ศธ.เดินหน้าหักเงินเดือนคนค้างหนี้ กยศ.-กรอ. ผุดโปรโมชั่น 1 ปีจ่าย 9 เดือน เชื่อช่วยกระตุ้นการชำระหนี้คืน ขณะที่ ทปอ. เผยเน้นย้ำให้เด็กเห็นคุณค่าของเงิน และชำระหนี้คืนมาโดยตลอด ชี้การยึดทรัพย์เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนเบี้ยวหนี้
วันนี้ (17 ก.ย.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใช้มาตรการยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ โดยประเดิมยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมรุ่นปีการศึกษา 2547 ไปแล้วเกือบ 800 ราย และเตรียมยึดทรัพย์ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้อีกกว่า 4,000 รายว่า กยศ. ควรมีมาตรการที่เข้มงวดและเอาจริงตั้งนานแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ก็จะปล่อยปละละเลย ไม่สนใจชำระหนี้คืน เพราะไม่จ่ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของ ศธ. นั้น ขณะนี้ได้นำเรื่องการหักเงินเดือนบุคลากรสังกัด ศธ. ที่ค้างชำระเงินกู้ กยศ. และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าหารือในที่ประชุม ศธ.แล้ว โดยทุกหน่วยงานเห็นชอบที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
“ผมได้ส่งข้อมูลคนใน ศธ. ที่ค้างชำระหนี้ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการแล้ว เพื่อทำข้อตกลงในการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมที่ค้างชำระที่ยังไม่เคยมีการติดต่อชำระคืนเลย แบ่งเป็น กยศ. 19,437 ราย และ กรอ. 944 ราย ส่วนผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. และมีการชำระคืนอยู่แล้วตามปกติก็สามารถเข้าร่วมการทำข้อตกลงหักเงินเดือนได้เช่นกัน ซึ่งจะมีส่วนลดมอบให้ 3 เดือน จากเดิม 12 เดือน ก็จ่ายเพียง 9 เดือน โดยเชื่อว่าจะช่วยจูงใจให้คนใน ศธ.มาชำระหนี้คืนมากขึ้น” ปลัด ศธ. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การที่ กยศ. ใช้มาตรการยึดทรัพย์ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีให้แก่รุ่นน้องที่กำลังละเลยต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับทาง กยศ. ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว 2 ปี ต้องนำเงินมาชำระหนี้คืน ซึ่งตนก็เข้าใจ กยศ.ที่ต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ได้เงินคืน อีกทั้งตามกฎหมายถ้า กยศ. ไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้คดีความหมดอายุไป ก็จะถือว่ามีความบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วในทางปฏิบัติแม้จะยึดทรัพย์แต่ก็อาจจะมาพูดคุยกัน เพื่ออะลุ้มอล่วยให้ผ่อนผันชำระหนี้คืนได้
“ที่ผ่านมา ทปอ. เน้นย้ำให้มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้นิสิต นักศึกษา เห็นความสำคัญของเงิน กยศ. และ กรอ. รวมถึงการชำระหนี้คืนมาโดยตลอด เพื่อให้เด็กรู้คุณค่าของเงิน เพราะเป็นเงินของประเทศที่ทำให้เด็กได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ และมีวินัย เมื่อเรียนจบก็ต้องชำระหนี้คืน เพื่อให้โอกาสน้องในรุ่นต่อๆ ไป อย่างไรก็ตามในการประชุม ทปอ. วันที่ 25 ตุลาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ผมจะกำชับและเน้นย้ำในเรื่องนี้อีกครั้งด้วย” ศ.ดร.ประสาท กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กันยายน 2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง