ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เปิดอ่าน : 20,509 ครั้ง
Advertisement

วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

Advertisement

ประวัติความเป็นมา

          พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรม ๒ พิธีที่กระทำร่วมกันจึงมีชื่อร่วมกันดังนี้  คือ
          พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก  เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
           พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ   เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
          พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ  จึงว่างเว้นไป ๑๐ ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง ๒๓ ปี)  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่มีมาในแต่ละสมัยของไทย

          ในสมัยสุโขทัย ในหนังสือนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยนั้นมีข้อความว่า "ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรดเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ  ท้องทุ่งละหานหลวงหน้า พระตำหนักห้าง เขากำหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศทรงม้าพระที่นั่ง พยุหยาตรา เป็นพระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย   ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไป ในกระบวนหลังประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง  มีกระบวนแห่ประดับด้วย กรรเชิงบังสูร พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสภราชเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประฎักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่งพระศรีมโหสถ ซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเอาแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ ถือไถหุ้มด้วยรัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม่ประฎัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันเลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน ถือกระเช้าโปรยหว่านพืชธัญญา หารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบำโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลวดบ่วงรำแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเสี่ยงทายของห้าสิ่ง  แล้วโหรพราหมณ์ก็ทำนายตามตำรับไตรเพท ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่อง พระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง"เป็นเสร็จการพระราชพิธีซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ........................................


         ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้กระทำแตกต่างไปบ้างดังปรากฏในกฏมณเทียรบาลความว่า  "พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปในพิธี โปรดให้เจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตำแหน่งเสนาบดี สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในตอนนี้ทรงทำเหมือนหนึ่งออกจากอำนาจความเป็นกษัตรยิ์ทรงจำศิลเงียบเสียสามวัน"
          ตามหนังสือ คำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่า 
           "พระราชพิธีจรดพระนังคัล พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้ พระจันทกุมารแรกนาต่างพระองค์ ส่วนพระมเหสีก็จัดนางเทพีต่างพระองค์เหมือนกัน นั่งเสลี่ยงเงินมีกระบวนแห่เป็นเกียรติยศ ไปยังโรงพิธีซึ่งตั้งที่ตำบลวัดผ้าขาว ครั้นถึงเวลามงคลฤกษ์พระจันทกุมาร ถือคันไถเทียมด้วยโคอุสุภราช ออกญาพลเทพ จูงโคไถ ๓ รอบ นางเทพีหว่านข้าวเสร็จแล้ว จึงปลดโคอุสุภราชให้กินน้ำ,ถั่ว,งา,ข้าวเปลือก ถ้ากินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่างๆ"
          ภายในเวลาการพระราชพิธีจรดพระนังคัลสามวันนี้ ยกพระราชทานภาษี ค่าท่าและ อากรขนอนแก่พระจันทกุมารผู้แรกนา เมื่อกระทำพิธีแล้วราษฎรจึงลงมือไถหว่านทำนาได้(บางปีฝนไม่ตก มีการทำพิธีขอฝน)


          ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ได้กระทำกันกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ไม่ได้ยกเว้น แต่ถือว่าเป็นตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียว ไม่ได้ผลัดเปลี่ยนครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วย ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย
           ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่า ผู้ใดยืนชิงช้าผู้เป็นผู้แรกนาด้วย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพลเทพ (หลวง) แรกนา......................... .....................................................................
           การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศก ศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตรจึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ
           ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ้งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่า และที่เพชรบุรีได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ้งส้มป่อยครั้งหนึ่ง
           การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้งมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหาก เรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นในที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมปวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้พนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้
           เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะพอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้ไม้สอย ติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีการราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่ แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลอีกชั้นหนึ่ง การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ก็มีกระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม..........
           พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่มีธงมีคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูปเป็นแต่ลดหย่อนลงไปบ้าง ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง ไม่มีการแปลกประหลาดอันใด
           รุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งแต่กระบวนแห่ๆ พระยาผู้แรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวน นั้นไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า........ พระยาแรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดเทียนบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งจิตอธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายหกคืบผืน ๑ ห้าคืบผืน ๑ สี่คืบผืน ๑ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคำทำนายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก
           เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่งเป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียื่นประตักด้านหุ้มแดงไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว และไถกลบอีกสามรอบจึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคำทำนาย แต่คำทำนายมักจะว่ากันว่า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์........................
           การเท่านี้เป็นเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่พระยากลับ แล้วเทวรูปกลับ        ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจุดอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตำรวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าว ว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง
           พรรณข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก..............................................  

           จากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว บางส่วน ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ได้กล่าวถึงพิธีแรกนาไว้ดังนี้ "การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมโบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝน น้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วยเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเช่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด...."
           จึงทำให้รู้ว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินทำเป็นธรรมเนียมต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ราษฎรซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  

พืชมงคลที่ท้องสนามหลวง

พระโคกำลังไถนา ในพระราชพิธี
นางเทพีทั้ง 4
มาจากสุภาพสตรีที่มีเกียรติ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลปัจจุบัน
           พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันนี้ได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการขั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูต และประชาชนได้มาชมการแรกนาเป็นจำนวนมาก
           เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าว นำไปผสมกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกหรือเก็บไว้เป็นถุงเงินเพื่อความสิริมงคล สำหรับพระโคที่จะเข้าพระราชพิธีแรกนาขวัญ จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีในทุ่งหญ้าที่จังหวัดราชบุรี อาหารที่ใช้เลี้ยงพระโคมื้อเข้าและกลางวันจะเลี้ยงดูด้วยหญ้าขน และต้นข้าวโพดเทียม ส่วนมื้อเย็นจะเป็นอาหารเสริมปรกอบด้วยข้าวโพดบด กากปาล์ม เกลือแร่ต่างๆ พระโคที่ใช้ในพระราชพิธี จะต้องมีลักษณะที่ดีขาดเกินไม่ได้คือ หูดี ตาดี แข็งแรง เข้าทั้งสองตั้งตรงสวยงาม พระโคแต่ละคู่ต้องสีเหมือนกัน ซึ่งจะมีการคัดเลือกพระโคเพียงสองสีเท่านั้น คือ สีขาวสำลีและสีน้ำตาลแดง และเจาะจงแต่เพศผู้เท่านั้นและต้องผ่านการ “ตอน” เสียก่อนด้วย  

การหาฤกษ์พระราชพิธี 
          ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์ที่วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือ กำหนดสี่อย่าง ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตำราเกร็ด เขาสำหรับใช้เริ่มที่จะลงมือแรกนา หว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ที่เขาใช้กันนั้นไม่ต้องหาฤกษ์อย่างอื่น ให้แต่ได้สี่อย่างนี้แล้ว ถึงจะถูกวันอุบาทว์โลกาวินาศก็ใช้ได้ แต่ฤกษ์จรดพระนังคัลอาศัยประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีกชั้นหนึ่ง ตามแต่จะลงวันใดในเดือนหก ดิถีซึ่งนับว่าผีเพลียนั้น ข้างขึ้นคือ ๑,๕,๗,๘,๙,๑๐,๑๑,๑๕ ข้างแรม ๑,๕,๖,๗,๘,๑๐,๑๓,๑๔ เป็นใช้ไม่ได้ ศุภดิถีนั้นก็คือ ดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั้นเอง บุรณฤกษ์นั้น คือ ๒,๔,๕,๖,๘,๑๑,๑๔,๑๗,๒๒,๒๔,๒๖,๒๗ วันสมภเคราะห์นั้นคือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกำหนดธาตุอีกอย่างหนึ่งตามวันที่โหรแบ่ง เป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ จะพรรณนาที่จะหาฤกษ์นี้ก็จะยืดยาวไป เพราะไม่มีผู้ใดที่จะต้องใช้อันใด.....

 หมายเหตุ วันพืชมงคลในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน (ดูในปฏิทินเดือนพฤษภาคม) 

กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันพืชมงคล 
        ๑. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
        ๒. จัดนิทรรศการ แสดงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวันพืชมงคลรวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

(๑) สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้ทรงเป็นต้นสกุล มาลากุล ทรงนิพนธ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เนื้อความพรรณาถึงพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือน รวมทั้งพิธีต่างๆ ซึ่งชาวบ้านได้ปฏิบัติกันเป็นประเพณี เช่น พิธีสงกรานต์ พิธีลอยกระทง เป็นต้น สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงการพิธีต่างๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับโคลงทวาทศมาสของเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

