รมว.ศึกษาธิการ แนะ 3 นโยบาย แก่ สกสค. "งบบริหาร-กู้ภาพลักษณ์-ช่วยเหลือครู" เร่งปราบบุคคลกระทำทุจริต พร้อมตั้งงบปี 59 หนุน 5 ด้าน ช่วยครูและครอบครัวครู...
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 58 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายแก่ คณะกรรมการและผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน สกสค.) ทั่วประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2558 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยมีนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ พันธกิจ การบริหารจัดการของหน่วยงาน ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการ สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตครู ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการให้บริการ และ ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการ
ในปีงบประมาณ 2559 มีงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 656 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกรอบภารกิจ 5 ด้าน คือ ด้านสวัสดิการ ด้านสวัสดิภาพ ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ด้านยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษา และด้านสนับสนุนการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสวัสดิภาพ มีกิจการต่างๆ คือ กิจการ ช.พ.ค. (การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา) มีสมาชิกจำนวน 996,999 คน กิจการ ช.พ.ส. (การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่กรรม) มีสมาชิกจำนวน 400,340 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2558) อีกทั้งโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. มี 7 โครงการ กับธนาคารออมสิน ยกเว้นปีแรกที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ปัจจุบัน สำนักงาน สกสค.ได้ปรับลดค่าบริหารจัดการ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. จากเดิมที่กำหนดไว้ร้อยละ 4 คงเหลือร้อยละ 3 ส่งผลให้สมาชิกได้รับเงินสงเคราะห์รายศพเพิ่มขึ้นอีกครอบครัวละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันสมาชิก ช.พ.ค. ที่เสียชีวิต จะจ่ายให้ครอบครัวละ 200,000 บาท และ ช.พ.ส. ครอบครัวละ 100,000 บาท
พลเอกดาว์พงษ์ ฝากแนวทางการทำงานให้สำนักงาน สกสค. ใน 3 ประเด็น คือ งบประมาณในการบริหารจัดการของสำนักงาน สกสค. ต้องทบทวนการทำงานตามภารกิจให้ครบทุกข้อ ไม่มุ่งเน้นเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการปล่อยกู้เท่านั้น โดยให้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ขั้นต่ำในการอนุมัติเงินกู้ครูในปัจจุบันว่า มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจจะต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ปล่อยเงินกู้ครูมาหารือร่วมกันต่อไปด้วย เพื่อไม่ต้องการให้ครูมีภาระหนี้สินมากจนเกินไป หรือสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงระบบการตรวจสอบ (Re-Check) หลักฐานในการกู้เงิน โดยเฉพาะสลิปเงินเดือนที่ห้ามมีการปลอมแปลง นอกจากนี้ขอให้สำนักงาน สกสค.ส่งสถานะทางการเงินในกิจการต่างๆ ให้รับทราบต่อไปด้วย
ขอให้ช่วยกันกู้ภาพลักษณ์ของสำนักงาน สกสค. จากปัญหาการทุจริตในองค์กร ซึ่งย้ำว่าจะไม่ละเว้นต่อผู้ที่กระทำความผิดแม้แต่คนเดียว โดยจะดำเนินคดีทั้งคดีทางแพ่งและคดีอาญา และจากนี้ไปขอให้ทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อให้เป็นองค์กรที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ตามปณิธานในการทำงาน คือ "ครอบครัวครู ... เราดูแล" และการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษา จากการลงพื้นที่พบว่า ครูอัตราจ้างในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ที่จ้างโดยงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อครบสัญญาจ้าง 1 ปีแล้ว หากจะจ้างต่อในสัญญาใหม่ กว่าจะได้รับเงินตกเบิกจะใช้เวลานานกว่า 4-5 เดือน ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนแต่ละแห่งต้องหาเงินส่วนตัวจ่ายให้ส่วนหนึ่งไปก่อน จึงฝากให้สำนักงาน สกสค. พิจารณาให้มีเงินสวัสดิการก้อนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือครูกลุ่มนี้ ซึ่งการทำหน้าที่แบบนี้ถือว่า เป็นการดูแลชีวิตครูอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครูหรือครูอัตราจ้างก็ตาม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารสำนักงาน สกสค. จังหวัดต่างๆ ว่า ดีใจที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะต้องเร่งกู้ภาพลักษณ์ของสำนักงาน สกสค. ให้ได้ภายในปี 2559 ซึ่งจะไม่ปล่อยให้คนที่กระทำทุจริต คอยสูบองค์กรได้มีที่ยืนอีกต่อไป ย้ำด้วยว่ามีความตั้งใจจริงที่จะช่วยกันทำงานเพื่อองค์กรนี้ รวมทั้งองค์การค้าของ สกสค. ที่ขอให้บริหารงานให้สามารถทำกำไรให้เกิดขึ้นได้ภายในปีหน้า
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 ตุลาคม 2558