คอลัมน์ Education Ideas
โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
นับจากเข้ามาทำงานด้านบริหารที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ผมเริ่มสังเกตปรากฏการณ์และเก็บข้อมูลปัญหาระดับโครงสร้างการศึกษาของประเทศที่หยั่งรากลึกในสังคมและในวงการศึกษาของประเทศไทยมากว่า 20 ปี ซึ่งนับวันเราจะพบว่าผลของปัญหาระดับโครงสร้างนี้ส่งสัญญาณให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา
อาทิ ปัญหานักศึกษาเพิ่งสำเร็จการศึกษาตกงานนับหมื่นคน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขาดบุคลากรในบางสาขาอาชีพ หรือปัญหาคุณภาพของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้วแต่ทำงานไม่เป็น ตลอดจนปัญหาของการเรียนแบบท่องจำเพื่อนำความรู้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย ประเด็นปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดโรงเรียนสอนพิเศษมากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ จนมีกระแสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในทุกรัฐบาล
รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ในมุมมองของผม ปัญหาระดับโครงสร้างการศึกษาขณะนี้หยั่งรากลึก และต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 ปีในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และหากยังแก้ไขไม่ถูกจุดจะเป็นชนวนไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศต่อไปอีกอย่างยากจะเยียวยา
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงของประเทศ โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาในมิติของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การป้องกันประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในแต่ละมิติล้วนมีความเชื่อมโยงกัน แต่มิติเหล่านี้จะมีความมั่นคงได้นั้นจะต้องมีรากฐานที่สำคัญคือระบบการศึกษา เพราะการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศต้องมีความสอดคล้องกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกว่า 20 ปีผ่านมาคือหน่วยงานด้านการวางแผนศึกษาของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนแทบจะไม่ได้มีการเชื่อมโยง หรือมีนโยบายการผลิตบุคลากรที่สอดคล้องกับทิศทางและแนวทางในการพัฒนาประเทศในระดับนโยบายเลย
ดังข้อมูลที่ผมจะนำมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านต่อจากนี้ เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่ผมได้สังเคราะห์ข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวในรายงานศึกษาส่วนบุคคล ประกอบการอบรมในหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงขั้นสูง รุ่นที่ 5 สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง "ระบบการศึกษากับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ"
เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของประเทศ ดังนั้น ก่อนที่ผมจะเล่าว่านโยบายด้านการศึกษาของประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างไร ผมจึงขอหยิบข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายภาคการผลิตและบริการของประเทศมาแสดงให้เห็นกันก่อน
ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 21 พ.ย. 2557
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ระบบการศึกษาไม่สมดุล (2)
ระบบการศึกษาไม่สมดุล (จบ)