"สสค."เปิดเวทีพูดคุยถึงทิศทางการจัดการศึกษาโลก 15 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ-ประชากรเรียนรู้ตลอดชีวิต-เข้าถึงกลุ่มด้อยโอกาส ด้าน "ยูนิเซฟ" ระบุการจัดการศึกษาไทย ต้องออกแบบให้เยาวชนมีทักษะที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนาวิชาการนานาชาติ "ทิศทางการจัดการศึกษาโลก สู่เป้าหมายการศึกษาปี 2030" โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ เข้าร่วมประชุม
นางเอพริล โกลเด้น เจ้าหน้าที่ภาคีสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานกองทุนการศึกษาโลก กล่าวถึงทิศทางการจัดการศึกษาโลกใน 15 ปีข้างหน้าว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ที่ผู้นำ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมกันลงมติ ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติสมัยที่ 70 เมื่อเดือน ก.ย.58 ที่ผ่านมา ซึ่งทิศทางใหม่ของการจัดการศึกษา คือการเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพและเรียนรู้ตลอดชีวิต จากเดิมที่เน้นสร้างโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียน จึงมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยพยายามเข้าถึงเด็กทุกกลุ่มที่ด้อยโอกาส ปัญหาความเท่าเทียมของหญิงและชายในการเข้าถึงการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพโดยเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลถึงทักษะการทำงานที่ภาคเอกชนต้องการ รวมถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการอ่านออกเขียนได้และการขาดทักษะใหม่ๆที่ตลาดต้องการให้กลับเข้ามาศึกษาต่อเพื่อให้เกิดการทักษะเพื่อการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง
"การมีระบบการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดระบบการจัดสรรงบฯ ที่มีประสิทธิภาพไม่สูญเปล่า สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายด้านการศึกษา ที่ตรงกับความต้องการของสังคมเศรษฐกิจ และการลดปัญหาช่องว่างการจัดการศึกษาของโลก ให้แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนอีกกว่า 124 ล้านคนทั่วโลก ที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ สำนักงานกองทุนการศึกษาโลก จึงมีบทบาททั้งการสนับสนุนนวัตกรรมความรู้และงบฯ ให้แก่ประเทศต่างๆ โดยมีเป้าหมายระดมทุนช่วยเหลือจากรัฐบาล ประเทศและองค์กรต่างๆในรูปแบบหุ้นส่วนการทำงาน จำนวน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 ล้านล้านบาททุกปี ตลอด 15 ปีข้างหน้า"นางเอพริล กล่าว
ขณะที่นายฮิวส์ เดลานี ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการจัดการศึกษาของไทยต้องดูว่า ระบบการศึกษามีส่วนพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต ทั้งทักษะการสื่อสาร การแสดงออก จึงต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายด้านการศึกษา
จากนั้นผู้แทนองค์การยูเนสโก ยังตอกย้ำว่าที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ที่ลงทุนด้านงบประมาณการศึกษา มากกว่า 20% ของงบประมาณแผ่นดิน และถือว่าสูงอันดับต้นของโลก แต่ยังเป็นการลงทุนที่ขาดประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับผลของผู้เรียน ไทยจึงควรพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งบฯ ด้านการศึกษา ด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระในการสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายและการจัดสรรงบฯ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตามรัฐมนตรี
นางเอพริล ระบุว่า ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้เงินถึง 20-25% ของงบประมาณแผ่นดิน เพื่อการศึกษา และมีปัญหาประสิทธิภาพเพราะขาดข้อมูลและระบบการจัดเก็บข้อมูล กองทุนการศึกษาโลก จึงได้สนับสนุนโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในภาคีการทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเรื่องการเก็บข้อมูลงบประมาณที่มีคุณภาพ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถวิเคราะห์การใช้งบฯ อะไรที่ลงทุนแล้วได้ผล-ไม่ได้ผล
ส่วนกระบวนการนโยบายที่ขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีด้านการศึกษาบ่อยครั้ง ก็เป็นปัญหาในหลายประเทศ แต่ยุทธศาสตร์การทำงาน ที่ดีต้องเน้นที่เจ้าหน้าที่ประจำของรัฐในระดับกระทรวง เพื่อเป็นผู้ประสานความร่วมมือให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานด้านการศึกษาระดับประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ตัวแทนจากกระทรวงเท่านั้น แต่รวมถึงทุกภาคส่วนที่อยู่นอกภาคการศึกษา เช่น องค์กรระหว่างประเทศ สมาคมครูอาจารย์ รวมถึงผู้ประกอบการ องค์กรประสานงานระดับประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายกระทรวงที่มีบทบาทในการวางแผนการศึกษาชาติ
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวว่า ไทยยังมีปัญหาในกลุ่มชาวไทยภูเขา ลูกแรงงานต่างด้าวที่เรายังต้องพึ่งพาเขา หรือลูกแรงงานที่ต้องย้ายถิ่นตามพ่อแม่ที่ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ทั้งกัมพูชาและเมียนมาร์ ซึ่งกองทุนการศึกษาโลก อาจมีส่วนช่วยในส่วนนี้รวมถึงการทำงานร่วมกันต่อไปในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประสบการณ์ของกองทุนที่ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการยกระดับประสิทธิภาพการจัดสรรงบฯ การศึกษา
"ทุกวันนี้เราจัดสรรงบฯแบบอุปทาน และจ่ายเงินถึง 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่ค่อยได้ผล สิ่งที่เราต้องการสนับสนุนจึงไม่ใช่เรื่องเงินทุน แต่ต้องการองค์ความรู้เชิงระบบและประสบการณ์ นโยบายเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ จึงควรมีคณะทำงานที่จะร่วมมือกัน โดยมี สสค.เป็นผู้ประสาน เป็นหน่วยงานเล็กแต่สามารถเคลื่อนที่เร็ว เป็นหน่วยประสานยุทธศาสตร์ ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการศึกษาทุกฝ่ายทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ" ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 15 ตุลาคม 2558