Post Today - ความตื่นตระหนกต่อสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำเอาผู้คนทั้งโลกอกสั่นขวัญหายไปตามๆ กัน ...
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลาย คลื่นยักษ์สึนามิ พายุเฮอริเคนคาทรินา พายุไซโคลนนาร์กีส ฯลฯ ตามมาด้วยปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ปัญหาอาหารขาดแคลน โรคอุบัติใหม่ที่แพร่กระจายร้ายแรงกว่าเดิม และปัญหาการก่อการร้าย
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์เราต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดตามสัญชาตญาณ กระตุ้นให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามสถานการณ์ไปโดยสิ้นเชิง
อาร์ตกอริลลาส์ อาร์ตแกลเลอรี นำเสนอนิทรรศการศิลปะ “สภาวะโลก/สภาวะชีวิต” นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ไวยวุฒิ พรหมรัตน์ ศิลปินหน้าใหม่ ผู้นำเอาความหลงใหลในงานศิลปะยุคฟื้นฟูวิทยาการ หรือยุคเรอเนสซองซ์ (Renaissance) มาผสมผสานกับแนวคิดต่อสภาวการณ์ดิ้นรนเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ยักษ์ แปลกประหลาดพิลึกพิลั่น เชื้อเชิญให้ผู้ชมตั้งคำถามในการดำรงอยู่ของทุกสรรพสิ่ง
ไวยวุฒิ ตั้งคำถามแรกต่อตัวเองว่า ถ้าโลกเราเปลี่ยนแปลงไป เราจะอยู่บนโลกนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งจากคำถามสั้นๆ นี้ เขาขบคิดลึกซึ้งจนตกผลึก ก่อนจะแตกยอดออกไปเป็นความคิดต่างๆ มากมายในหัว
“ที่มาที่ไปของผลงานศิลปะทั้ง 8 ชิ้นนี้ ส่วนหนึ่งมันต่อเนื่องมาจากงานวิทยานิพนธ์ของผมเมื่อครั้งก่อนจบการศึกษา แนวคิดคือโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีบบังคับให้ผู้คนดิ้นรนปรับเปลี่ยนตัวเองทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอด
สัตว์ป่าหนีเข้ามาเพ่นพ่านหากินในเมือง ส่วนคนก็กลายมาถวิลหาความสงบและอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หันหน้าหนีเข้าสู่ป่าเขาลำเนาไพรก็มีให้เห็นเยอะ หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานี้มันดูผิดที่ผิดทาง มันเกิดขึ้นเพราะสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสรรพสิ่ง” เขาอธิบายให้ความกระจ่างในแนวคิด
ไวยวุฒิ บัณฑิตหนุ่มอนาคตไกลผู้มีผลงานโดดเด่นจากรั้วศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ปี 2551 เคยร่วมแสดงผลงานอมตะอวอร์ดครั้งที่ 4 ปัจจุบันยังคงดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่ในโลกบุบๆ ใบนี้
เทคนิคสีน้ำมันธรรมดาๆ บนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่ดูไม่ธรรมดานั่นก็คือ การที่ศิลปินหนุ่มรายนี้เลือกที่จะนำเอากลิ่นอายการใช้สีในแบบยุคเรอเนสซองซ์ ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาเต็มๆ มาผสมผสานกับแนวเซอร์เรียลลิสม์ที่ตัวเองชื่นชอบ
“การนำเอาศิลปะเก่าๆ ในยุคก่อนมาทำใหม่ ก็เหมือนกับการเกิดใหม่ของสิ่งมีชีวิตในยุคนั้น ภาพแต่ละภาพล้วนมีความหมาย ทั้งภาพหัวกบ หัวปลา หัวปลาหมึก ที่นำมาใส่ไว้บนตัวคน
คนที่ดูบอกว่ามันพิลึกๆ แต่ผมตั้งใจให้มันเป็นสัญลักษณ์ของความปรับเปลี่ยนเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์อื่นๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สามารถมีชีวิตได้อยู่ทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งมันหมายถึงเราต้องเอาตัวรอดให้ได้ แม้จะต้องกลายเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ” เขาให้อรรถาธิบาย
ความคาดหวังอย่างสูงสุดในฐานะศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งแสดงผลงานเดี่ยวครั้งแรกอย่าง ไวยวุฒิ เขาตื่นเต้นดีใจ และภาคภูมิใจที่ได้สร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อบอกให้รู้ว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คนเราต้องรับรู้ และตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ท้ายที่สุดก็ต้องเตรียมรับมือกับมันให้ได้
“ถ้าโลกเราเปลี่ยนแปลงไป เราจะอยู่บนโลกนี้ต่อไปอย่างไร ...ผมว่าคำถามสั้นๆ นี้มันสะท้อนให้เห็นภาพการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของมนุษย์ในโลกปัจจุบันได้อย่างชัดเจนเลยล่ะครับ” ไวยวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ - นิทรรศการศิลปะ “สภาวะโลก/สภาวะชีวิต” โดย ไวยวุฒิ พรหมรัตน์ กำลังจัดแสดงอยู่ ณ อาร์ตกอริลลาส์ อาร์ตแกลเลอรี บนชั้น 2 หลังโรงหนังลิโด้ สยามสแควร์ ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ค.นี้