ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมเรื่องราวจากสมาชิก  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

การปฏิรูปการศึกษาไทย


เรื่องราวจากสมาชิก เปิดอ่าน : 7,894 ครั้ง
Advertisement

การปฏิรูปการศึกษาไทย

Advertisement

 

การปฏิรูปการศึกษาไทย

                        หากจะกล่าวถึงเรื่องการศึกษาไทยในปัจจุบัน ประเด็นที่จะอยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป ทั้งในแวดวงการศึกษาและวงการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ก็คงจะเป็นประเด็นของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติคืออะไร? สมควรที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันในเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร? และจะมีผลกระทบต่อชาวไทยทุกคนในแง่ไหน? ปัญหาของวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยนั้น อันที่จริงก็สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการศึกษา เพราะถ้าหากการจัดการศึกษาสามารถนำเอาความรู้และเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าหากการศึกษาสามารถพัฒนาทักษะ ฝีมือ ความรู้ ความชำนาญการของแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความทันสมัยของเทคโนโลยีในปัจจุบัน และหากการศึกษาสามารถสร้างผู้นำรุ่นใหม่ได้จริง และสร้างความรู้พื้นฐานทางประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ เราก็คงจะได้ผู้นำทางการเมืองที่มีประสบการณ์ความรู้ในการบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล คงจะไม่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจดังที่ประสบอยู่ และแม้ว่าจะต้องประสบปัญหานี้ตามธรรมชาติของวงจรเศรษฐกิจ แต่ก็คงไม่ถึงเข้าขั้นโคม่าดังที่เป็นอยู่ วิกฤติการณ์ในสังคมไทยจึงเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากระบบการเมืองที่มีปัญหาเรื้อรังและระบบการศึกษาที่เข้าขั้นทุพพลภาพ จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระยะยาวได้จำเป็นต้องผ่าตัดระบบการศึกษา จะปฏิรูปการเมืองได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะต้องปฏิรูปการศึกษาควบคู่กันไปด้วย การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเป้าหมายหลักของการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้อันที่จริงหากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ประเทศชั้นนำหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาด้านการศึกษา และมีความต้องการการปฏิรูปด้วยกันทั้งนั้น ประเทศที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่อยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา ประเทศที่เคยเป็นผู้นำทางความคิด เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ชั้นนำของโลก เช่น อังกฤษก็มีปัญหา ประเทศนี้จึงได้มีแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างขนานใหญ่ สหรัฐอเมริกาเริ่มกล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 1980 อังกฤษก็เริ่มมีการปฏิรูปสมัยนางมากาเร็ต แท็ตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษที่ 1980 เช่นกัน สำหรับประเทศไทยพูดถึงการปฏิรูปตั้งแต่สมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.. 2516   แต่กระแสอ่อนล้าไปหลัง พ.. 2521 และเพิ่งมาเริ่มเกิดกระแสอีกครั้งหนึ่งในช่วงการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8 ประมาณ พ.. 2536-37 และขบวนการดังกล่าวก็มีผลต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.. 2540 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาพื้นฐานถึง 12 ปี ให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (มาตรา 43) และการกำหนดให้มีกฎหมายการศึกษาและแนวทางการจัดการศึกษาในมาตรา 81  ฉะนั้นการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาให้เป็นกฎหมายแม่บทตามมาตรา 81  ของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรที่จะต้องคำนึงถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลักการปฏิรูปการศึกษามีความหมายอย่างไร?  ทำไมต้องปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษามีผลกระทบต่อชาวไทยอย่างไร? และพระราชบัญญัติการศึกษาจะมีบทบาทอย่างไรในการปฏิรูปการศึกษา

 

ความหมายของการปฏิรูป

                      การปฏิรูปการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีความหมายลึกซึ้งกว้างไกล หากเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติวิสัยเราก็ไม่เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า "การปฏิรูป" และในทางกลับกันหากการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปด้วยความรุนแรง ใช้ลำหักลำโค่นกวาดล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าเราก็เรียกการเปลี่ยนแปลงนั้นว่า "การปฏิวัติ" "การปฏิรูป" จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนทั้งระบบ แต่เปลี่ยนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือกระทบในทางเสียหายน้อยที่สุดเป็นวิถีทางของอารยชน เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่ยึดหลักการเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากการใช้พละกำลังและความรุนแรงคำถามที่จะต้องถามในเบื้องต้นก็คือ ทำไมจะต้องปฏิรูปการศึกษา? และจะปฏิรูปในเรื่องอะไรกัน?   คำตอบเบื้องต้น ก็คือ ปัญหาทางการศึกษามีมากมายทับถมกันมานาน แก้ไม่ได้ด้วยวิธีการปกติ จำเป็นต้องเปลี่ยนระบบและเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้ปฏิบัติและผู้นำทางการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ถูกต้อง

 

ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษา

                    ปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาอาจมีหลายประการ แต่ที่สำคัญ ควรกล่าวถึงในอันดับแรกๆ น่าจะมี ดังนี้

