พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พบปะและให้นโยบายแก่ผู้บริหาร สพฐ. เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุม สพฐ.1
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ.ได้นำเสนอถึงโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานในสังกัด ซึ่งจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้วิสัยทัศน์ "การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากลบนพื้นฐานของความเป็นไทย"
ทั้งนี้ สพฐ.ได้นำเสนอข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสถานศึกษาทั้งสิ้น 30,816 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษา 28,358 แห่ง (ขยายโอกาสทางการศึกษา 7,082 แห่ง) โรงเรียนมัธยมศึกษา 2,361 แห่ง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 51 แห่ง โรงเรียนศึกษาพิเศษ 46 แห่ง และมีศูนย์การศึกษาพิเศษอีก 77 แห่ง
มีจำนวนนักเรียน 7,063,784 คน บุคลากร 418,949 คน แยกเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 417,980 คน (ผู้บริหาร 33,041 คน ครู 369,371 คน บุคลากรทางการศึกษา 15,568 คน) และข้าราชการพลเรือนในส่วนกลาง 969 คน
งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ สพฐ.ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 315,058,342,600 บาท ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้รับจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 319,321,049,500 บาท หรือได้รับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 นอกจากนี้ ยังได้รับงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการอีก 150,000,000 บาท รวมงบประมาณปี พ.ศ.2559 ที่ สพฐ.ได้รับจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 319,471,049,500 บาท
โดย สพฐ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรในปีงบประมาณ 2559 เพื่อใช้จ่ายตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับดังกล่าว 2 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ยุทธศาสตร์เร่งรัดการวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ 2) ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต
สพฐ. ได้กำหนด 12 แผนการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ 2559 ดังนี้
1) แนวทางยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีการปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ และปฏิรูประบบการบริหารจัดการ
2) การพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ เพื่อพลิกโฉมโรงเรียนตามแนวทางการพัฒนาสมอง ที่มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญ คือ Brain-Based Learning การแจกลูกสะกดคำ การสอนเสริม การใช้เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วยระบบ DLTV การจัดทำหนังสือสื่อ/นวัตกรรมการแก้ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยทุกระดับชั้น
3) การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะมีการปรับปรุงทั้งหลักสูตรระยะเร่งด่วน คือ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" และการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน และการปฏิรูปหลักสูตรทั้งระบบ โดยคำนึงถึงกรอบทิศทางการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แผนแม่บทเทคโนโลยี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ผลสอบ O-NET รวมทั้ง NT และ PISA โดยนำงานวิจัยหลักสูตรมาใช้เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาหลักสูตรด้วย
4) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ เพื่อให้นักเรียนมี Career ในแต่ละช่วงชั้น กล่าวคือนักเรียนชั้น ป.1-3 ควรได้รู้จักกับอาชีพต่างๆ, ชั้น ป.4-6 เน้นการสร้างนิสัยการทำงานที่พึงประสงค์, ชั้น ม.1-3 จะจัดการศึกษาให้นักเรียนได้ค้นหาอาชีพตามความต้องการของตนเอง และมีโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาพของงานและการฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้น, ชั้น ม.4-6 นักเรียนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพในอนาคตอย่างมีความหมายและได้รับการฝึกประสบการณ์ทางอาชีพ โดยกำหนดให้มีหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อการมีงานทำ
5) การดูแลเด็กออกกลางคัน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในการศึกษาภาคบังคับ โดยจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเด็กเพื่อติดตามดูแลเด็กถึงการมีงานทำและการเรียนต่อ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสสำหรับเด็กในเขตพื้นที่สูงและชายแดน เพื่อจัดการศึกษาที่เน้นเด็กตกหล่น ตลอดจนสร้างทางเลือกในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างหลากหลาย
6) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ซึ่งปัจจุบันถ่ายทอดสดจากโรงเรียนต้นทาง คือ รร.วังไกลกังวล ทางช่อง DLTV 15 ช่อง และเว็บไซต์ต่างๆ ไปยังโรงเรียนปลายทางขนาดเล็ก 15,369 โรง และระบบการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ที่เน้นการถ่ายทอดห้องเรียน (Classroom) คุณภาพจากโรงเรียนชั้นนำไปสู่โรงเรียนขนาดกลาง 15,000 แห่ง โดยใช้สื่อประกอบการสอน (Resources) ที่ตรงกับหลักสูตร พร้อมทั้งจัดระบบสื่อ (Library) ในการค้นคว้า รวมทั้งการสร้างและพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC) ตลอดจนนำระบบคลังข้อสอบให้ครูนำไปใช้งานได้ (Assessment) โดยทั้งสองระบบคือ DLTV-DLIT จะสอดคล้องเชื่อมโยงกับระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล (DL Thailand)
7) การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยวางแผนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดการประเมินทักษะภาษาอังกฤษ 4 ทักษะและวิธีสอนเพื่อประเมินการใช้ภาษาอังกฤษของครูและนักเรียน โดยเน้นการเรียนภาษาที่เน้นการสื่อสารและกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษและกิจกรรมนอกห้องเรียน รวมทั้งมีการเพิ่มห้องเรียน 2 ภาษา จัดระบบ EP/MEP ตลอดจนการเตรียมความพร้อมปัจจัยสำคัญต่อการนำหลักสูตรไปใช้
8) การผลิตและพัฒนาครู มีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการ เช่น โครงการเพชรในตม โครงการนักศึกษาทุนพระราชทาน ทุน สควค. โครงการคุรุทายาท โครงการพัฒนายกระดับครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษาต่างๆ
9) การดำเนินงานขับเคลื่อนค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ โดยมีการรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การบูรณาการไว้ในหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอน สอดแทรกในกิจกรรมประจำวัน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
10) การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง มีการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนในวิชาดังกล่าว การเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ การพัฒนาชุดความรู้ สื่อ และหลักสูตร
11) การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงการสำคัญเพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม การสร้างโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
12) การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสถานศึกษา ตามโครงการโรงเรียนสุจริต โดยเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พัฒนาศักยภาพครู ผู้บริหารในการป้องกันการทุจริตในโรงเรียน การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และการบูรณาการหลักสูตร "โตไปไม่โกง"
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางนโยบายที่สำคัญ ดังนี้
- การกำหนดวิสัยทัศน์ ควรเชื่อมโยงให้เห็นคุณภาพ และให้ผู้คนและบุคลากรในสังกัดได้รับรู้ทั่วกัน
- สัดส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาและข้าราชการพลเรือนส่วนกลาง ควรพิจารณาว่าสอดคล้องกันหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรส่วนกลาง 969 คน ระหว่างนักวิชาการกับผู้บริหารการศึกษา
- การอบรมผู้บริหารสถานศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ควรกำหนดหลักสูตรการอบรมพัฒนาให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความมั่นใจในตัวเอง ให้ได้ผู้บริหารที่เก่ง มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- งบบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ ในส่วนของ สพฐ. ต้องเข้าใจภารกิจด้านนั้นๆ เพื่อจะได้คิดโครงการได้ และต้องศึกษาด้วยว่าเจ้าของโครงการนั้นๆ คิดอะไร
- การปรับหลักสูตร ให้นำปัญหามาตั้งเพื่อให้ตอบโจทย์
- การตั้งคณะกรรมการปรับหลักสูตร ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่สามารถแก้ไขแต่ละปัญหาได้ โดยจะนัดหารือเรื่องนี้ในเดือนตุลาคมนี้
- เทคนิคการเรียนการสอน ฝากให้ช่วยพิจารณาถึงกลไกสำคัญ เพื่อให้ครูมีเทคนิคการสอนที่ดี น่าสนใจ
- การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการมีงานทำ ฝากให้พิจารณาดูเนื้อหาที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงวัย
- เด็กออกกลางคัน ควรให้เชื่อมต่อข้อมูลกับองค์กรหลักอื่นๆ ด้วย
- ระบบการศึกษาทางไกล และการสอนภาษาอังกฤษ จะนัดหารือเรื่องนี้โดยเฉพาะต่อไป
- ทุนต่างๆ เช่น ทุนคุรุทายาท ทุน ODOS โดยกระทรวงศึกษาธิการจะนำมาจัดประเภทใหม่
- การพัฒนาครู ต้องเป็นโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายสำคัญ เป็นหลักสูตรการอบรมพัฒนาที่ทันสมัย พร้อมทั้งวางแผนการประเมินให้ละเอียดด้วย
- TEPE ควรพิจารณาให้เกิดการเชื่อมโยงกับองค์กรหลักอื่นๆ เช่น สอศ.ด้วย
- ค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้กำหนดกิจกรรมเพื่อให้ครูเห็นภาพ อย่าเพียงดำเนินการแต่กำหนดแนวปฏิบัติไว้เท่านั้น
- การสอนประวัติศาสตร์ ควรเข้าใจเป้าหมายคืออะไร ครูต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมืองนั้น ควรเป็นวิชา "สิทธิและหน้าที่พลเมือง"
- การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ขอให้นำโครงการ "โรงเรียนคุณธรรม" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาขยายผลต่อไปด้วย
- เน้น AAR (After Action Review) ซึ่งเป็นการทบทวนการดำเนินงานหลังจากที่ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ ไปแล้ว โดยกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในเรื่องของการประเมินมากขึ้น
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 23 กันยายน 2558