Advertisement
❝ สดุดีวีระประวัติ อัจฉริยะผู้พิทักษ์ไว้ ผืนแผ่นดินไทย ยังลือนาม ❞
จิตร ภูมิศักดิ์ รำลึกจากไป 43 ปี
|
ล่วงมา 43 ปีแล้ว ที่ "จิตร ภูมิศักดิ์" ถูกล้อมปราบยิงเสียชีวิตที่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ขณะเข้าป่าเป็นนักปฏิวัติ ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อต้านระบอบเผด็จการในขณะนั้น
ชีวิตของจิตรจบในวัยเพียงแค่ 36 ปี แต่ด้วยวัยขนาดนั้น จิตรเป็นทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ กวี ศิลปิน นักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักโบราณคดี และนักปราชญ์ เหล่านี้ล้วนมีผลงานเป็นหนังสือ บทเพลง บทกวี ประจักษ์มากมาย
กล่าวได้ว่า จิตรเป็นอะไรหลายๆ อย่าง ได้มากกว่าที่คนหนึ่งคนจะเป็นได้
ในงานรำลึกปีนี้ ที่อนุสรณ์สถาน จิตร ภูมิศักดิ์ ชายป่านาจารย์รวย บ้านหนองกุง จุดที่เขาต้องจบชีวิต ขณะออกจากป่ามาขอข้าวชาวบ้าน แต่มีผู้แอบไปแจ้งกำนัน ก่อนนำกลุ่มทหารอาสาตามมาล้อมยิงเสียชีวิต
ชาวบ้านหนองกุง จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณจิตร เหมือนเช่นทุกปี ตั้งแต่ค้นพบเศษเถ้ากระดูกของจิตร เพื่อระลึกถึงคุณูปการที่จิตรทิ้งไว้ให้สังคม ที่ผ่านมา เป็นการจัดกันเองของชาวบ้าน แต่ปีนี้มีหน่วยงานและองค์กรเอกชนเข้ามาร่วมด้วยเป็นปีแรก ไม่เฉพาะแค่ กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีเทศบาลตำบลคำบ่อ มหาวิทยา ลัยราชภัฏสกลนคร และมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย
มีกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงาน ผ่านการจัดเสวนาทางวิชาการ ค่ายเยาวชน "ดนตรี กวี จิตร ภูมิศักดิ์" นำกลุ่มเยาวชนในพื้นที่เข้าค่ายกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อเรียนรู้ว่า จิตร เป็นใคร พร้อมทั้งศึกษาบทประพันธ์ บทกวี และดนตรี ผลงานของจิตร
|
พระครูสังวรธรรมวงศ์ เจ้าคณะอำเภอส่องดาว อดีตเจ้าอาวาสวัดประสิทธิ์สังวร หรือ วัด หนองกุง สถานที่บรรจุอัฐิของจิตร ย้อนรำลึกช่วงเวลาที่พบเถ้ากระดูกของจิตร ว่าสมัยก่อนบริเวณที่จิตรเสียชีวิตยังเป็นป่า ชาวบ้านทราบแต่ว่ามีสหายพรรคคอม มิวนิสต์ฯ ถูกยิงและเผาที่นี่ แต่ไม่รู้ว่าคือใคร
กระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2529 นางภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวจิตร และคณะ สืบค้นมาตามหาจุดที่เสียชีวิตจนพบ เหลือเศษเถ้ากระดูกเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น จึงรวบรวมมาทำบุญอุทิศส่วนกุศล และบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดหนองกุง
ชาวบ้านจึงรับรู้ถึงเรื่องราวที่มาเถ้ากระดูกนิรนาม ก่อนทราบต่อมาว่าสิ่งที่เขาหลงเหลือไว้มีคุณูปการมากแค่ไหนสำหรับสังคมไทย
ปีต่อมาเริ่มมีคนมาจัดงานรำลึก ถัดมาอีกปีมี หงา คาราวาน และคณะ มาแสดงดนตรีที่ข้างเจดีย์บรรจุอัฐิ ชาวบ้านจึงเริ่มจัดงานรำลึกทุกปีในวันครบรอบการเสียชีวิตของนักต่อสู้ผู้นี้
ด้าน นายพล พลพนาธรรม ผอ.มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย กล่าวว่า ที่มั่นใจว่าเถ้ากระดูกเป็นของจิตร แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 20 ปี เนื่องจากบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์วันลอบสังหารยังมีชีวิตอยู่ทุกคน และยังจดจำสถานที่ได้อย่างแม่นยำ เพราะภูมิประเทศในช่วงที่พี่สาวและผู้ใกล้ชิดของจิตร สืบค้นมาจนพบนั้น ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
จุดสังเกตที่สำคัญ คือ ต้นไม้แดงขนาดใหญ่ ที่อยู่ห่างจากจุดที่จิตรเสียชีวิตประมาณ 5 เมตร และเป็นจุดเผาศพ ยังคงอยู่ ถัดไปเป็นทุ่งนา และป่าบนเนินดินจุดที่สหาย 2 คน รอรับข้าวจากจิตร หรือสหายปรีชา ที่ออกไปขอชาวบ้าน และเห็นเหตุการณ์ที่จิตรถูกล้อมฆ่า
|
ในงานครั้งนี้ ยังเสวนาทางวิชาการเรื่อง "จิตร ภูมิศักดิ์ ให้อะไรกับสังคมไทย" โดยผู้ร่วมประกอบด้วย นายทองใบ ทองเปาด์ ทนาย ความแม็กไซไซ เพื่อนสนิทของจิตร, น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตรมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, นายวิทิต จันดาวงศ์ นักคิดท้องถิ่น, และนายวิชาญ รัตนธรรม รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยา ลัยราชภัฏสกลนคร
