เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2558 ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ค ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก หัวข้อว่า "เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด" ตอนที่ 2 : โรงเรียนต้องเลือกครูได้เอง เกี่ยวกับกระบวนการในการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครู ที่ต้องใช้ระเวลาที่ยืดยาว รวมไปถึงการได้บุคลากรที่ไม่ตรงกับความต้องการ แม้ว่า รร.จะมีสิทธิ์ในการเสนอความต้องการครูก็ตาม ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการเรียนการสอน จึงได้เสนอแนวความคิดว่า โรงเรียนรัฐน่าจะมีสิทธิ์สรรหาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เอง เป็นการเสริมสร้างให้สถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษาให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น คุณครูลองอ่านและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่นี่ครับ
เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด
ตอนที่ 2 : โรงเรียนต้องเลือกครูได้เอง
....................................................
สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับโรงเรียนของรัฐในปัจจุบันอีกประการหนึ่งก็คือ การที่จะได้ครูมาบรรจุที่โรงเรียน (ตามเกณฑ์)สักคนหนึ่งนั้น กระบวนการช่างยืดยาวเสียเหลือเกินและเมื่อได้มาแล้วบางครั้งก็ไม่ตรงกับความต้องการเสียอีก ปัจจุบันนี้โรงเรียนก็มีสิทธิ์ในการเสนอความต้องการครูโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาอยู่เหมือนกัน ว่าอยากได้ครูประเภทใด วิชาเอกอะไร แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้ตามนั้น ยิ่งครูใหม่ที่ทดแทนครูที่เกษียณอายุราชการยิ่งแล้วใหญ่ ใช้เวลานานเป็นพิเศษ เพราะต้องรอการคืนอัตรากำลังจากหน่วยงานที่คุมอัตรากำลังภาครัฐ รอว่าเกษียณ 100 คน จะได้คืนมากี่คน บางครั้งเกษียณไปตั้งแต่ 30 กันยายน ปีนี้ เปิดภาคเรียนใหม่ปีหน้า 16 พฤษภาคม ครูใหม่ยังไม่มาเลยครับ พิจารณาอะไรกันนานนักหนา ก็ในเมื่อเกณฑ์การคิดอัตรากำลังก็กำหนดไว้อย่างชัดเจน ถ้าเป็นอำนาจของท่านก็มอบอำนาจมาสิครับ โรงเรียนหลายแห่งมีแต่ครูย้ายออก แต่ไม่มีย้ายเข้ามาเลย ปัญหาเกิดขึ้นชัดๆ ผมไม่ได้บ่นแต่ประการใด แต่ต้องการสะท้อนภาพให้เห็น เห็นปัญหาแล้วไม่บอกวิธีแก้ไข ผมก็อาจโดน ม.44 จากท่านนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งกระทงก็ได้
ผมปรารถนาให้แก้หรือเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดปัญหาข้างต้น แล้วกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปให้โรงเรียนสรรหาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เอง โดยเสริมพลังให้คณะกรรมการสถานศึกษามีความเข้มแข็งมากกว่าในปัจจุบัน ใจจริงอยากให้สุดโต่งเหมือนโรงเรียนเอกชน กล่าวคือ อยากได้ครูอย่างไรก็ได้ครูอย่างนั้นตามที่ต้องการ ประกาศรับสมัคร ประเมิน ถ้าผ่านเกณฑ์ก็ทำงานได้เลย ระยะแรกก็จัดพี่เลี้ยงคอยดูแล แล้วประเมินการคงสภาพเป็นระยะๆ หากคุณภาพไม่เป็นไปตามที่ต้องการก็ให้โอกาสแก้ตัว ถ้าไม่ดีขึ้นก็ออกไป ผมทราบครับว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 กฏ/ระเบียบ ก.ค.ศ.หลายฉบับ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ถึงแม้ว่าจะยากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ถ้าคิดจะทำ
ยิ่งท่านนายกรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน ปี 2559 ยิ่งเป็นโอกาสทองครับ
"เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด" ตอนที่1: การลดภาระครู -ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก-