สีสันไม่ได้เพียงแค่สวยงาม แต่สร้างผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราในแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งคุณจะสามารถได้ประโยชน์จากมัน เมื่อเลือกใช้ให้เหมาะเจาะ
เคยรู้สึกหรือเปล่าว่าซึมเศร้าเพียงใด ยามที่เดินเข้าไปในห้องอันมืดทึบ ไม่มีหน้าต่างหรือสีสันอันสดใส หรือรู้สึกหิวแค่ไหนเวลาที่ถูกแวดล้อมด้วยผนังสีแดง นั่นล่ะคืออำนาจของสีที่มีต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรา และต่อไปนี้ผลกระทบทางจิตวิทยาทั่วๆ ไปของสีบางสี อย่างไรก็ตาม ถ้าสีเหล่านั้นสัมพันธ์กับประสบการณ์ส่วนตัวบางอย่าง มันก็อาจมีผลกระทบแตกต่างไป เช่น ถ้าคุณเคยได้รับความผิดหวังหรือสะเทือนใจจากจดหมายในซองสีเขียว สีเขียวก็จะทำให้คุณนึกถึงความเศร้าโศกและเสียใจ นั่นเป็นแง่มุมที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่ต่อไปนี้คือแง่มุมของสีในแบบที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว ซึ่งได้การยอมรับจากนักวิจัยส่วนใหญ่
ผลกระทบทางจิตวิทยาของสีแดง
เป็นสีที่ดึงดูดใจ ก่อกวนอารมณ์และชวนให้ตื่นเต้น กระตุ้นต่อมพิทูอิทารีและต่อมอะดรีนาลีน และทำให้มีการหลั่งอะดรีนาลีน อาจเพิ่มความดันโลหิตและการหายใจ และกระตุ้นความอยากอาหารและประสาทสัมผัสในเรื่องกลิ่น บ่อยครั้งตามภัตตาคารจึงทาสีแดง จึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการทาสีห้องรับประทานอาหาร แต่ควรระวังในเรื่องความเข้มของสี สีแดงสดเกินไป กระตุ้นการตอบสนองในแง่ลบสำหรับคนส่วนใหญ่ เนื่องจากมันมักจะสื่อถึงอันตรายหรือปัญหา ตัวอย่าง เช่น สัญญาณเตือนต่างๆ ที่มักใช้เฉดสีนี้
ผลกระทบทางจิตวิทยาของสีฟ้า/น้ำเงิน
สีฟ้าเชื่อมโยงกับความสงบ ความสะอาด และทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ร้านหมอและร้านหมอฟันจึงนิยมใช้สีนี้ สีฟ้าสามารถใช้ในห้งอนอนและห้องน้ำ เนื่องจากเป็นห้องที่เรามักจะอยากผ่อนคลาย สีนี้ยังให้ผลตรงข้ามกับสีแดง นั่นก็คือมันกดความอยากอาหาร เพราะเมื่อคุณเห็นสีฟ้า สมองของคุณจะปล่อยสารสื่อประสาท 11 ชนิด ที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ทำให้อุณหภูมิร่างกาย เหงื่อ และความอยากอาหารลดลง และสีฟ้ายังไม่ใช่สีตามธรรมชาติของผลไม้ ผัก หรือเนื้อสัตว์ (แม้แต่บลูเบอร์รี่ก็เป็นสีม่วงมากกว่าน้ำเงิน) อีกด้วย
ผลกระทบทางจิตวิทยาของสีเขียว
สีนี้สัมพันธ์กับธรรมชาติ สุขภาพ และยังเชื่อมโยงกับเงิน ความมั่นคง และโชคดี หากใช้ในบ้าน สีเขียวอ่อนดีทั้งสำหรับห้องนอน ลีฟวิ่งรูมและห้องสำหรับครอบครัว สีเขียวเข้มเหมาะสำหรับครัวและห้องกินข้าว เนื่องจากเป็นสีที่สัมพันธ์กับสุขภาพและอาหาร สีเขียวเป็นสีที่น่าสนใจ เพราะมันสามารถแกว่งไปได้สองทาง ตัวอย่างเช่น สีเขียวมักสื่อถึงความสดชื่น ความเย็น ความแจ่มใส และการเติบโต แต่ถ้าคุณฉายแสงสีเขียวลงบนเนื้อหนังของคนเรา มันจะดูน่ารังเกียจ เมื่อเอาแสงสีเขียวส่องหน้าอาชญากร คุณมักจะได้คำสารภาพเร็วกว่าการใช้สีอื่น
ผลกระทบทางจิตวิทยาของสีส้ม
สัมพันธ์กับความอบอุ่น กระตือรือร้น และความเบิกบาน มันเป็นสีที่มีชีวิตชีวา แต่ไม่รุนแรงเท่าสีแดง เพราะมันผสมด้วยความสดในของสีเหลือง สีส้มมักถูกนำมาใช้เพื่อเรียกความสนใจ และใช้ได้ดีอย่างมากในการตกแต่งห้องพักผ่อน หรือห้องสำหรับครอบครัว รวมทั้งเป็นสีที่ดีที่สุดสำหรับกระตุ้นการเรียนรู้
ผลกระทบทางจิตวิทยาของสีเหลือง
เป็นสีแรกที่คนเราสามารถแยกแยะได้ในสมอง เป็นสีที่กระตุ้นสำนึกของการมองโลกในแง่ดี ความหวังและความสมดุล เหมาะอย่างมากสำหรับใช้ในห้องเรียนภายในบ้าน ใช้ได้ดีในลิฟวิ่งรูมและห้องครอบครัว และเหมาะอย่างมากสำหรับการทำให้บริเวณที่มืดๆ ในบ้าน เช่น โถงบันไดสว่างและสดใสขึ้น
ต่างสีต่างวัฒนธรรม
นอกจากปัจจัยทางจิตวิทยา วัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็ส่งผลให้คนเรามองบางสีต่างกันไปด้วย
สีแดง คนจีนถือเป็นสัญญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองและโชคดี ใช้ในพิธีทุกอย่างตั้งแต่งานศพไปจนถึงงานแต่ง ส่วนอินเดีย ถือเป็นสีของความบริสุทธิ์ จึงใช้กับชุดแต่งงาน
สีเหลือง เป็นสีของความศักดิ์สิทธิ์และสีของราชวงศ์สำหรับคนเอเชีย ขณะที่เป็นสีแห่งความรื่นรมย์ของคนตะวันตก
สีฟ้า เป็นสีที่สื่อถึงความเป็นอมตะสำหรับคนจีน และเป็นสีพระกฤษณะของชาวฮินดู แต่เป็นสีสำหรับสบู่ของคนโคลัมเบีย
สีเขียว เป็นสีที่ไม่เหมาะสำหรับหีบห่อสำหรับคนจีน และยังถือกันว่าการใส่หมวกสีเขียวเป็นการบอกว่าภรรยาผู้ชายคนนั้น กำลังนอกใจเขาอยู่ ขณะที่ในอินเดียนี่เป็นสีของอิสลาม
ที่มา : Lisa