1. ปัญหาด้านคุณภาพ ปัญหาด้านคุณภาพมีความหมายกว้างขวาง อาจอภิปรายได้ไม่มีวันจบ สมัยประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ตีพิมพ์รายงานทางการศึกษา ชื่อ "ชาติในภาวะการเสี่ยงอันตราย" (A Nation At Risk) กล่าวถึงความด้อยคุณภาพทางการศึกษาของชาติอเมริกา ยกตัวอย่างความล้าหลังด้านมาตรฐานการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษา  ฉะนั้นเมื่อประธานาธิบดี เรแกนริเริ่มให้มีการปฏิรูปการศึกษาเป้าหมายจึงอยู่ที่การยกมาตรฐานและคุณภาพของการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านวิชาการสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกในสังคมไทยก็เช่นกัน เมื่อพูดถึงคุณภาพทางการศึกษาก็อาจหมายถึงคุณภาพและมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาการต่างๆ ทุกระดับ และจะมีการอ้างอิงผลของการประเมินระดับนานาชาติว่ามาตรฐานการเรียนการสอนของไทยในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ เช่น ผลของการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของไทยในโครงการทิมส์ (TIMSS) ของสมาคมนานาชาติว่าด้วยการประเมินผลทางการศึกษา กล่าวว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 18 ในขณะที่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อยู่ที่อันดับ 1 , 2 และ 3 ตามลำดับ แต่บกพร่องอยู่ตรงไหน ก็ได้คำตอบว่าจุดบกพร่องอยู่ที่การสอนที่ไม่เน้นการคิดโดยอิสระของผู้เรียน คือสอนในกรอบของความรู้ที่ปรากฎตามตัวอักษรของตำรา มิได้สอนให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสูตรสำเร็จเหล่านั้น และหลักความจริงที่นำมาเป็นฐานของข้อสรุปคำว่า "คุณภาพและมาตรฐาน" ในแนวดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นคุณภาพมาตรฐานแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ก็ยังมีแนวคิดด้านคุณภาพที่แตกต่างออกไปเช่นกัน เป็นต้นว่าแนวคิดที่จะให้ปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับปัญหาของชีวิตจริง สอดรับกับสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน ได้แก่ ความเป็นท้องถิ่น ฯลฯ ในแนวทางนี้จึงได้มีการพูดกันมากถึงการกระจายบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่นให้แก่สถานศึกษา และหน่วยงานรับผิดชอบระดับล่าง   นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีแนวคิดเรื่องคุณภาพการศึกษาว่าจะต้องดูที่ตัวมนุษย์ทั้งหมดที่เป็นผลผลิตทางการศึกษาว่ามีคุณภาพอย่างไร สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยแล้วช่วยตนเองและรับผิดชอบต่อสังคมได้หรือไม่? เป็นผู้นำที่ดีหรือไม่? เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพหรือไม่?โดยสรุป เมื่อกล่าวถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ความหมายจึงครอบคลุมหลายๆ มิติของคุณภาพ การที่จะกำหนดปรัชญา แนวทางหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับต่างๆ จึงต้องคำนึงถึงมิติต่างๆ ของคุณภาพที่อยู่ในความห่วงใยของสังคมดังกล่าว

 

2. ปัญหาความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
                     ปัญหาสำคัญที่ปรากฎในทุกแผนพัฒนาการศึกษาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคใหม่ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ สังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกที่ยังขาดกฎเกณฑ์ใหม่ในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมือง สังคมไทยจะถอยไปอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็คงสายไปแล้ว และคงทำไม่ได้ แต่จะอยู่ในสังคมโลกอย่างไรโดยมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด แต่ไม่ว่าจุดยืนในทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจของเราจะอยู่ตรงไหน เราคงปฏิเสธข้อเท็จจริงไปไม่ได้ว่าเราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบุคลากรด้านนี้ให้เพียงพอต่อการปรับระบบการผลิตของเราให้ทันสมัย สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยพิจารณาจากศักยภาพของเราด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของเราเอง ฉะนั้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างทักษะความรู้ของชาวไทยให้สอดรับกับการงานและอาชีพในสังคมยุดใหม่จึงมีความสำคัญในอับดับต้นๆ การทุ่มเทให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตในทุกๆ สาขาอาชีพจึงมีความสำคัญมากแต่ในปัจจุบันและหลายปีมาแล้ว เราก็ยังคงขาดนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี ขาดครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ ขาดผลงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรม ระบบการฝึกอบรมด้านอาชีวศึกษาและวิชาชีพชั้นสูง ขาดความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานและภาคปฏิบัติ จำเป็นต้องปรับทั้งระบบเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะต้องวางแผนการจัดอุดมศึกษาหรือการศึกษาระดับหลังขั้นการศึกษาพื้นฐานให้เป็นระบบที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม และต้องส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจด้วย

 

3. ปัญหาของการกระจายโอกาสและความเสมอภาคของโอกาสทางการศึกษา

                         ประเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นด้านความชอบธรรมทางสังคมที่กลไกของระบบกากรเศรษฐกิจแบบเสรี มักจะมีแนวโน้มช่วย ให้ผู้เข้มแข็ง ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า ช่วยให้คนที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบด้านกิจการการศึกษา และด้านอื่นๆ มากกว่าผู้ยากไร้และขาดปัจจัยด้านการเงิน แต่สังคมที่มีความมั่งคั่งไปกระจุกตัวที่คนบางกลุ่ม และก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากเกินไป มักจะเป็นสังคมที่ขาดเสถียรภาพทางด้านการเมือง ขาดพื้นฐานของสามัคคีธรรม และจะนำไปสู่การแตกแยกและความระส่ำระสายในที่สุด ฉะนั้นในนโยบายของการเฉลี่ยรายได้ ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆ นอกจากจะเฉลี่ยความผาสุก ความร่มเย็นให้แก่คนทั้งชาติ และเป็นความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว ยังเป็นนโยบายหลักของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และความเป็นเอกภาพของชาติ มาตรการการเฉลี่ยรายได้นี้ไม่มีมาตรการใดที่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับมาตรการของการกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้แก่กลุ่มคนที่มีฐานะยากลำบากทางเศรษฐกิจ นโยบายเรื่องความเสมอภาคของโอกาสสำหรับกลุ่มคนจนชนบท จากชนชั้นเกษตรและแรงงาน กลุ่มคนพิการ ฯลฯ จึงเป็นนโยบายที่สำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งการจะดำเนินนโยบายนี้ให้ได้สำเร็จจะต้องมีวิธีการวางแผน และจัดสรรงบประมาณโดยยึดพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เช่น ต้องเตรียมงบประมาณให้พื้นที่ที่ยากจนมากเป็นพิเศษ ต้องจัดระบบการศึกษาให้มีทางเลือกได้หลายๆ ทางและเชื่อมโยงกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พลาดโอกาสได้สามารถเข้ามาใช้โอกาสได้ตลอดชีวิต ที่สำคัญหากจะให้โอกาสแก่ทุกคนจริงจำเป็นต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ถึงมัธยม ศึกษาตอนปลายให้แก่คนทุกคนในสังคมไทย เพราะการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ ระดับวิชาชีพชั้นสูง และด้านอาชีวศึกษาระดับสูง และเป็นพื้นฐานของการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต

 

4. ปัญหาของประสิทธิภาพของระบบและกระบวนการจัดการบริหารการศึกษา

                     ประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการเป็นประเด็นปัญหาที่ทับถมมานาน หากระบบการบริหารการจัดการมีประสิทธิภาพ ปัญหาอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วก็คงได้รับการแก้ไขในระดับหนึ่ง แต่เพราะระบบการบริหารการจัดการมีปัญหาหมักหมมมานานปี ก็จำเป็นต้องสังคายนากันทั้งระบบ ปัญหาดังกล่าวมีดังนี้
                 4.1 ประการแรกที่ควรพิจารณาในเบื้องต้นก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารการศึกษากับการบริหารราชการ แม้ว่าจะมีส่วนที่เหมือนกันในการจัดระบบเป็นกรม กอง ฝ่าย ในการทำหน้าที่บริหารระดับบน แต่ในสายสัมพันธ์กับสถานศึกษาควรมีข้อแตกต่าง เพราะการบริหารสถานศึกษา (โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย) นั้น ต้องการองค์ประกอบเหล่านี้
                         ) ระบบบริหารภายในสถานศึกษาแบบแนวราบ (Flat organization) ยกเว้นอาจารย์ใหญ่แล้ว ควรมีผู้บังคับบัญชาน้อยที่สุด ต้องบริหารงานแบบครูทุกคนมีส่วนร่วมเป็นประชาธิปไตย
                         ) ระบบการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพที่เน้นผลิตผล คือ ตัวนักเรียนไม่ยึดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ และการควบคุมขั้นตอนของกระบวนการเหมือนระบบราชการ
                         ) ระบบความรับผิดชอบต่อชุมชนมากกว่าความรับผิดชอบต่อสายบังคับบัญชาเบื้องบนสถาบันการศึกษานั้นก็คือ สถาบันทางสังคม ต้องแนบแน่นกับชุมชน และให้เกิดความรู้สึกของความเป็นเจ้าของจากพ่อแม่ ผู้ปกครองและศิษย์เก่าข้อผิดพลาดในอดีตก็คือ การเหมาเอาว่าครูทุกคนคือข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของข้าราชการพลเรือน แม้แต่การปูนบำเหน็จความดีความชอบก็ใช้หลักการเดียวกัน เพิ่งจะได้มีการปรับระบบการบริหารบุคคลปี พ.. 2523 ที่แยกเกณฑ์การพิจารณาบุคลากรครูแยกต่างหากจากพลเรือน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อผูกพันที่ต้องยึดโยงอยู่กับระบบซีของข้าราชการพลเรือน การปรับระบบการบริหารสถานศึกษาและข้าราชการครูจึงควรคำนึงถึงความจำเป็นของข้อแตกต่าง ดังที่กล่าวไว้แล้ว
                        4.2 การจัดระบบการบริหารระดับกระทรวงแบ่งแยกภารกิจไม่เหมาะสมปัจจุบัน กรมส่วนใหญ่มีความเบ็ดเสร็จในตัวเอง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายการวางแผน จัดสรรงบประมาณ นิเทศ ประเมินผล บริหารบุคคล ก่อสร้างอาคารสถานที่ กล่าวอย่างคร่าวๆ แต่ละกรมก็คือกระทรวงเล็กๆ นั่นเอง กระทรวงตามกฎหมายจึงมิใช่กระทรวงที่แท้จริง แต่เป็นที่รวบรวมของกระทรวงเล็กๆ นี่คือปัญหาที่ต้องมีการปรับแก้ไข โดยจัดภารกิจของแต่ละกรมใหม่ ให้เกิดเอกภาพทางนโยบาย และการจัดสรรงบประมาณ
                         4.3 การจัดระบบการบริหารสับสนระหว่างบทบาทผู้กำหนดนโยบายแผนงานงบประมาณ และกำกับเวทีที่เรียกว่า "Steering" ผู้กุมบังเหียนหรือนายท้ายคัดหางเสือกับบทบาทของการลงมือปฏิบัติที่เรียกว่า "Rowing" หรือผู้แจว ผู้พายปัจจุบันเราไม่ทราบว่าใครคือผู้กุมบังเหียน ใครคือผู้ปฏิบัติ เพราะผู้ปฏิบัติและผู้กุมบังเหียนคือคนๆ เดียวกัน แต่ละกรมส่วนกลางทำทั้งสองหน้าที่ คือออกแบบเอง วางนโยบายเอง และนำนโยบายไปลงมือปฏิบัติเอง ผลก็คือไม่สามารถทราบได้ว่าตนทำสำเร็จหรือล้มเหลว และเนื่องจากนำงานปฏิบัติมาทำเต็มตัว ปัญหาภาคปฏิบัติก็มาสุมอยู่ที่กรม ทุกปัญหาต้องเดินทางกลับมารับการแก้ไขที่กรม ไม่สามารถตัดตอนได้เด็ดขาด ไม้ว่าจะได้มีการมอบอำนาจกันไปบ้างแล้วอนาคต จึงควรที่จะกำหนดให้ส่วนกลางมีภารกิจหลักในด้านการกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณ กำหนดมาตรฐาน ประเมินมาตรฐานที่เรียกว่า "Steering" คือ ถือบังเหียนและกำกับทิศทาง และกำหนดให้องค์กรในพื้นที่ เช่น จังหวัดมีภารกิจในด้านการปฏิบัติการคือนำนโยบายของกระทรวงไปสู่ภาคปฏิบัติ และหากมีปัญหาด้านการบริหารก็ควรให้จบเบ็ดเสร็จลงที่จังหวัด เป็นต้น
                         4.4 การจัดระบบบริหารระดับอุดมศึกษาขาดเอกภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาพื้นฐานกับระดับอุดมศึกษาปัญหาปัจจุบันคือมี 2 หน่วยงานหลักรับผิดชอบการศึกษาอุดมศึกษา คือ ทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ การนำเอาทบวงมารวมกับกระทรวง โดยไม่ปรับระบบการบริหารของกระทรวงก่อนคงไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากปรับตามแนวข้อ 4.3 และปลดปล่อยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นอิสระ บทบาทของกระทรวงในการกำกับสถาบันอุดมศึกษาก็จะเปลี่ยนรูปแบบไป ฉะนั้นจึงสมควรพิจารณา  การสร้างเอกภาพขององค์กร นโยบาย และกำกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยจัดไว้ภายในกำกับของกระทรวงเดียวกันทั้ง 4 ประการนั้น คือ ปัญหาหลักของระบบการบริหารการศึกษาในปัจจุบันที่ต้องการการสังคายนา

