ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องทำตลอดเวลา ไม่ควรฝากความหวังการปฏิรูปการศึกษาไว้ที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา แต่ควรให้ความสำคัญกับครูและผู้บริหารโรงเรียน แม้ว่าเราจะมีกฎหมายการศึกษาที่กำหนดให้ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณ แต่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาจะประสบความสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ครูและผู้บริหารโรงเรียน แม้ครูและผู้บริหารจะรู้สึกหวั่นไหวเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีซึ่งนโยบายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เป็นสาเหตุที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการปฏิรูปการศึกษาทำให้เหนื่อย ทุกคนขยันทำงานและเหนื่อย ใช้งบฯ มาก แต่การศึกษาไม่ดีขึ้น เราจึงควรต้องทบทวนคุณภาพการศึกษาใหม่ โดยพิจารณาดัชนีชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่มีจำนวนมากที่เราใช้อยู่เป็นสิ่งที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาจริงหรือไม่ อาจเป็นหลุมพรางหรือกับดักการศึกษาหรือไม่ สิ่งที่ตนอยากเสนอคือ อยากให้ครูมีกรอบความคิด หรือ mindset ที่ถูกต้องในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้จะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษาไปอย่างไร แต่ครูและผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องมีกรอบความคิดที่ถูกต้อง เช่น มองนักเรียนทุกคนสามารถ พัฒนาได้ หรือหลักสูตรการเรียนการสอน สามารถทำอะไรได้หลายอย่างในหลักสูตรเดิมที่มีอยู่
“ผมอยากเชิญชวนครูทุกคนให้คิดว่า ครูพึ่งตนเองได้ในการปฏิรูปการศึกษา โดยมองว่าการปฏิรูปการศึกษาส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ครูจึงมองอนาคตของนักเรียนให้ไกล อาจถึง 15 ปี ว่า นักเรียนในวันนี้อนาคตจะมีสมรรถนะใดที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต และพยายามทำให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียน” ศ.ดร.พฤทธิ์กล่าว.
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 24 ตุลาคม 2558