เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณอาหารกลางวันของนักเรียน ม. 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้ออกหนังสือเน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งแนวทางการปฏิบัติให้โรงเรียนในสังกัดทราบเช่นกัน และให้ดำเนินการตามอย่างเคร่งครัดในการบริหารจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 และให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาเริ่มจัดอาหารกลางวันโดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมนักเรียนระดับชั้น ม. 1-3 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้ได้เด็ก ๆ รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวัน 26 มีนาคม 2567
ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง ที่เล็งเห็นถึงปัญหาปากท้องของเด็กในโรงเรียน จนเคาะมติเห็นชอบให้สถานศึกษาจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส เงินอุดหนุนสำหรับอาหารของเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ด้วยโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นโรงเรียนขยายโอกาสจึงเป็นความหวังของเด็กที่ไปเรียนในเมืองไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ทำให้มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา
จากการที่ ศธ.ได้สำรวจพบว่านักเรียนในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นยังคงขาดแคลนโภชนาการที่จำเป็น ส่งผลให้เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพ และการเรียนรู้ที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงได้เสนอแนวคิดนี้ให้โรงเรียนขยายโอกาส ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลน และมักเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กมัธยมต้นต่างจังหวัดได้เรียนจนจบ แต่ปัญหาที่พบคือเด็กโตไม่มีอาหารกลางวันกิน ศธ.จึงต้องการขยายการจัดสรรอาหารกลางวันให้ครอบคลุมถึง ม.1-ม.3
ที่ผ่านมาเราทราบดีว่าคุณครูและโรงเรียนแก้ไขปัญหากันเองมาโดยตลอด บางโรงเรียนใช้หลักการพึ่งพาตนเอง ครูต้องเอาเงินส่วนตัวเพิ่มเพื่อให้เด็กอิ่มท้อง อย่างกรณีครูที่นำค่าอาหารกลางวันเด็กประถมไปเกลี่ยให้นักเรียนชั้นมัธยมได้กินด้วย จนถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าทุจริตอาหารกลางวันเด็ก เป็นเหตุถูกให้ออกจากราชการ เข้าใจว่าด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูที่มีจิตใจรักลูกศิษย์ เมื่อเห็นพี่หิวแล้วต้องมองน้องกินข้าวก็ต้องพยายามช่วยเหลือเด็กทุกคนให้ได้กินอิ่มกันถ้วนหน้า แต่อาจเกิดผลกระทบทั้งโรงเรียน เพราะเด็กได้กินแต่ไม่อิ่ม หรือเด็กอิ่มแต่ไม่ถึงโภชนาการ ส่งผลให้รับประทานอาหารกลางวันแบบไม่เต็มคุณภาพทั้งพี่และน้อง แม้จะหวังดีต่อลูกศิษย์แต่ตามหลักการของระเบียบที่กำหนดไว้จึงทำให้ความผิดตกมาอยู่ที่ครู
กรณีดังกล่าวเข้าใจถึงเจตนาที่ดีของครู แต่วิธีการขัดต่อข้อกฎหมาย ศธ.จึงผลักดันโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสสำหรับชั้น ม.1-ม.3 อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อช่วยแก้ปัญหาในภาพรวม จนมีมติ ครม.ออกมาให้จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อให้น้องมีกินพี่อิ่มท้อง
ส่วนเรื่องของจำนวนเงินอุดหนุนที่ไม่เท่ากัน อยากให้มองว่าโรงเรียนในไทยมีขนาดไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันงบประมาณจัดการอาหารกลางวันใช้อัตราจำนวนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็กถึง ม.3 ในการกำหนดขนาดของโรงเรียน
นักเรียน 1 – 40 คน อัตรา 36 บาท/คน/วัน
นักเรียน 41 – 100 คน อัตรา 27 บาท/คน/วัน
นักเรียน 101 – 120 คน อัตรา 24 บาท/คน/วัน
นักเรียน 121 คนขึ้นไป อัตรา 22 บาท/คน/วัน
ปัจจุบันงบประมาณจัดการอาหารกลางวันอยู่ที่ 22 บาท ต่อคน ต่อมื้อ นี่คือราคาของโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมีต้นทุน อย่างเช่นโรงเรียนที่มีเด็ก 80 คน ได้วันละ 22 บาท พอเอายอดมาคำนวณดูแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่เงินจำนวนนี้จะทำอาหารที่ดีถูกหลักโภชนาการ ผลเลยไปตกอยู่กับเด็กที่ต้องถูกลดทอนคุณภาพและปริมาณของอาหารลงมา ซึ่งอีกปัจจัยกระทบโดยตรงคือเรื่องของต้นทุนและราคาสินค้าในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นในขณะที่งบประมาณยังเท่าเดิม
แม้โรงเรียนจะมีการเรียนการสอนที่ดี แต่หากภาวะโภชนาการของเด็กยังขาดตกบกพร่องจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนย่อมส่งผลต่อสมาธิในการเรียน เมื่อเกิดความหิวอาจทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเรามอบความอิ่มท้องให้กับเค้าเด็กก็จะมีความสุขอยากมาโรงเรียนทุกวัน เพราะอยู่ที่บ้านไม่ได้ทานอาหารอิ่มท้องแบบนี้ ทำให้เด็กมาเรียนอย่างสม่ำเสมอลด อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ด้วย
ศธ.มีคู่มือ “Thai School Lunch” ที่เป็นระบบต้นแบบการคำนวนโภชนาการและปริมาณอาหารแต่ละมื้อให้เพียงพอกับความต้องการของนักเรียน ส่งนด้านงบประมาณและคุณภาพของวัตถุดิบก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่สามารถซื้อวัตถุดิบได้ในปริมาณที่มากต้นทุนย่อมถูกกว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ซื้อปริมาณน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อต้นทุนต่างกันค่าใช้จ่ายต่างกันเงินอุดหนุนจึงต่างกันตามปริมาณและความเหมาะสม
ที่ผ่านมาขอชื่นชมในความพยายามของครูที่ต้องการจะยกระดับการจัดการด้านอาหารกลางวันที่ดีให้กับผู้เรียนแต่อยากให้มองเห็นถึงกฎระเบียบที่ตั้งไว้ด้วยทำอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามหลัง “อย่าผิดพลาดจากความเคยชิน” จนเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กทุกคนควรได้รับอาหารที่มีคุณภาพเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ตาม ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันดำเนินการอยากถูกต้องเพื่อส่งมอบอาหารที่ดีมีคุณภาพโภชนาการครบถ้วนให้ผู้เรียนของเรา อย่ามองเพียงแค่ว่าอาหารกลางวันเป็นสิ่งเล็กน้อย เพราะสำหรับเด็กบางคนแค่อาหารธรรมดาเพียงมื้อเดียวก็สามารถทำให้เขารู้สึกพิเศษได้ในชีวิต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 7 ธันวาคม 2567