 

5. ปัญหาของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต

                        ปัญหาของข้อนี้มิได้มีลักษณะเดียวกับข้ออื่นๆ แต่เป็นประเด็นของการใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาแก่ประชาชน ในบริบทของสังคมข่าวสาร และการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีของการสื่อสาร ควรจะปรับระบบตรงนี้ให้เกิดระบบการศึกษาตลอดชีวิตได้ และประกอบกับความจำเป็นของสังคมแบบใหม่ที่จะต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจำเป็นต้องใช้
การศึกษาเป็นเครื่องมือปรับความสามารถและทักษะของมนุษย์ให้สามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ได้ เช่น ปัญหาของวิกฤติการณ์การเงินการคลัง การเศรษฐกิจในปัจจุบัน และผลกระทบ โดยเฉพาะด้านอาชีพการงาน เป็นต้น ประเด็นของการปรับระบบให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต จึงเป็นประเด็นหลักของการปฏิรูปการศึกษา

6. ปัญหาของการระดมสรรพกำลังเพื่อการศึกษา

                           ปัญหานี้สัมพันธ์กับการศึกษาตลอดชีวิต หากจะให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิตได้ก็จำเป็นที่ทุกๆ ส่วนของสังคมต้องตระหนักในภาระหน้าที่ทางการศึกษาของตน ตั้งแต่สถาบันครอบครัว ชุมชน องค์กรวิชาชีพ องค์กรการกุศล สถาบันศาสนา สำนักงาน บริษัทห้างร้านและเอกชน สื่อสารมวลชน สถาบันการเมือง ทุกๆ ส่วนในสังคมล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรทางการศึกษา สามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะด้านการจ่ายภาษีอากร ประเด็นคือ จะจัดระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในสังคมอย่างไร และจะสร้างความตระหนักให้แก่สถาบันต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการเมืองอย่างไร ให้มาเล่นบทบาทของการจัดการศึกษาในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น กำหนดให้พรรคการเมืองจัดสรรเงินส่วนหนึ่ง เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชน เป็นต้น
                           โดยสรุป ปัญหาดังกล่าวมานี้เป็นปัญหาหลักในเชิงระบบ แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกัน เช่น ปัญหาการฝึกอบรมครู การพัฒนาครู และการปฏิบัติงานของครู ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาการศึกษาของเอกชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการบริหารและการระดมสรรพกำลังจากภาคเอกชน ปัญหาการศึกษาของสงฆ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบ เป็นต้น

 

ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษา
                       ปฏิรูป คือ การเปลี่ยนทั้งระบบ หรือให้เบาลงมาหน่อย คือ เปลี่ยนเชิงระบบ ถามว่าระบบการศึกษาดังกล่าวมาแล้วควรเปลี่ยนทั้งระบบหรือไม่? ท่านอาจจะถามต่อไปว่าเปลี่ยนทั้งระบบหมายความว่าอย่างไร? คำตอบง่ายๆ ก็คือ อยู่ที่ความเข้าใจของแต่ละบุคคลว่า ระบบควรรวมถึงอะไรบ้าง? ฉะนั้นหากตีประเด็นกันไปเรื่อยๆ ก็คงไม่มีวันจบ จึงควรถามคำถามในใจตนว่าเท่าที่ท่านตระหนักหรือมีประสบการณ์มีอะไรดีอยู่แล้วบ้าง อะไรไม่ดีบ้างและควรขจัดไปในระบบการศึกษา ท่านก็คงตอบคำถามนี้ได้ในประสบการณ์ของท่าน แต่เท่าที่ผู้เขียนได้นำปัญหามาชี้แจงก็พอจะคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ก็คือสิ่งที่เป็นปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว
                       ประเด็นหลักในการคิวแนวปฏิบัติก็คือ จะวางยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่ทำให้เกิดผลดีที่สุด และกระทบกระเทือนทางลบน้อยที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลทางลบได้เสมอเหมือนยารักษาโรคที่ใช้เกินขนาดจะมีผลข้างเคียง นอกจากนั้นยุทธศาสตร์หรือวิธีการเปลี่ยนแปลงต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยที่สุด เรียกว่าจะเอามีดฆ่าโคไปฆ่าไก่ก็คงไม่ถูก ต้องออกแบบเครื่องมือผ่าตัดให้เหมาะสมกับระดับของโรค จากแง่คิดดังกล่าว จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูป ดังนี้

1. ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการประเมินผล
                           ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปทั้งหมด เพราะหากเปลี่ยนแปลง ณ จุดนี้ได้จะมีผลต่อการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาและสามารถแก้ไขปัญหาของความสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนเตรียมคนเพื่อการศึกษาต่อตลอดชีวิตได้ด้วย และในการปฏิรูปในข้อนี้จำเป็นต้องปรับระบบการบริหารจัดการด้วย ฉะนั้นการแก้ไขในจุดนี้จึงเป็นหลักชัยของขบวนการปฏิรูปทั้งหมดประเด็นสำคัญ คือ ปัจจัยตัวแปรใดที่จะทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา ณ จุดนี้เรายังไม่ได้พูดกันถึงนิยามคำว่า "ระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา" แต่ขอสมมุติว่านักวิชาการศึกษามีความเข้าใจตรงกันในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจะขออนุญาตข้ามไปกล่าวถึงปัจจัยตัวแปรที่ทำให้เกิดระบบการเรียนการสอนที่พึงปรารถนา คำตอบตรงนี้ ตามการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยตัวแปร 6 ตัวด้วยกัน คือ
             1. การปรับหลักสูตรและกำหนดปรัชญาของการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่ดี รายละเอียดก็ควรจะไปพิจารณากันในหมู่นักวิชาการครู และผู้บริหาร คงยังไม่มีเวลาจะพิจารณากัน ณ ที่นี้
             2. การฝึกอบรมครู และการพัฒนาครู สอดคล้องกับข้อแรก
             3. การเป็นผู้นำที่ดีของอาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน
             4. การจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน ตำรา หนังสือ ให้มีความเพียงพอแก่สถานศึกษา
             5. ระบบการประเมินผลที่สอดคล้องกับจุดประสงค์และปรัชญาของหลักสูตรข้อ 1
             6. ชุมชนให้การสนับสนุน
             ทั้ง 6 ข้อนี้ ข้อใดบ้างสามารถกำหนดในกฎหมายได้ก็ควรกำหนด ข้อไหนควรเป็นเรื่องวิธีการที่สามารถกำหนดเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติได้ภายหลังก็ควรเปิดกว้างไว้ก่อนในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ไม่มีองค์กรระดับชาติที่จะกำหนดหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษา ข้อเสนอของการปฏิรูปในอังกฤษจึงเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการหรือสภาหลักสูตรแห่งชาติ สำหรับไทยเรามีหน่วยงานนี้ระดับกรมอยู่แล้ว แต่ก็ยังอาจเสนอไว้อีกได้เพื่อเป็นจุดเน้น สำหรับการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8  ก็ได้มีแนวนโยบายการปฏิรูปในเรื่องนี้อยู่แล้ว หลักการสำคัญของนโยบายเรื่องนี้ หากกำหนดไว้ในกฎหมายได้ก็ควรจะทำ นอกจากนั้น การที่จะให้เกิดการปฏิบัติสอดคล้องกับแนวคิดใหม่ในการจัดการเรียนการสอน จำเป็นต้องจัดระบบการบริหารสถานศึกษา เพื่อให้ผู้นำโรงเรียนและบรรดาครูที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีได้ใช้ความสามารถของตนเองได้เต็มที่โดยไม่จำกัด จึงต้องมีข้อเสนอให้ปรับระบบการบริหารสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และเพื่อความสำเร็จของระบบการบริหารใหม่ จำเป็นต้องพัฒนาทั้งครูและผู้บริหารให้ถึงระดับมาตรฐาน และเนื่องจากในระบบใหม่จะไม่ใช้วิธีการควบคุมแบบเก่า แต่จะดูที่ผลสำเร็จ คือ คุณภาพของนักเรียน ฉะนั้นก็จะต้องจัดระบบการประเมินผล เพื่อประเมินผลองค์รวม (Summative Evaluation) ในระดับชั้นประโยค คือ ปีสุดท้ายของแต่ละระดับการศึกษา และให้มีการประเมินภายใน ที่เรียกว่า "Formative Evaluation" ในแต่ละระดับชั้น ระบบการประเมินผลและระบบการบริหารสถานศึกษาแนวใหม่ก็อาจกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาได้เช่นกันโดยสรุปจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเรียนการสอน ทำให้เกิดยุทธศาสตร์อื่นๆ ตามมา ได้แก่
       ) การปฏิรูปการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู
       ) การปรับระบบการบริหารสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น
       ) การปรับระบบการประเมินผลให้มีทั้งระบบการประเมินภายในแบบ "Formative Evaluation" เพื่อตรวจสอบและพัฒนาตัวผู้เรียน และการประเมินภายนอกเพื่อดูผลสรุปรวม เรียกว่า Summative Evaluation การประเมินสรุปรวบยอด

2. การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา
       การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาในแนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมาย 5 ประการ คือ

1.       มุ่งหมายจะให้เกิดเอกภาพด้านนโยบายทุกระดับการศึกษา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาตลอดจนความสอดคล้องในการดำเนินนโยบายระหว่างระดับการศึกษา

2.       มุ่งหมายจะให้เกิดการแบ่งภารกิจให้ชัดเจนระหว่างส่วนกลางที่ควรทำหน้าที่หลักด้านกำหนดนโยบาย คุณภาพ มาตรฐาน การจัดสรรทรัพยากร การติดตามประเมินผล การกำกับ และส่วนของจังหวัดและสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทำหน้าที่บริหารและจัดการ

3.       มุ่งหมายให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามา ร่วมรับผิดชอบมากขึ้นตามลำดับความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น

4.       มุ่งหมายให้เกิดประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ

5.       มุ่งหมายให้เกิดผลดีต่อการกระจายโอกาสทางการศึกษาหากดำเนินการได้สำเร็จในข้อนี้ ก็น่าจะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาหลักข้อที่ 2 เรื่องการจัดการศึกษาไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และข้อ 3 เรื่องความเสมอภาคของโอกาสและการกระจายโอกาสโดยสรุป การปฏิรูประบบการบริหาร หมายความว่า ควรจะมีกระทรวงเดียวทำหน้าที่เพื่อวางนโยบายและจัดสรรงบประมาณการศึกษาทั้งหมด และกระจายอำนาจหน้าที่การปฏิบัติงานให้จังหวัดดำเนินงานเป็นตัวแทนกระทรวงในจังหวัด ควบคุมดูแลสถานศึกษาและบุคลากร ให้สถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐานมีความเป็นอิสระมากขึ้น ส่วนสถาบันอุดมศึกษานั้นให้มีความเป็นนิติบุคคลทั้งหมด และอาจจะออกนอกระบบราชการได้ มีวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบอุดหนุนทั่วไปที่เรียกกันว่า "Block Grant" ให้แก่มหาวิทยาลัยองค์กรปกครองท้องถิ่นควรจะมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษาในจังหวัด และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดพร้อม ก็อาจจะรับผิดชอบการจัดการศึกษาในเขตการปกครองของตนก็ได้มาตรการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางดังกล่าวนี้ สมควรที่จะกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาได้

3. การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่
              การปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของยุคสมัยใหม่ หมายความว่า จะต้องเตรียมคนให้สามารถศึกษาได้ตลอดชีวิต และในการเตรียมตรงนี้จะต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย การวางพื้นฐาน 12 ปีนี้ หากจะให้มีผลต่อความสามารถของประชาชนจะศึกษาต่อตลอดชีวิตก็ควรกำหนดให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นระดับที่เชื่อมโยงกับอุดมศึกษา หากประชาชนทุกคนจบที่ระดับนี้ ก็หมายความว่าประชาชนก็มีความพร้อมทางด้านวิชาการที่จะไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปนอกจากนี้แล้ว ในระดับหลังการศึกษาพื้นฐานควรได้มีการปรับระบบอุดมศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมีความหลากหลาย สร้างเส้นทางศึกษาต่อไว้หลายๆ เส้นทาง แต่ให้มีความเชื่อมโยงกันในที่สุด การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยก็เป็นวิธีการหนึ่งประการสุดท้าย ในระบบการศึกษาใหม่นี้บทบาทของการศึกษานอกระบบจะมีมากขึ้น ฉะนั้นต้องมีมาตรการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและในการนี้ควรที่จะต้องระดมสรรพกำลังจากทุกๆ ฝ่ายในสังคมให้เข้ามาช่วยจัดการศึกษาด้วยตามหลักของคำประกาศจอมเทียนว่า "ทุกคนเพื่อการศึกษา" (All for Education)โดยสรุป หลักการและนโยบาย ตลอดจนมาตรการเพื่อให้เกิดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี และการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต จึงเป็นหลักการสำคัญที่จะต้องกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษา

 

การปฏิรูปการศึกษาไทยยุคปัจจุบัน

                การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน  เกิดจากปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ  ดังนี้

                1.1  กระแสโลกาภิวัตน์   ในกระแสโลกาภิวัตน์  ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ก้าวไปสู่ระบบเทคโนโลยี  มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้  ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของตลาดโลกด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้หลายฝ่ายได้หันมาสนใจในการพัฒนาคุณภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย  เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะอย่างเพียงพอในการใช้และควบคุมเทคโนโลยีในการผลิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพที่สนองความต้องการและความพึงพอใจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

                ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกเต็มไปด้วยข่าวสารข้อมูล  ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว  บุคคลที่มีสื่อต่างๆ อยู่ในครอบครองจะสามารถรับรู้และสัมผัสข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสในการใช้บริการของเทคโนโลยีสารสนเทศมีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากเหตุผลหรือข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความยากจน  อยู่ในพื้นที่ห่างไกล   ช่องว่างของการรับรู้   ข้อมูลข่าวสารจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนไปถึง   ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์   คนไทยมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้นและในทางสร้างสรรค์ เทคโนโลยีสารสนเทศได้นำเสนอโอกาสและทางเลือกให้บุคคลได้เรียนรู้จากหลายช่องทางและหลายรูปแบบ  ทำให้การเรียนรู้สามารถยืดหยุ่นทั้งเวลาและสถานที่   ตลอดจนสามารถเรียนรู้  และรับรู้ข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องตามความสนใจของตนเอง   และในอนาคตบุคคลจะแสวงหาแนวทางและค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การเรียนรู้จะเกิดจากการจัดการศึกษาในสถานศึกษาโดยเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาที่จะมีการนำเสนอความรู้หลากหลาย  และเรียนจากเหตุการณ์จริงในสังคม   ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง   การแสวงหาความรู้จะเกิดจากความพึงพอใจ เป็นการเรียนรู้เพื่อสั่งสมประสบการณ์และเพื่อการศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิต ผลกระทบเหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา   โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนในแนวใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์   ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โดยวิธีใดก็ได้   จะต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่น  แต่มีการเทียบมาตรฐานและรับรองคุณภาพให้อย่างเป็นระบบ

                เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมยุคโลกาภิวัตน์   การศึกษายุคใหม่จะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถใช้ข้อมูลข่าวสารเป็น   โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้  การศึกษาต้องเตรียมคนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ สามารถควบคุมภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้  การศึกษาจะต้องมีเป้าหมายหลักในการสร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้  เพื่อก่อให้เกิดองค์กรและสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันกับนานาชาติได้

1.2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ..  2540  และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.

                         ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะส่งผลให้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ   รวมทั้งการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย  ก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ..  2540    และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ..  2540  พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้ระบุไว้ในมาตรา  12  ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในวิชาการ  การศึกษาอบรม การเรียนการสอนย่อมได้รับความคุ้มครองเท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และในมาตรา 43 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ   การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง  ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

                นอกจากนี้ในมาตรา  81  ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา  อบรม  และสนับสนุนให้จัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  สร้างเสริมความรู้และปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้อง  พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปและวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น ซึ่งความในรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้สะท้อนออกมาในรายละเอียดตามกฎหมายการศึกษาที่ได้ออกมาภายหลัง  คือพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545

พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545  เป็นกฎหมายหลักทางด้านการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทยที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง  เพื่อกำหนดเนื้อหาสาระต่างๆ  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศ  ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของชาติอย่างมาก   นับตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา   ที่เน้นการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ   สติปัญญา   ความรู้   และคุณธรรม  (มาตรา  6)  การจัดการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน  ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8) การกำหนดสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของบุคคล บิดามารดา  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรรัฐ  องค์กรเอกชน   สถาบันต่างๆ ทางสังคม  (มาตรา 10 – มาตรา 14)  การกำหนดระบบการศึกษา   ซึ่งระบุไว้ว่ามี  3  รูปแบบ  คือการศึกษาในระบบและนอกระบบการศึกษา  และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการผสมผสานและการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างรูปแบบเดียวกัน และต่างรูปแบบกันได้  (มาตรา  15)  การกำหนดการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ  ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพ   ประสิทธิภาพ  และการกระจายอำนาจ  (มาตรา  31 – มาตรา  40) การกำหนดสิทธิในการจัดการศึกษาขององค์กรท้องถิ่น (มาตรา 41)  การบริหารและการจัดการศึกษาเอกชน ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานของรัฐ  (มาตรา 43)  การกำหนดมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และชัดเจน (มาตรา 47– มาตรา 51) การพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (มาตรา 58 – มาตรา 68) เหล่านี้เป็นต้น  สำหรับในเรื่องของการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ในมาตรา  23  ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องของความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องของการจัดการ   การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

                บทบัญญัติพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 จึงเป็นแรงผลัก ดันสำคัญที่ทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาขนานใหญ่หรือต้องมีการปรับ  ระบบการศึกษาใหม่  ซึ่งทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการจัดการศึกษาไทย   ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์   คณิตศาสตร์   และเทคโนโลยีด้วย

                จะเห็นได้ว่า  ในการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว สภาพการณ์ทางด้านระบบบริหารและการจัดการจะเปลี่ยนไปมาก ตัวอย่างเช่น มีการกระจายอำนาจทั้งในด้านบริหารและด้านวิชาการลงสู่ระดับพื้นที่ โดยชุมชน ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่ของตนอย่างมาก   ประชาชนจะเข้ามามีส่วนในการร่วมคิด  ร่วมวางแผน  ร่วมทำ และร่วมติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาในท้องถิ่น   ในส่วนของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน  จะต้องมีลักษณะที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย  มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความแตกต่างของท้องถิ่น   เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสภาพแวดล้อมในชุมชนและสังคมที่เป็นจริงโดยเน้นการปฏิบัติ   ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลไปถึงเรื่องของการวัดและประเมินผลด้วย สำหรับสถานศึกษาจะมีบทบาทในการจัดการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ (School Based  Management)  จึงต้องการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ  ทักษะและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนและการถ่ายทอดความรู้  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารงานและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ทำให้การจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉมหน้า

 

การปฏิรูปการเรียนการสอน

                การเตรียมพร้อมที่จะสร้างคนไทยยุคใหม่ในโลกปัจจุบันสู่อนาคตมีความสำคัญยิ่ง คนไทยยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีความรอบรู้ มีความพร้อม มีความมุ่งมั่น มีจินตนาการมองการณ์ไกล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยและค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างมนุษย์และการทำงาน

