาะเรื่องตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาเรื่อง อื่นๆ เงียบหายไป เช่น การปฏิรูปการเรียนรู้ คุณภาพและการประเมิน ที่สำคัญ การให้ข้าราชการประจำปรับโครงสร้างตัวเอง จะไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ควรให้หน่วยงานหรือคนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้จัดโครงสร้างและให้ข้าราชการประจำเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558