การปฏิบัติธรรมเปรียบเสมือนการทำสวนผักหรือปลูกแปลงดอกไม้ เรามักมีความขยันในการรดน้ำพรวนดินหมั่นใส่ปุ๋ยสวนผักเพื่อให้ธรรมะในใจเจริญงอกงาม สังเกตดูจะพบว่าผู้สนใจศึกษาเรื่องธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ ปฏิบัติธรรม มักเป็นผู้ที่มีความขยันขวนขวายให้ตัวเองได้มีความเจริญก้าวหน้าทางธรรม เพราะได้สัมผัสประจักษ์แจ้งแล้วว่า เมื่อใจมีความสงบระงับนับเป็นความสุขอันประณีต หามีสิ่งใดมาเสมอเหมือนไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่ครูบาอาจารย์จะเตือนให้เราไม่หลงลืมคือ การหมั่นถอนวัชพืชไปพร้อมๆ กัน เพราะในขณะที่เราใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ ก็ย่อมทำให้วัชพืชในดินเจริญงอกงามขึ้นมาพร้อมกันด้วย หากไม่หมั่นสังเกตสังกา ไม่มองหาและถอนวัชพืชบ่อยๆ เผลอแผล็บเดียวอาจสูงกว่าผักหรือดอกไม้ที่ปลูกไว้ อุปมาเหมือนผู้ใส่ใจในการปฏิบัติธรรม โดยส่วนใหญ่มักจะไม่รู้จักหักห้ามใจตนเอง หรือรู้ทันกิเลสที่มักจะเข้ามาในช่วงที่ไม่ได้ปฏิบัติ ด้วยเพราะอาจจะเผลอไป หรือไม่ก็มักจะชะล่าใจว่า นิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไร เพราะเราเป็นคนดี เป็นผู้ปฏิบัติธรรม หากจะตามใจตัวเองนิด ตามใจกิเลสหน่อยจะเป็นไรไป...
อาจนึกไปแม้กระทั่งว่า สมัครใจเป็นบ่าวไพร่ของกิเลสมาช้านานแล้ว จะเป็นข้าทาสบริวารกิเลสต่ออีกสักพัก สักประเดี๋ยวเดียวคงไม่เป็นไรมั้ง! ในวงเล็บ คงไม่เสียจุดยืนของเราหรอกน่ะ!
นี่แหล่ะครับความชะล่าใจของคนดี ของเหล่าบรรดานักศึกษาและปฏิบัติธรรม มักจะตั้งท่าเอาจริงเอาจังเฉพาะในชั่วโมงปฏิบัติเท่านั้น ในช่วงนอกเวลาการปฏิบัติก็มักจะเผลอใจ หลงตามใจตามกิเลส เพราะมั่นใจในความดีว่ามีมากพอ ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างยิ่ง เพราะกิเลสมักย่องเข้ามาเวลาเราเผลอ ในชั่วโมงการปฏิบัติเข้ามายาก เพราะเราตั้งท่าเอาจริง ยืนถือไม้ตะบอง เตรียมชักดาบฟาดฟันมันอยู่แล้ว แต่นอกชั่วโมงการปฏิบัตินี่สิ เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง
ครูบาอาจารย์เคยเตือนผมว่า "คุณดนัย ไปตั้งท่าจ้องมองกิเลสมันก็หลบในหายไปหมด เหมือนเป็นผู้บริหารที่กอดอกยืนคุมลูกน้อง จะไปเห็นพฤติกรรมจริงๆ ของลูกน้องได้อย่างไร ทุกคนก็ต้องเกร็ง ต้องตั้งใจทำงานเพราะโดนยืนคุม แต่หากเราแอบชำเลืองมอง โดยเฉพาะในช่วงเผลอๆ ช่วงไม่รู้ตัวนี่ละ จะได้เห็นความจริง"
ดังนั้น หากเราอยากเห็นความจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นในกายในใจเรา ก็ให้สังเกตตอนเราเป็นธรรมชาติ ตอนสบายๆ ไม่ได้ปฏิบัตินั่นล่ะครับ ได้เห็นความจริงแท้แน่นอน และจะได้มีโอกาสเห็นวัชพืชที่งอกงามขึ้นมารวดเร็วอย่างน่าตกใจ
เทคนิคในการหมั่นถอนวัชพืชในใจเราก็คือ การรู้จักหักห้ามใจ ไม่เผลอไผลไหลไปตามกิเลส โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคิดว่าไม่เป็นไร เพราะปกติคนดีจะทำบาปไม่ขึ้นอยู่แล้ว คงไม่ไปทำอะไรที่เป็นการละเมิดศีล เช่น ฆ่าคน ปล้นจี้ ลักขโมย แอบมีชู้ หรือเมาเหล้าติดยา แต่กิเลสน้อยๆ ที่ค่อยๆ ย่อง ค่อยๆ ตอดเข้ามาหาเรา อาทิ การดูบอลโต้รุ่ง แอบพนันในใจ (หรือกับเพื่อน) ว่าทีมไหนยิงประตูได้ หรือการมีอารมณ์โมโหโทโส หงุดหงิดรำคาญใจกับเรื่องราวรอบตัวต่างๆ รวมถึงการกระทำอะไรที่เป็นการตามใจจนยากที่จะเหยียบเบรก ตรงนี้ล่ะครับที่เป็นสิ่งอันตรายที่ควรระวัง
คำถามที่เราควรถามตัวเองบ่อยๆ คือ ทำไมจึงให้การศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องรองของชีวิต หรือที่เรียกว่า เป็น Second Priority ทั้งๆ ที่ทุกคนเห็นด้วยว่า ความรู้ความเข้าใจในตนเอง คือ ในกายและใจนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เป็นเกราะป้องกันความทุกข์ ความทรมาน ความเจ็บปวดรวดร้าวทั้งปวง แต่เราก็ไม่เคยเอาจริงกันเสียที ไม่ยอมอดทนต่อความเย้ายวน ไม่แตะเบรกเพื่อหยุดกิเลสทั้งหลายเสียที หากเป็นเช่นนี้ เราจะมีโอกาสได้รู้จักกับความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้อย่างไร และเมื่อไหร่กันเล่า!
นอกจากจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต ด้วยบรรดาสารพัดข้ออ้าง เช่น ต้องทำงาน ต้องเลี้ยงลูก ต้องเข้าสังคม ต้องสังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ โปรดสังเกตว่า มักจะมีความว่า "ต้อง" อยู่เสมอกับข้ออ้างไร้สาระเหล่านี้ แต่การปฏิบัติหรือทำความดีจะมีภาษาว่า "ควร" คือ เราควรทำตัวและประพฤติปฏิบัติอย่างไร เป็นการเอาเงื่อนไขไร้สาระออกไป ให้เหลือแต่ความจริงล้วนๆ ความจริงที่ประสบพบได้โดยไม่ต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าค้นหาให้เสียเวลา
ในขณะที่มือขวาเรากำลังทำความสะอาดห้องหับสถานที่ แต่มือซ้ายกำลังทำความสกปรก ถ้าเป็นเช่นนี้เมื่อไหร่จะสะอาดจริงๆ เสียที ในขณะที่รดน้ำพรวนดินสวนผัก จึงควรหมั่นถอนวัชพืชที่โตขึ้นมาพร้อมกันไปด้วย ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตใจเราให้บ่อยๆ ในช่วงเวลาสบายๆ แต่ละวันว่าวัชพืชในใจที่งอกงามขึ้นมานั้น เราหมั่นถอนออกไปบ้างหรือเปล่า
ขอบคุณที่มา http://www.posttoday.com/
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
|