ของสมอง เพื่อหาข้อพิสูจน์และทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของมนุษย์และการเรียนรู้ของสมองยิ่งขึ้นว่า คนเราเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลสมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การขยายตัวของสมองไม่ได้มาจากการเพิ่มจำนวนเซลของสมอง แต่มาจากใยประสาทสมองมีความยืดหยุ่น หากเราใช้สมองในการแก้ไขปัญหาสมองก็จะมีการสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ใช้ ใยประสาทก็จะถูกทำลายลงไป นอกจากนี้ยังพบว่าอารมณ์มีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ โดยอารมณ์จะเป็นตัวช่วยเราในการเรียกความทรงจำเดิมที่เก็บไว้ในสมอง ภาวะของสมองที่เหมาะสมที่สุดต่อการเรียนรู้เรียกว่า การตื่นตัวแบบผ่อนคลาย (Relaxed Alertness) การเรียนรู้จะประสบความสำเร็จที่สุดเมื่อกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับประสบการณ์ทางกายภาพที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เราจะจำสิ่งต่างๆได้แม่นยำที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงต่างๆ และทักษะปรากฏอยู่ในกิจกรรมในชีวิตจริงตามธรรมชาติทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ได้ระบุไว้ว่า คนทุกคนมีสติปัญญาทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ปัญญาด้านภาษา  ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านความเข้าใจตนเอง และด้านธรรมชาติวิทยา ที่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาปัญญา แต่ละด้านให้สูงขึ้นถึงระดับใช้การได้ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ การเรียนรู้ และปัญญาด้านต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพทางสมอง(Brain Based Learning : BBL) ได้ระบุไว้เช่นกันว่า การเรียนรู้อย่างมีความสุข การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย ศิลปะ ดนตรี กีฬาการฝึกฝนกาย วาจา และใจ จะช่วยให้สมองของคนเกิดการตื่นตัวแบบผ่อนคลาย มีสมาธิในการทำงาน และเกิดการเรียนรู้จากการกระทำด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพของสมองได้อย่างเต็ม

ความสามารถ และสามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

เอกสารอ้างอิง

 

สำนักงานปฏิรูปการศึกษา.  2545.  ปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542.

                กรุงเทพฯ : บุญศิริการพิมพ์.

กระทรวงศึกษาธิการ.  2540.  แนวทางการปฏิรูปโรงเรียนและสถานศึกษาตามนโยบายการปฏิรูป                การศึกษา.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

______.  2538.  แนวทางปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2539-2550.

                กรุงเทพฯ : (อัดสำเนา)

______.  2546.  พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545.

                กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)

วิชัย  ตันศิริ. 2542.  พระราชบัญญัติการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษาไทย. ศูนย์ประมวลและจัดระบบ     

              ข้อมูลสารสนเทศฯ กองนโยบายและแผน : กรุงเทพ.

[Online]  


การปฏิรูปการศึกษาไทย

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

การตักบาตร

การตักบาตร


เปิดอ่าน 7,177 ครั้ง
อานิสงส์

อานิสงส์


เปิดอ่าน 7,162 ครั้ง
09-09-09 วันดี-วันซวย กันแน่ ?

09-09-09 วันดี-วันซวย กันแน่ ?


เปิดอ่าน 7,161 ครั้ง
สิทธิของผู้ต้องหา

สิทธิของผู้ต้องหา


เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง
สวย...แต่อันตราย

สวย...แต่อันตราย


เปิดอ่าน 7,168 ครั้ง
อารมณ์  กับ  งาน

อารมณ์ กับ งาน


เปิดอ่าน 7,154 ครั้ง
ไชยเชษฐ์

ไชยเชษฐ์


เปิดอ่าน 7,157 ครั้ง
                     เมื่อถูกสุนัขกัด

เมื่อถูกสุนัขกัด


เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง
ฟังเพลง..ชมอุทยานดอกไม้..

ฟังเพลง..ชมอุทยานดอกไม้..


เปิดอ่าน 7,178 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

ภาค2ต่อจากงานศิลปะบนขวดแก้ว

ภาค2ต่อจากงานศิลปะบนขวดแก้ว

เปิดอ่าน 7,157 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ข้อคิดเห็นส่งงานหลังสอบเยียวยา
ข้อคิดเห็นส่งงานหลังสอบเยียวยา
เปิดอ่าน 7,159 ☕ คลิกอ่านเลย

22 เคล็ดลับ เก็บ เงิน ได้มากขึ้น....!!!..อยากรวย เชิญอ่าน...
22 เคล็ดลับ เก็บ เงิน ได้มากขึ้น....!!!..อยากรวย เชิญอ่าน...
เปิดอ่าน 7,197 ☕ คลิกอ่านเลย

นิทาน
นิทาน
เปิดอ่าน 7,173 ☕ คลิกอ่านเลย

..เขย่า..ต่อมฮา..ขำขำ..
..เขย่า..ต่อมฮา..ขำขำ..
เปิดอ่าน 7,168 ☕ คลิกอ่านเลย

10 มหันตภัย ล้างแผ่นดิน
10 มหันตภัย ล้างแผ่นดิน
เปิดอ่าน 7,259 ☕ คลิกอ่านเลย

 ความสำเร็จสูงสุด....คุณมีแค่ไหน?
ความสำเร็จสูงสุด....คุณมีแค่ไหน?
เปิดอ่าน 7,157 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์
เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์
เปิดอ่าน 20,890 ครั้ง

กรมอนามัย เผย 6 วิธี ป้องกันโควิด-19 บนรถรับ-ส่งนักเรียน
กรมอนามัย เผย 6 วิธี ป้องกันโควิด-19 บนรถรับ-ส่งนักเรียน
เปิดอ่าน 4,841 ครั้ง

8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก
8 วิธีลดความเครียดให้แก่เด็ก
เปิดอ่าน 50,270 ครั้ง

UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน "สงกรานต์ไทย" เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
เปิดอ่าน 1,250 ครั้ง

ทำไมเวลาเกา จึงหายคัน
ทำไมเวลาเกา จึงหายคัน
เปิดอ่าน 16,315 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