"ดาว์พงษ์" ตั้งคณะทำงานทบทวนเงื่อนไขคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการทุนโอดอส ชี้เป็นโครงการที่ดีลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ที่ผ่านมากติกาผิดเพี้ยน สงสัยทำไมลูกคนรวยแย่งโอกาสคนจน
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยโครงการฯนี้ว่า ภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 ทำได้ดี เด็กยากจนได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้น และทำให้ได้คนที่มีคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งตนก็มองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีช่วยให้เด็กด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม แต่ที่ผ่านมาพบว่า เงื่อนไขของโครงการยังมีช่องโหว่ในการคัดเลือกเด็ก โดยประเด็นที่พูดถึงกันมาก คือ การเปิดโอกาสให้เด็กที่ครอบครัวมีรายได้สูงเข้ามาร่วมโครงการด้วย เป็นการเบียดโอกาสของเด็กท้องถิ่น ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อทบทวนเงื่อนไขของโครงการให้มีความชัดเจนมากขึ้น
“ผมต้องการให้มีการทบทวนเงื่อนไขการคัดเลือกเด็กเข้าร่วมโครงการให้มีความชัดเจน เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการ คือ การให้เด็กท้องถิ่นได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขไม่ชัดเจน ระบบกติกาผิดเพี้ยนไปหมดจึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กยังไม่ชัดเจนตามไปด้วย ดังนั้นเราต้องทำให้รัฐบาลเห็นประโยชน์จากโครงการนี้ก่อนถึงจะบอกได้ว่าจะเดินหน้ารับเด็กรุ่นต่อไปหรือไม่ ส่วนโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นั้นก็จะผลักดันเช่นกัน แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าสามารถเชื่อมโยงกับโครงการนี้ได้หรือไม่ ขอย้ำว่าผมจะทำให้เด็กได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดแน่นอน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 29,000 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 3,093คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 2 รุ่น ดังนี้ รุ่นที่ 1 จำนวน 921 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 915 คน โดยผู้ที่จบการศึกษา กลับมาทำงาน ภาคเอกชน 73.7% รับราชการ 11.93% เรียนต่อ 10.73%ธุรกิจส่วนตัว 1.4% ทำงานรัฐวิสาหกิจ 1.2% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งเป็นรุ่น 3 จำนวน 689 คน รุ่น 4 จำนวน 568คน รวม 1,257คน “
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กันยายน 2558