นายทองใบ เสวนาว่า จิตรเป็นผู้ที่มีจิตอาสาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด ด้วยความเป็นผู้ที่มีหัวคิดก้าวหน้า สมัยที่เป็นนิสิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัย ฉบับวันที่ 23 ต.ค. 2496 เปลี่ยนรูปแบบแหวกออกจากกรอบเดิม ที่ลงแต่เนื้อหาซ้ำซาก เป็นเนื้อหาที่รับใช้ประชาชน
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงบทความที่เขียนลงในหนังสือ สร้างความไม่พอใจให้หลายฝ่าย ทำให้ถูกมหาวิทยาลัยตั้งกรรมการตรวจสอบ และยังถูกตำรวจสันติบาลนำตัวไปสอบสวน แม้สรุปว่าไม่มีความผิด แต่มหาวิทยาลัยยังสั่งพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี
หลังจากจบการศึกษาใน พ.ศ.2500 จิตรสอนหนังสือและมีงานเขียนออกมาจำนวนหนึ่ง และจากงานเขียนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมเข้าเรือนจำลาดยาว เมื่อ พ.ศ.2501 พร้อมกับนักหนังสือ พิมพ์ และนักเขียนอีกเป็นจำนวนมาก6 ปีผ่านไป ศาลทหารยกฟ้อง ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2507 เมื่อออกจากเรือนจำ จิตรหวังใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับครอบครัว และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย แต่กลับถูกรัฐบาลสมัยนั้นบีบบังคับทุกทาง จนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ และต้องจบชีวิตลงในเวลาไม่นาน
น.พ.พลเดช กล่าวว่า ในประวัติศาสตร์ รอบ 100 ปีให้หลัง เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกเป็นอย่างมาก และสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาชน
ประชาชนจะเป็นวีรบุรุษผู้ถากถางเรื่องประชาธิปไตย แต่ทุกคนที่เป็นผู้บุกเบิกต้องเสียสละเลือดเนื้อ และได้รับความเจ็บปวดทุกคน โดยเฉพาะ จิตรเป็นหนึ่งในวีรบุรุษที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ในปีหน้า จิตร จะมีอายุครบ 80 ปี หากยังมีชีวิต คณะทำงานทั้งหมดจึงร่วมกันสืบทอดเจตนารมณ์ เพื่อต้องการให้ประชาชนมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยจะสร้างศูนย์การเรียนรู้จิตร ภูมิศักดิ์ จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อยู่ระหว่างการออกแบบ อีกแห่งอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างการหาสถานที่ นอกจากนี้ ยังจะรวบรวมบทประพันธ์ทั้งหมด และเรื่องเล่าจากผู้ใกล้ชิด เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังศึกษา ตามความฝันของจิตร ที่ต้องการให้ปัญญาแก่เยาวชน และจัดทำสารคดีที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของจิตร เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน
โดยในวันที่ 13 มิ.ย.ที่จะจัดคอนเสิร์ต "คนยังยืนหยัดโดยท้าทาย" ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 19.00 น. เพื่อนำรายได้สมทบทุน "กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์" เป็นหนึ่งในทุนที่จะใช้ทำโครงการสายต่อตามความฝันของ "จิตร ภูมิศักดิ์"
หน้า 5 ข่าวสด ออนไลน์ ขอบคุณครับ
วันที่ 10 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,138 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,150 ครั้ง เปิดอ่าน 7,134 ครั้ง เปิดอ่าน 7,135 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,136 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง เปิดอ่าน 7,147 ครั้ง เปิดอ่าน 7,137 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,135 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,138 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,136 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 29,248 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,528 ครั้ง |
เปิดอ่าน 16,559 ครั้ง |
เปิดอ่าน 25,092 ครั้ง |
เปิดอ่าน 54,427 ครั้ง |
|
|