Advertisement
กระบวนการสร้างจำเลยสังคม ผ่าน forward เมล |
|
ในช่วงที่สภาวะทางการเมืองเกิดความวุ่นวาย การช่วงชิงมวลชนผ่านทางพื้นที่สื่อต่างๆ นับเป็นกลยุทธ์สำคัญประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในการกำชัยชนะเหนือฝ่ายตรงข้าม
นับเป็นระยะเวลาอันยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ นับแต่มนุษย์ได้ให้กำเนิดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการส่งผ่านข้อมูลแบบทั่วถึงและรวดเร็วทันใจ เช่น อินเตอร์เน็ต จนถึงปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลสูงสุดประเภทหนึ่งที่สามารถช่วยการส่งข่าวสารใดๆ ไปในวงกว้างได้ตามที่ผู้ส่งต้องการสื่อ
จากสถิติประเทศไทยในปี 2550 พบว่าในจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไประมาณ 59.97 ล้านคน มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.04 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26.8 และมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 9.32 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.5 ของจำนวนประชากรในวัยดังกล่าว (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
จากสถิติตัวเลขผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมหาศาลข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ระดมพลช่วงชิงมวลชนโดยอาศัยพื้นที่สื่อบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งกำลังระบาดหนักและเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่พบเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเมืองที่กำลังเข้มข้นในปัจจุบัน
ไม่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น บ่อยครั้งที่ได้เห็น forward เมล ที่มีใจความโจมตีบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างโจ๋งครึ่ม โดยระบุชื่อ นามสกุล (รวมถึงภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน) ของผู้ถูกโจมตีอย่างแจ่มชัด ซึ่งผู้ได้รับมักอดไม่ได้ต้องรีบส่งต่อไปยังเพื่อนฝูงทันที โดยมีวัตถุประสงค์ (หรือเจตนาดี) เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้พฤติกรรมอันชั่วร้าย
การกระทำแบบนี้ จะเรียกว่าการรวมหัว "ด่า" กันทางอินเตอร์เน็ต ก็คงไม่ผิดนัก
ในกรณีนี้การส่งต่อข้อมูลในทางบวกคงไม่เป็นปัญหาเท่ากับการส่งต่อข้อมูลในทางลบ และปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ คงไม่ใช่เรื่องน่าวิตก หากประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้ที่ให้ข้อมูล และส่งข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตกว่าร้อยละ 90 เป็นบุคคลทั่วไป ไม่ใช่ผู้ที่มีวิชาชีพโดยตรงในทางสื่อสารมวลชน
เป็นที่ชัดเจนว่าผู้มีวิชาชีพสื่อสารมวลชน ล้วนมีมาตรฐานจริยธรรมและความรับผิดชอบธรรมต่อวิชาชีพและข้อมูลข่าวสารที่ตนส่งออกไปตามกฎเกณฑ์เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อ โดยสื่อวิทยุและโทรทัศน์จะอยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2541
ในขณะที่บุคคลผู้ส่งข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่หันมาใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วกว่า เป็นช่องทางหนึ่งในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารอะไรก็แล้วแต่ตามที่ตนเองต้องการ
แล้วเราจะมีมาตรการอะไรมาควบคุมผู้ส่งสารเหล่านี้???
ตามปกติสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป ได้รับการรับรองร่วมกันไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 45 ที่บัญญัติให้บุคคลธรรมดาและสื่อสารมวลชนล้วนมีเสรีภาพในการการสื่อสารทุกประการ การกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ อันเป็นการจำกัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารดังกล่าว ย่อมขัดต่อหลักประชาธิปไตยและจะกระทำมิได้
เว้นแต่เฉพาะการสื่อสารที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ "การสื่อสารที่กระทบถึงบุคคลอื่น " หรือการสื่อสารที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เฉพาะ "การสื่อสารที่กระทบถึงบุคคลอื่น" ซึ่งจำแนกออกเป็นด้านสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือสิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้น ยังได้มีการบัญญัติรับรองไว้อีกชั้นภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยละเมิดและหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายอาญา
บัญญัติทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นถือเป็นหลักทั่วไป ในขณะที่การส่งข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะโดยบุคคลทั่วไปหรือสื่อมวลชน ยังถูกควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน จะต้องรับผิดในการนำเข้าเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลของตน
ตัวอย่างคดีประเภทนี้เช่น คดีหมายเลขแดงที่ 3529/2547 ผู้เสียหายถูกบุคคลนิรนามโพสต์ถ้อยคำซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาทลงในอินเตอร์เน็ต ผู้เสียหายได้เริ่มคดีโดยเข้าแจ้งความกับตำรวจเพื่อสืบหา IP และค้นหาตัวผู้กระทำผิด จนรู้ตัวว่าเป็นใคร และในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินว่าบุคคลนั้นมีความผิดในคดีหมิ่นประมาททางอาญา มาตรา 328 โดยเรียงตามกระทงที่ทำผิดตามจำนวนครั้งที่เขียนลงข้อความ รวม 5 กระทง ตัดสินให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวมจำคุก 15 เดือน และปรับ 50,000 บาท ต่อจากนั้น ผู้เสียหายยังได้ดำเนินการฟ้องเรียนค่าเสียหายในคดีแพ่ง ซึ่งจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้โดยไม่มีการจำกัดเพดานสูงสุด ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
หากคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 บัญญัติไว้ว่า ผู้กระทำผิดอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ใช้บริการสื่ออินเตอร์เน็ตมีจำนวนมาก และข้อมูลที่ถูกส่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะสามารถเคลื่อนย้ายไปได้รวดเร็วกว่าการสื่อสารทางสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่วิทยุโทรทัศน์หลายเท่า นอกจากนี้ยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และยังสามารถทำสำเนาแจกจ่าย หรือสามารถส่งซ้ำๆ ได้หลายๆ ครั้งเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
แม้จะมีมาตรการควบคุมตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่กว่าจะหาตัวผู้กระทำผิดและรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลเท็จเหล่านั้นก็ถูกเผยแพร่ไปไกลและส่งผลเสียหายเกินเยียวยาเสียแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ในฐานะผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตคนหนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการควบคุมการส่งผ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตโดยอาศัยกฎหมายแต่เพียงประการเดียวคงไม่เพียงพอ เราในฐานะผู้ใช้บริการทุกคนจึงจำเป็นต้องอาศัยจริยธรรมส่วนบุคคลมาร่วมด้วย
รศ.ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ รัฐ-ชาติ กับ (ความไร้) ระเบียบโลกชุดใหม่ (2549) ดังนี้ว่า
"ในโลกที่ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารเผยแพร่อย่างรวดเร็ว มากมาย หลากหลาย และกว้างขวาง พร้อมๆ กับการมีอิสระเสรีในการเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ ใครมีความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ก็สามารถเผยแพร่ในวงกว้างได้ง่ายสะดวก และรวดเร็วผ่านการสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งการให้ข้อมูลความรู้ในการทำยาพิษจากสารเคมีต่างๆ หรือการทำระเบิด ก็อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอๆ
ความสำคัญของสังคมแบบนี้มิได้อยู่ที่ตัวความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร แต่ความสำคัญกลับอยู่ที่ความสามารถในการแยกแยะและคัดสรรบรรดาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ที่มีอยู่อย่างมากมายและดาษดื่น เพื่อไม่ให้เกิดอาการท้องอืดแน่นเฟ้อ อันเป็นผลมาจากการอัดแน่นของข้อมูล นั่นคือ ยิ่งโลกมีความรู้ ข้อมูล ข่าวสารมากเท่าใด เรายิ่งมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาความสามารถในการแยกแยะ คัดสรร และสังเคราะห์สิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์"
ในฐานะผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนอยากเสนอให้เราทุกคนร่วมกันมีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีกระบวนการใช้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ในทางสร้างสรรค์ ด้วยการคิด พิเคราะห์ ก่อนการส่งผ่านข้อมูลต่างๆ ทุกครั้งว่า ข้อมูลที่ส่งออกจากมือเรา จะส่งผลเสียหายในทางลบต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือไม่
ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เชื่อว่าไม่มีใครเกิดมาชั่วร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดจำเป็นต้องถูกประจานทั้งชื่อสกุลทาง forward เมล ให้จงเกลียดจงชังกันต่อๆ ไปถึงลูกถึงหลานกระทั่งหมดโอกาสในชีวิต
แม้แต่อาชญากรในความผิดฉกรรจ์ เช่น นักโทษประหาร ท้ายที่สุดยังมีพื้นที่ยืนในสังคม โดยอาศัยกระบวนการลดหย่อนผ่อนโทษตามกฎหมาย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เคยผิดพลาดเหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้เช่นคนปกติ
โปรดคิด ก่อนกด enter ทุกครั้งอย่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างจำเลยสังคมผ่าน forward เมล
|
จาก วาไรตี้
วันที่ 8 พ.ค. 2552
ขายดีมากครับคุณครู (พร้อมส่ง) เครื่องเคลือบบัตรA4 รุ่นSL200 เครื่องเคลือบกระดาษA4 A3 A5 ABSป้องกันการ์ด ในราคา ฿368 - ฿999 ที่ Shopeehttps://s.shopee.co.th/4VLvxbi7ho?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,208 ครั้ง เปิดอ่าน 10,452 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,170 ครั้ง เปิดอ่าน 7,183 ครั้ง เปิดอ่าน 7,169 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,164 ครั้ง เปิดอ่าน 7,152 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,159 ครั้ง เปิดอ่าน 7,188 ครั้ง เปิดอ่าน 7,163 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,169 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,164 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,167 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,895 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,240 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 4,063 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,563 ครั้ง |
เปิดอ่าน 3,526 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,826 ครั้ง |
เปิดอ่าน 9,604 ครั้ง |
|
|