สวัสดิการสังคม ในความหมายแคบ หมายถึง การให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกของประชาสังคมที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะเลี้ยงชีพตนเองได้ ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือตลอดชีวิต ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการพยุงฐานะ พัฒนาศักยภาพ และสร้างโอกาสให้มีงานทำ
และในความหมายกว้าง สวัสดิการสังคม (Social Welfare) หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรม และให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ กีฬาและนันทนาการ กระบวนการยุติกรรม และบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ
จากคำนิยาม(ในความหมายกว้าง) แสดงให้เห็นถึงระดับของการจัดสวัสดิการ ว่ามีหลายระดับ จากระดับป้องกัน แก้ไข พัฒนา และส่งเสริม ดังนั้น การจัดสวัสดิการจึงมีความรอบด้าน หลากหลาย ทำให้บริการที่จัดให้มีนั้น ต้องมีอย่าง ครบวงจร หรือเป็นองค์รวม (Holistic) และเป็นรูปธรรมนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
สวัสดิการสังคมมิได้จำกัดแคบอยู่เพียงเรื่องการสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลืออุ้มชูคนยากไร้ คนที่ประสบความเดือดร้อนเท่านั้น การสังคมสงเคราะห์ การช่วยเหลือเกี่ยวกับความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานสวัสดิการสังคมเท่านั้น
ส่วนที่สำคัญยิ่งกว่างานสังคมสงเคราะห์ก็คือ งานสร้างความมั่นคงในสังคม อันเป็นแก่นหลักของสวัสดิการสังคม สังคมจะสงบอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยเพราะมีสวัสดิการสังคมที่ดี งานสวัสดิการสังคมต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานะทางเศรษฐกิจของพลเมืองอย่างแท้จริง งานสวัสดิการสังคมมิใช่งานบุญเทกระจาด หากแต่เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองมีฐานะเศรษฐกิจดีพอที่จะเอื้ออาทรทำบุญให้กับผู้อื่นได้ด้วย ปัจจัยพื้นฐานสำหรับที่สำคัญคือเศรษฐทรัพย์ของแผ่นดิน ?
รัฐที่จะสร้างสวัสดิการสังคมให้ดีได้ จำเป็นต้องสร้างเศรษฐทรัพย์ของรัฐให้มั่งมี การที่รัฐบาลมีนโยบายสวัสดิการสังคมที่ดี ๆ นั้น เป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลก็ต้องประเมินเศรษฐทรัพย์ของแผ่นดินอย่างถูกต้อง ดำเนินการอย่างสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าไปติดกับดัก ประชานิยม ที่ใช้จ่ายเกินตัว เป็นอันขาด ฐานะรายได้ประเทศไทยตามระบบภาษีปัจจุบันของไทย รัฐไทยไม่อาจจะแบกรับสวัสดิการสังคมทั้งหมดโดย ให้เปล่า แก่พลเมืองได้ ในชั้นต้นเริ่มแรก หลักการที่ควรใช้คือ พลเมืองรับผิดชอบจ่าย ประกัน ส่วนหนึ่ง คล้าย ๆ ประกันสังคม ที่พนักงานร่วมจ่ายเพื่อตัวเองด้วย และรัฐกับนายจ้างจ่ายสมทบเงินประกันสังคมส่วนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการที่ดีจะเกิดผลเป็นจริงได้นั้น มิใช่มีแต่แนวทางใช้นโยบายเก็บภาษีในอัตราสูงมาก เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ดี อย่างเช่นในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียทางเดียวเท่านั้น
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 21 ตุลาคม 2558