ว่าที่เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ เล็งไขปัญหาหนี้สินครู พุ่งเป้าหยุดระบบคนค้ำ-ตัดวงจรก่อหนี้ใหม่ ด้าน “สมศักดิ์” แนะกระทรวงศึกษาธิการวิจัยเจาะลึกหนี้สินครูรายคน พร้อมจัดกลุ่มสางปัญหา
จากปัญหาหนี้สินครู ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตครู และการจัดการเรียนการสอนนั้น วันนี้ (28 ก.ย.) นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ในฐานะว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนจะเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ. อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ซึ่ง สพฐ.มีครูในสังกัดจำนวนมาก การแก้ไขปัญหาหนี้สินคงต้องหารือกันว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการสร้างระบบคิด ให้ครูสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง ขณะเดียวกันต้องหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า สำหรับครูที่มีหนี้สินอยู่แล้ว จะหามาตรการลดการกู้ยืมของครูให้น้อยลงได้อย่างไร เพราะปัจจุบันมีหลายโครงการให้ครูกู้ โดยกู้หนี้ใหม่มากลบหนี้เก่า แต่ก็ไม่สามารถล้างหนี้ได้ กลายเป็นเพิ่มหนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบการค้ำประกันการกู้ยืม โดยให้เพื่อนเป็นผู้ค้ำประกันเป็นกลุ่ม หรือ ค้ำเป็นคู่ ซึ่งหากมีใครคนใดคนหนึ่งไม่จ่าย หรือ เสียชีวิต คนที่ยังอยู่ต้องเดือดร้อนและมีปัญหาเป็นลูกโซ่ เพราะต้องรับภาระการชำระหนี้แทน ซึ่งเราจะต้องหาวิธีตัดวงจรเหล่านี้
ด้าน นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภา การศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นจริง จึงจะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำวิจัย และได้ตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ผู้ตอบไม่อยากตอบ ซึ่งข้อมูลที่อยู่ก็เป็นข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น ศธ. ควรให้หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับครูสำรวจว่า มีครูเป็นหนี้กี่คน ปริมาณหนี้เท่าไหร่ เป็นหนี้จากเรื่องอะไร เช่น ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การดื่มสุรา การพนัน หรืออื่นๆ ซึ่งผู้สำรวจที่ใกล้ชิดกับครูจะรู้ดี เมื่อได้ข้อมูลแล้วการช่วยเหลือก็ต้องแยกกลุ่มตามประเภทหนี้ว่าจะช่วยเหลือ หรือผ่อนปรนในเรื่องอะไร เพราะถ้าช่วยแบบปูพรมคนที่เอาไปฟุ่มเฟือย หรือดื่มสุรา เล่นพนันก็จะได้ใจ และก็ขยายหนี้แบบไม่มีที่สิ้นสุด.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 กันยายน 2558