 อ้างอิง :
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระ 2396-2453.2506.พระราชพิธีสิบสองเดือน/พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.พระนคร.องค์การค้าของคุรุสภา.
เบญจมาศ พลอินทร์.2523.วรรณคดีขนบประเพณี พระราชพิธีสิบสองเดือน.กรุงเทพฯ.สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
สุภักดิ์ อนุกูล.2530.วันสำคัญของไทย.กรุงเทพฯ.อักษรบัณฑิต.
ภาพประกอบ : 
สุภักดิ์ อนุกุล และ สุชิราภรณ์ บริสุทธิ์.2530.วันสำคัญของไทย.กรุงเทพฯ.อักษรบัณฑิต.43-46.

 

ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาโดย : ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง


วันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญวันพืชมงคลพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

เหรียญราชการชายแดน

เหรียญราชการชายแดน


เปิดอ่าน 22,927 ครั้ง
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา


เปิดอ่าน 14,243 ครั้ง
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู

เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู


เปิดอ่าน 18,971 ครั้ง
ธรรมคุณ 6

ธรรมคุณ 6


เปิดอ่าน 200,638 ครั้ง
อารยธรรมกรีกโบราณ

อารยธรรมกรีกโบราณ


เปิดอ่าน 44,663 ครั้ง
ความหมายของวัฒนธรรม

ความหมายของวัฒนธรรม


เปิดอ่าน 128,092 ครั้ง
เพลงประจำอาเซียน

เพลงประจำอาเซียน


เปิดอ่าน 16,082 ครั้ง
ตำนาน บ้านบางระจัน

ตำนาน บ้านบางระจัน


เปิดอ่าน 189,249 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

เหรียญงานพระราชสงครามยุโรป

เหรียญงานพระราชสงครามยุโรป

เปิดอ่าน 15,503 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย
เปิดอ่าน 56,860 ☕ คลิกอ่านเลย

พระนามพระเป็นเจ้าทางศาสนาพราหมณ์
พระนามพระเป็นเจ้าทางศาสนาพราหมณ์
เปิดอ่าน 33,736 ☕ คลิกอ่านเลย

การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง โดยท่าน "ว.วชิรเมธี"
การถวายสังฆทานที่ถูกต้อง โดยท่าน "ว.วชิรเมธี"
เปิดอ่าน 16,224 ☕ คลิกอ่านเลย

พระพิฆเนศ
พระพิฆเนศ
เปิดอ่าน 28,755 ☕ คลิกอ่านเลย

ประวัติ มหาตมะ คานธี
ประวัติ มหาตมะ คานธี
เปิดอ่าน 64,892 ☕ คลิกอ่านเลย

ที่ราชพัสดุ คืออะไร?
ที่ราชพัสดุ คืออะไร?
เปิดอ่าน 60,659 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

"เมตา" แนะ 5 เคล็ดลับป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพทางออนไลน์
"เมตา" แนะ 5 เคล็ดลับป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพทางออนไลน์
เปิดอ่าน 12,417 ครั้ง

ระเบียบ เบิกค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปราชการ 50
ระเบียบ เบิกค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปราชการ 50
เปิดอ่าน 60,318 ครั้ง

50 สำนวนอังกฤษไม่ธรรมดาที่ใช้บ่อย และ 111 ประโยคอังกฤษสั้นๆ เพื่อผู้เริ่มหัดสนทนา
50 สำนวนอังกฤษไม่ธรรมดาที่ใช้บ่อย และ 111 ประโยคอังกฤษสั้นๆ เพื่อผู้เริ่มหัดสนทนา
เปิดอ่าน 34,892 ครั้ง

รายนามศิลปินแห่งชาติ 2559 จำนวน 12 ท่าน
รายนามศิลปินแห่งชาติ 2559 จำนวน 12 ท่าน
เปิดอ่าน 25,110 ครั้ง

รู้หรือยัง? วันนี้ (1 ก.ค.58) ประเทศไทยเปลี่ยนเวลาให้ช้าลง 1 วินาที อย่างเป็นทางการแล้ว
รู้หรือยัง? วันนี้ (1 ก.ค.58) ประเทศไทยเปลี่ยนเวลาให้ช้าลง 1 วินาที อย่างเป็นทางการแล้ว
เปิดอ่าน 20,387 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