พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอกณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมรับฟังข้อสรุปจากการประชุมสัมมนาการกำหนดแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2558
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ได้มอบให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษาใน 5 ประเด็น ที่จะช่วยเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาระบบบริหารงานให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1) การแก้ปัญหาทุจริตในการโยกย้ายครูเขตพื้นที่การศึกษาและการจัดซื้อจัดจ้าง
- สร้างคนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีความละอายเกรงกลัวต่อการกระทำผิดทุกรูปแบบ นอกจากจะสร้างเด็กให้เป็นคนดีแล้ว ครูต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้เด็กด้วย
- มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่รองรับจากส่วนกลาง มีองค์คณะบุคคลที่ถ่วงดุลอำนาจอย่างแท้จริง
- ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่การศึกษา ในเรื่องระเบียบ กฎเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง และมีการตรวจสอบที่เป็นระบบ
- มีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด เพื่อสร้างให้เกิดความเกรงกลัว
- สร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ
2) การขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
- การสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และผู้ปกครอง โดยมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นประธาน
- ตั้งคณะทำงานบูรณาการหลักสูตรและเนื้อหา แต่ละกลุ่มสาระในทุกระดับชั้น
- กำหนดแนวทางจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
- กำหนดแนวทางการวัดและประเมินผล
- กำหนดแนวทางการนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผล
- มีระบบวิจัย รายงาน ปรับปรุง และพัฒนางาน
- สื่อสารให้ผู้บริหารรับทราบนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทำให้ครูเข้าใจวิชาการ และรู้บทบาทของตัวเอง
3) การมอบหมายงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ภาระงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องมอบหมายตามกรอบภารกิจ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความรู้ความสามารถ ความถนัด มีคุณธรรมจริยธรรม ความสามารถในการตัดสินใจ การมุ่งประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อประชาชน ตลอดจนคำนึงถึงมาตรฐานตำแหน่ง การทำงานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ และวุฒิภาวะ
- ควรมีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจำนวนที่เหมาะสมอย่างน้อย 3 คน
- ควรแบ่งภาระงานให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ งานในหน้าที่ งานเชิงพื้นที่ และงานตามนโยบาย เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ
- การมอบหมายงานให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ควรมีเวลาให้รับผิดชอบอย่างน้อยวาระละ 2 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และควรให้อำนาจพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ
4) การลดภาระครู ต้องมีการปรับปรุงการดำเนินงานใน 3 มิติ คือ
- มิติที่ 1 ด้านนโยบาย มีการเกลี่ยอัตรากำลังครูและบุคลากรให้เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ มีการเพิ่มครูธุรการให้ครบทุกโรงเรียน รวมทั้งจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับท้องถิ่นในเรื่องการจ้างครู
- มิติที่ 2 ด้านการเชื่อมโยง มีการลดภาระงานของหน่วยงาน ลดกิจกรรมการประกวด การประเมิน ให้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาครู ปรับระบบรายงานข้อมูลโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กได้พัฒนาและสร้างเครือข่ายการพัฒนา และเพิ่มมาตรการกำกับติดตาม
- มิติที่ 3 ด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ (วิทยฐานะ) ลดการทำผลงานเอกสาร ข้อมูล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับครู สร้างขวัญกำลังใจและความมั่นคงในวิชาชีพแก่ครูธุรการ และสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนชานเมือง ควรขยายฐานงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถพัฒนาตัวเองได้
5) การประเมินผลงานครู สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา
- ผลงานครู ควรมีหลักเกณฑ์ใหม่ เช่น การให้ระดับคะแนนการประเมินตามกลุ่มโรงเรียน-ระดับชาติ พิจารณาอายุราชการและผลงานเชิงประจักษ์ ความรู้เชิงทฤษฎี (PA) โดยคิดคะแนนเฉลี่ยรวมทุกด้าน และควรเขียนระดับวิทยฐานะไว้ในโครงสร้างของตำแหน่ง
- ประเมินสถานศึกษา ควรเป็นการประเมินแบบออนไลน์ ประเมินเอกสาร โดยไม่ต้องไปที่โรงเรียน มีการประเมินตามความสามารถของแต่ละโรงเรียน ซึ่งผู้ประเมินควรมาจากบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
- ประเมินเขตพื้นที่การศึกษา ควรใช้การประเมินมาตรฐานของเขตพื้นที่การศึกษาเพียงอย่างเดียว โดยยกเลิกประเมินคำรับรอง และใช้หลักเกณฑ์ประเมิน 3 เรื่อง คือ ยึดความก้าวหน้า (การพัฒนา) อิงเกณฑ์ (ผ่าน/ไม่ผ่าน) และอิงกลุ่ม (เพื่อดูลำดับ)
นอกจากนี้ นายจำเริญ พรหมมาศ นายกสมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการบริหารงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใน 5 ประเด็น คือ 1) รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรได้วิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกคนก่อนเกษียณอายุราชการ 2) ควรได้สายสะพาย 3) พัฒนาเขตพื้นที่การศึกษาจิ๋วแต่แจ๋ว โดยขยายเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงในกรณีเขตพื้นที่ใหญ่ที่มีโรงเรียนหลายร้อยโรง 4) ปราบปรามทุจริต ตั้ง CEO กระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ 5) สพฐ.ส่งโครงการให้เขตพื้นที่การศึกษามากเกินไป ควรให้เขตพื้นที่การศึกษามีอิสระในการจัดกิจกรรม
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงประเด็นข้อเสนอการบริหารงานของเขตพื้นที่การศึกษาว่า ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ดีและมีประโยชน์ กระทรวงศึกษาธิการจะนำไปผลักดันสู่การปฏิบัติให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก การประเมินผลงานครู สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา การประกวดแข่งขันต่างๆ ที่จะต้องปรับให้ตรงตามทิศทางของนโยบายที่กำลังขับเคลื่อน การสร้างเครือข่ายครูดีที่ได้รับรางวัลยอดครูผู้มีอุดมการณ์
ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริตนั้น ขอให้มองปัญหาโดยละเอียด ดูไปถึงสาเหตุของปัญหา จากนั้นจัดกลุ่มปัญหาและลำดับความสำคัญในแต่ละเรื่อง ตลอดจนแปลงเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป หากทำเช่นนี้ได้ก็จะสามารถแก้ได้ตรงจุด
นอกจากนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อเสนอในการมอบหมายงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะต้องมีการแบ่งงานหลายๆ ลักษณะ ทั้งงานในหน้าที่ งานเชิงพื้นที่ และงานตามนโยบายพิเศษ รวมทั้งการประเมินต่างๆ ซึ่งให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และจะต้องมีการนำข้อมูลจากการประเมินผลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาให้มากขึ้นด้วย
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 24 กันยายน 2558