นักวิชาการให้เกรดเรียนฟรี 4 เดือนแค่ "B" ระบุรากหญ้าพอใจที่รัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระ แต่หักคะแนนรณรงค์คนรวยสละสิทธิ์น้อยไปหน่อย ทำให้เห็นชัดคนยิ่งรวยยิ่งเห็นแก่ตัว
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการที่ตนลงพื้นที่ทำงานกับประชาชนระดับล่าง และได้สอบถามเกี่ยวกับโครงการเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ชาวบ้านระดับล่างซึ่งยากจนและตกงานส่วนใหญ่พอใจ เพราะเงินที่รัฐบาลให้เกี่ยวกับค่าหนังสือ อุปกรณ์การศึกษา ชุดนักเรียน สามารถแบ่งเบาภาระผู้ปกครองช่วงเปิดภาคเรียนได้ 400-600 บาท และส่วนใหญ่ก็อยากให้รัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นักวิชาการรายนี้กล่าวต่อว่า ตนประเมินผลงานเรื่องนี้ของรัฐบาลแล้วให้เกรดบี แต่มีจุดที่ควรปรับปรุงประการแรกคือ จำนวนผู้สละสิทธิ์มีน้อยผิดปกติ ซึ่งขณะนี้มีเพียง 70,000 กว่าคน จากจำนวนนักเรียน 12 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็น 0.5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วคนที่มีฐานะดีควรบริจาคให้กับ รร.ที่ด้อยโอกาสและยากจนให้ได้ถึง 20% ทั้งนี้ ตนคิดว่าเป็นเพราะการทำประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกคนต้องได้สิทธิ์ จึงทำให้คนที่มีฐานะดีก็ขอรับสิทธิ์ ซึ่งความจริงแล้วควรทำความเข้าใจกับสังคมว่า การเสียสละเพื่อคนยากจนจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมได้ แต่สิ่งที่พบขณะนี้คือ คนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะใน รร.ดี เด่น ดัง ใช้สิทธิ์ของตนเองเกือบหมด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คนยิ่งรวยยิ่งเห็นแก่ตัว ประการที่ 2 คือ กระบวนการยกย่องผู้สละสิทธิ์ทั้งการแจกวุฒิบัตรล่าช้ามาก ควรทำให้ผู้บริจาคเกิดความภาคภูมิใจที่ได้เสียสละเพื่อสังคม เป็นตัวอย่างให้คนอื่นจะได้เสียสละในปีหน้า ซึ่งควรทำให้ยิ่งใหญ่เหมือนกรณีเด็กหญิงเก็บเงินแสนคืนเจ้าของได้
"อีกข้อหนึ่งที่ผมอยากให้รัฐบาลทบทวนคือ การให้เงินอุดหนุนกับภาคเอกชน จากที่เคยให้ 60% ปีนี้ให้เพิ่มเป็น 70% และปีหน้าเพิ่มเป็น 100% ซึ่งผมยืนยันว่าการทำแบบนั้นเป็นการทำลายจุดแข็งของภาคเอกชน ซึ่งควรจัดการศึกษาแข่งขันด้านคุณภาพกับภาครัฐ การให้เงินเอกชนทั้งหมดทำให้เอกชนอ่อนแอ" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.