สพฐ.ของบ 4,000 ล้าน ปรับปรุงโรงเรียน มั่นใจไม่ซ้ำซ้อนงบปกติ ย้ำห้ามใช้นอกเหนือข้อกำหนด
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (สพท.) เพื่อให้จัดส่งรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ พ.ศ.2558 ตามมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อการซ่อมแซมปรับปรุงโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 30,816 โรง ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้เงินลงไปสู่พื้นที่ ซึ่งดำเนินการในลักษณะให้เงินก้อนแก่โรงเรียนตามขนาดของโรงเรียน เพื่อดำเนินการใน 6 รายการ ดังนี้
1.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องเรียน
2.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องพิเศษ ได้แก่ ห้องสมุด ห้องดนตรี ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องศิลปะ ห้องคหกรรม ห้องโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น
3.ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ
4.ปรับปรุงซ่อมแซมสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
5.ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู และ
6.ปรับปรุงซ่อมแซมสนาม รั้ว และอื่นๆ
โดยกรอบวงเงินมีดังนี้
1.โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จัดสรร 100,000 บาท
2.โรงเรียนที่มีนักเรียน 121-499 คน จัดสรร 150,000 บาท
3.โรงเรียนที่มีนักเรียน 500-2,499 คน จัดสรร 200,000 บาท และ
4.โรงเรียนที่มีนักเรียน 2,500 คนขึ้นไป จัดสรร 300,000 บาท
ทั้งนี้ โรงเรียนจะไม่สามารถนำเงินไปทำอะไรนอกเหนือจาก 6 รายการนี้ได้ เพราะเจตนาของโครงการนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดเสนอ โดยจากการทำรายการเสนอขึ้นมาเป็นวงเงินงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้ตามที่เสนอขอหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าโครงการนี้จะซ้ำซ้อนกับการใช้งบปกติที่มีการจัดสรรงบให้แก่โรงเรียนหรือไม่ นายกมลตอบว่า เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วน หากจะให้สำรวจว่าโรงเรียนทำอะไรไปแล้วบ้างคงไม่ทัน จึงเสนอให้จัดสรรเงินเป็นก้อนลงไป แล้วให้โรงเรียนไปจัดสรรว่าจะปรับปรุงในรายการใด แต่ห้ามนำไปดำเนินการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ อาทิ จัดอบรมพัฒนาครู เป็นต้น เพราะเป้าหมายสำคัญคือกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่และเกิดการจ้างงาน
นายกมลกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ สพฐ.เคยได้รับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อใช้สำหรับสร้างอาคารเรียน 1,000 กว่าหลัง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น แต่ปรากฏว่ายังมีโรงเรียนที่ขาดแคลนห้องเรียนพิเศษ หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนอยู่ สพฐ.ก็ได้ใช้งบเหลือจ่ายที่มีอยู่ดูแลไปเกือบหมดแล้ว และขณะนี้ สพฐ.ยังมีเงินเหลือจ่ายอีกกว่า 200 ล้านบาท ก็จะนำไปดูแลโรงเรียนที่ค้างชำระค่าสาธารณูปโภค.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 16 กันยายน 2558