"คุณภาพการศึกษา" คำนี้เป็นคำที่กล่าวถึงกันมาเนิ่นนานเกี่ยวกับความหมายของคุณภาพการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็น หาวิธีการและแนวทางที่จะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยให้ดีขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ
จากวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการขับเคลื่อนการประเมินคุณภาพภายนอกและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับวงการด้านการศึกษาซึ่งจัดขึ้นที่ สมศ. เมื่อวันพุธที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึง "คุณภาพการศึกษา" ในหลายประเด็น อาทิ
ความหมายของคำว่า "คุณภาพการศึกษา" ที่แท้จริงคืออะไร คำว่า "คุณภาพการศึกษา" เป็นนามธรรม หากเข้าใจความหมายไม่ตรงกันแล้ว เมื่อนำลงมาสู่การปฏิบัติ ก็จะแตกออกไปในแต่ละทิศทาง สุดท้ายก็อาจวนอยู่ในอ่างในสังคมไทยยังมีความสับสนระหว่างคำว่า "คุณภาพคน" กับคำว่า "คุณภาพการศึกษา" ที่ผ่านมาสังคมมักจะกล่าวโทษกันว่า คนดีหรือคนไม่ดีเป็นเพราะการศึกษา แท้จริงแล้ว การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคุณภาพคน เนื่องจาก คุณภาพคนเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ทำอย่างไรที่ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นนี้ให้ชัดเจนและแยกแยะให้ถูกต้องสำคตัญที่สุด คือ กระบวนการสร้างคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยทำแบบแยกส่วนต่างฝ่ายต่างพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองทำอย่างไรที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการ "สร้างคน" ตั้งแต่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่จะต้องดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของตน จากนั้นจึงเป็นสถานศึกษาที่รับช่วงต่อในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ จนกระทั่งเข้าสู่ระบบการทำงาน องค์กรต่างๆ เพื่อให้เป็นคนคุณภาพของสังคม ก็จะต้องมีระบบการสร้างคน สร้างค่านิยมและวัฒนธรรมในการทำงานที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันในการทำงานให้ประเด็นต่างๆ มีความกระจ่างและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่ทุกคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดคุณภาพในสังคม จะได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนในการที่จะเข้ามาช่วยกันสร้างและพัฒนาคนให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะส่งผลถึงคุณภาพที่ยั่งยืนต่อไป
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก