"ฑิตติมา" เผย กยศ.ยกร่าง พ.ร.บ.ติดตามหนี้ สามารถสั่งให้นายจ้างหักเงินเดือนผู้กู้ และมีอำนาจเข้าถึงฐานข้อมูลผู้กู้ได้ ขณะเดียวกันเตรียมทำ MOU กับองค์กรต่างๆ เพื่อหักเงินบุคลากรในสังกัดที่เคยเป็นผู้กู้ กยศ. เล็งปี 61 ผู้กู้ทั้งหมดอยู่ในบัญชีเครดิตบูโร วอนเร่งชำระเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันผู้กู้ กยศ.จำนวนมากไม่ดำเนินการแจ้งที่อยู่ที่เป็นปัจจุบัน ดังนั้น กยศ.จึงปรับยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการศึกษาให้มีอำนาจเข้าถึงฐานข้อมูลของผู้กู้ และสามารถสั่งให้นายจ้างหักเงินเดือนของบุคลากรในหน่วยงานได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้ความเห็นชอบ ทั้งนี้หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับการเห็นชอบและมีการประกาศใช้ ก็จะสามารถบังคับให้มีการชำระหนี้ กยศ.ได้สะดวกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้กู้ส่วนใหญ่คิดว่าการที่ไม่แจ้งที่อยู่ปัจจุบัน หรือไม่ติดต่อชำระหนี้กับทาง กยศ. เป็นการกระทำที่จะสามารถทำให้หนี้ที่กู้กับ กยศ.หายไป ตนของยืนยันว่าหนี้ดังกล่าวไม่มีทางหักลบไป และเมื่อถึงเวลาที่ต้องดำเนินการฟ้องคือ เมื่อจบการศึกษา กยศ. จะเว้นระยะให้ไม่ต้องชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี และจะต้องชำระหนี้หลังจากนั้นเป็นระยะเวลา 15 ปี ชำระเป็นรายปี แต่หากไม่ดำเนินการชำระหนี้ติดต่อกันในช่วง 1-4 ปีแรก กยศ.จะบอกเลิกสัญญาและขอให้มาชำระหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้ก็จะดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งทาง กยศ.จะตรวจสอบรายชื่อในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี หากผู้ที่ถูกฟ้องไม่มารับฟังการพิพากษา ศาลก็สามารถพิพากษาถึงที่สิ้นสุดฝ่ายเดียวได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการส่งเรื่องให้ทางกรมบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการยึดทรัพย์
น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เป้าหมายของ กยศ.คือเร่งดำเนินการให้ผู้กู้มาชำระหนี้เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับมาตรการติดตามหนี้ในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.การส่งใบแจ้งหนี้ 2.ส่งหนังสือติดตามหนี้ 3.มีการจ้างบริษัทติดตามหนี้ ซึ่งการดำเนินการติดตามหนี้จะเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด เพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ ให้ชำระหนี้ก่อนที่จะถูกดำเนินการฟ้อง นอกจากนี้ กยศ.ยังรณรงค์ให้ผู้กู้สะดวกให้การชำระหนี้ จึงเปิดช่องทางการชำระหนี้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยสามารถชำระผ่านธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ และ กยศ.ยังเดินหน้าทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรนายจ้างให้หักเงินเดือนบุคลากรที่เป็นผู้กู้ โดยมีมาตรการจูงใจต่างๆ อย่างเช่น ในกรณียินยอมให้หักเงินเดือน ในส่วนของผู้ที่ที่ไม่ค้างชำระเลย ในกลุ่มของลูกหนี้ทั่วไปและกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จะได้รับเงินตอบแทน เมื่อชำระเสร็จสิ้นคิดเป็นร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือนับจากวันที่เข้าโครงการ เป็นต้น
โดยขณะนี้ กยศ.ได้มีหน่วยงานตัวอย่างที่ทำการบันทึกข้อตกลงแล้ว ได้แก่ กรมบัญชีการ ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นตัวอย่างแก่มหาวิทยาลัย และบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ที่มีพนักงานกว่า 400 คน สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ หากหน่วยงานได้สนใจที่จะเข้าร่วมบันทึกข้อตกลง สามารถติดต่อมาที่ กยศ.โดยตรงได้ทันที โดยจะเปิดการบันทึกข้อตกลงร่วมถึงกันยายน 2559
ผู้จัดการ กยศ.กล่าวต่อว่า และในปี 2561 ทาง กยศ.มีนโยบายที่ก็จะนำบัญชีของผู้กู้ทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ดังนั้นเมื่อถึงปี 2561 สถานะบัญชีของผู้กู้เป็นอย่างไร ก็จะขึ้นเป็นประวัติของเครดิตบูโรไว้ จึงขอความร่วมมือผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ให้เร่งดำเนินการติดต่อมายัง กยศ. เพื่อหาหนทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
"หลังจากเราติดตามหนี้เข้มข้นในปี 2558 มีอัตราการชำระหนี้สูงถึง 17,000 ล้านบาท ซึ่งต่างจากปี 2557 ถึง 4,000 ล้านบาทสำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการชำระหนี้ การประนอมหนี้ การติดตามยอดชำระหนี้ ก็สามารถติดต่อมายัง กยศ.ได้ทันที" ผู้จัดการ กยศ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 19 ตุลาคม 2558