“กำจร”ยันเงินใช้หนี้แทนครูไม่สูญ มีรายชื่อลูกหนี้ครบ เล็งหาช่องกฎหมายทวงเงินคืน พร้อมรวมข้อมูลเสนอรมว.ศึกษาธิการ ดูแลปัญหาหนี้สินครูในภาพรวม ด้าน “พินิจศํกดิ์” แจงสถานะกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯมั่นคงหลังหยุดจ่ายหนี้แทน
วันนี้ (23 ก.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงปัญหาหนี้สินครูที่มีจำนวนมากขึ้น ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวและเป็นห่วงครู แต่การที่จะตัดสินใจอะไรต้องดูสิ่งที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี อดีตรมว.ศึกษาธิการ ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้มาดู โดยมอบให้รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.นำข้อมูลเรื่องดังกล่าวมารายงาน
ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตนกำลังรวบรวมข้อมูลปัญหาหนี้สินข้ราชการครูรวมถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และโครงการต่างๆในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เพื่อเสนอรมว.ศึกษาธิการ รับทราบและมีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาในภาพรวมใหญ่ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ตนยอมรับว่าครูมีหนี้จำนวนมหาศาลแต่คนที่เป็นปัญหามีเพียงจำนวนหนึ่งไม่ใช่คนที่เป็นหนี้ทั้งหมด ซึ่งการให้ความช่วยเหลือโดยการออกมาตรการต่างๆที่ผ่านมาก็ทำให้ครูที่เป็นหนี้สินส่วนหนึ่ง สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ดังนั้นจากนี้กองทุนต่างๆที่มีอยู่ทั้งในส่วนของก.ค.ศ.และสกสค.คงจะต้องกลับมาดูว่าจะช่วยเหลือครูได้อย่างไร แต่ต้องไม่ใช่การใช้หนี้แทน
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีกองทุนเงินสนับสนุน พิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เพื่อชำระหนี้แทนครู ในกรณีที่ครูค้างชำระหนี้ติดกัน 3 งวดนั้นได้มีการหยุดชำระหนี้แทนไว้แล้ว และจะกลับมาพิจารณาทบทวนทั้งหมดว่าการชำระหนี้แทนเป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารออมสินกับกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯหรือไม่ ซึ่งการที่ทางธนาคารหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้แทนลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องแจ้งสกสค.เป็นวิถีที่ประหลาด มีครูบางส่วนเท่านั้นที่รู้และใช้ช่องทางนี้เบี้ยวหนี้ อย่างไรก็ตาม เงินที่ชำระหนี้แทนไปนั้นไม่ใช่ว่าผู้ที่เบี้ยวหนี้จะหมดหนี้สินแต่ต้องมาเป็นลูกหนี้กับ สกสค.ในส่วนที่จ่ายแทนไป โดยขณะนี้มีเงินที่ชำระหนี้แทนไปทั้งหมดประมาณ 5,000 กว่าล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาตนได้หารือศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯและเห็นว่าต้องมีการทวงเงินที่ชำระหนี้แทนคืนแต่จะด้วยวิธีใด เมื่อไหร่และจะฟ้องร้องอย่างไรก็ต้องไปดูข้อกฎหมายที่ชัดเจนแต่ยังไงก็ต้องทวงคืนแน่นอนเพราะมีรายชื่อลูกหนี้ทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้ผู้ที่เป็นหนี้รู้ตัวเองและรับผิดชอบการชำระหนี้สินด้วย
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.กล่าวถึงสถานภาพของกองทุนเงินสนับสนุน พิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เพื่อชำระหนี้แทนครู ว่า ขอยืนยันว่าขณะนี้สถานภาพกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ยังไม่มีปัญหา เนื่องจากสกสค.ได้หยุดชำระหนี้แทนผู้ที่ค้างการชำระหนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ซึ่งตามปกติสกสค.ต้องส่งเงินกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ สมทบให้แก่ธนาคารออมสินเพิ่มเติมจากที่ธนาคารให้การสนับสนุนมาโดยเฉลี่ยต้องจ่ายเพิ่มเดือนละ 100 ล้านบาท แต่ถ้าหากไม่หยุดและชำระแทนต่อไปเรื่อยๆเงินก็จะหมด อย่างไรก็ตาม สกสค.กำลังประสานกับธนาคารออมสินว่ามาตรการช่วยเหลือปัญหาหนี้สินครูที่ได้ออกไปแล้วมีครูยื่นความจำนงกี่คน และต้องมีการเพิ่มเติมมาตรการใดอีกบ้างซึ่งเชื่อว่าภายในเดือนตุลาคม 2558 นี้ธนาคารออมสินจะสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอมาและเท่าที่ทราบขณะนี้สาขาของธนาคารออมสินบางแห่งได้ร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกันไม่ใช่แข่งกันหาลูกค้าเหมือนที่ผ่านมา เช่น ครูบางคนยื่นกู้ทั้งธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและได้รับอนุมัติทั้ง 2 ส่วน ซึ่งหากยื่นกู้แห่งละ 3 ล้านบาทก็จะได้รับเงินกู้รวม 6 ล้านบาทและจะมีปัญหาในการชำระหนี้คืน เป็นต้น แต่ถ้ามีการทำงานร่วมกันจะได้รู้ว่าผู้กู้ยื่นกู้ไว้ที่ใดบ้าง ทั้งนี้ หนี้สินครูมาจากหลายส่วนตั้งแต่ธนาคารออมสิน ซึ่งมีให้กู้หลายประเภท และธนาคารอื่นๆ เช่น โครงการสินเชื่อธนวัฏ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และแหล่งเงินกู้อื่นๆหรือที่เรียกว่าหนี้นอกระบบ
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 23 กันยายน 2558