การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ใกล้ความจริง ดูผลงานเชิงประจักษ์ ไม่เน้นเอกสารกองโต มีเวลาสะสมผลงานเรื่อยๆ ไม่เบียดบังเวลาสอน ไม่ต้องทิ้งห้องเรียน-เด็ก
วันนี้(11 พ.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางานเลื่อนทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะครูใหม่ แนวใหม่ (Performance Agreement : PA)ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต่อไปการทำเอกสารรวบรวมผลงานครูเพื่อขอวิทยฐานะ ควรให้ครูทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่เริ่มเป็นครู ซึ่งครูที่จะขอวิทยฐานะขั้นต้น คือชำนาญการ จะมีเวลารวบรวมผลงานถึง8ปีโดยภายใน8ปีนั้นหากสามารถสร้างผลงานเชิงประจักษ์ก็สามารถยื่นขอวิทยฐานะได้ ยกตัวอย่าง เช่น หากจะใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ในการยื่น เด็กที่ครูคนนั้นๆสอนต้องได้คะแนนโอเน็ตอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย หรือ Mean และหากจะขอระดับชำนาญการพิเศษ ผลคะแนนโอเน็ตต้องสูงกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จะต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่าเด็กมีคุณภาพที่ดี และถ้าเป็นวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งเป็นวิทยฐานสูงสุดต้องมีผลงานที่เป็นนวัตกรรม หรืองานวิจัยใหม่ๆด้วย เป็นต้น
Advertisement
“ทั้งหมดนี้เป็นข้อตกลงในหลักการเบื้องต้น ซึ่งคณะทำงานต้องไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่า ในการขอวิทยฐานะแต่ละระดับ จะต้องใช้ปริมาณผลงานขนาดไหน และใช้ผลงานอะไรบ้างในการขอ และในการยื่นขอวิทยฐานะไม่ต้องทำเอกสารจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา แต่ให้ครูทำรายงานเพียงปีละ2-3หน้าก็พอ ซึ่งจะไม่รบกวนเวลาที่จะจัดการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน ไม่ทิ้งเด็ก และยังทำให้ครูสามารถวางแผนการสอนและการทำงานได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตการเสนอขอวิทยฐานะของครูอาจมีเพียงแนวทางนี้แนวทางเดียวก็ได้”ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ในการเสนอขอวิทยฐานะแนวใหม่ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องเสนอขอด้วยตนเอง อาจจะมีบุคคลอื่น เช่น ผู้บังคับบัญชา นักเรียนเห็นผลงานและเสนอชื่อให้ก็ได้
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2558