พระคุณที่สาม
เรื่องสั้น......สกุลไทย โดย กฤตย์
“แม่พิมพ์ของชาติ” คำพูดมีนัยยะหมายถึง “ครู” ผู้ที่มีหน้าที่อบรม สั่งสอนเหล่าศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ เพียบพร้อมไปด้วยจริยธรรม และคุณธรรม เพื่อประโยชน์ในการสรรค์สร้างสังคม และประเทศชาติต่อไป แต่ในปัจจุบันวิชาชีพครู ได้ถูกลดความสำคัญลง อันเนื่องมาจากการมุ่งเน้นผลิตบุคลากรสาขาอื่นๆ อาทิ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ เภสัชกร โดยมองข้ามการคงไว้ซึ่งบทบาทและความสำคัญของวิชาชีพครูเช่นแต่เดิม หากสิ่งนี้ยังคงไม่ได้รับการเหลียวแลจากทุกๆ หน่วยในสังคม สักวันหนึ่งสังคมและประเทศชาติคงเสื่อมโทรมลง เพราะว่าเราขาด “แม่พิมพ์” ที่ดีและมีคุณภาพ มาหล่อหลอมลูกหลานของเรา ให้เติบโตกลายเป็นบุคลากรอันทรงคุณค่าของสังคมต่อไป
เย็นวันนี้ “ครูอารีย์” ข้าราชการครูวัย ๖๐ ปี ยังคงนั่งตรวจงานอยู่ในห้องแต่เพียงผู้เดียว เธอหยิบสมุดเล่มแล้วเล่มเล่าที่วางเป็นชั้นสูงอยู่เบื้องหน้ามาอ่านอย่างตั้งใจ แก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ด้วยปากกาหมึกสีแดง แล้วปิดสมุดวางเป็นชั้นอย่างเรียบร้อย อายุและความชราของร่างกายคงไม่อาจลดทอนเอาความตั้งใจจริงของเธอไปได้
“ครูครับ ครูยังไม่กลับบ้านอีกหรือครับ นี่ก็เย็นมากแล้วนะครับ”
เธอค่อยๆ เงยหน้าขึ้นมองดูต้นเสียง แล้วยิ้มอย่างเอ็นดู พลางตอบไปว่า “ยังหรอก ไว้ตรวจงานเสร็จแล้วค่อยกลับ แล้วเธอล่ะ ยังไม่กลับบ้านอีกหรือ กิตติศักดิ์”
“กำลังจะกลับครับ พอดีเพิ่งซ้อมบอลเสร็จครับ งั้นผมขอตัวก่อนนะครับ สวัสดีครับ” เด็กหนุ่มอายุราว ๑๔ ปี ตอบ พร้อมกระพุ่มมือไหว้ด้วยท่าทางอ่อนน้อม แล้วเดินออกไปจากหน้าห้องนั้น กิตติศักดิ์เคยเป็นนักเรียนประจำชั้นของครูอารีย์เมื่อปีที่แล้ว ชีวิตของเขาไม่ได้สุขสบายเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เขาอายุได้ ๒ ขวบเศษ ทิ้งภาระไว้ให้ผู้เป็นยายต้องรับผิดชอบ ทุกๆ วันเขาจะหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทั้งตัวเองและยายที่แก่ชรา ลำพังแค่การกินอยู่ก็ฝืดเคืองมาก แต่เขาเองก็ยังมีความมานะที่จะใฝ่หาความรู้ พยายามส่งเสียตัวเองเล่าเรียนมาเรื่อยๆ จนเมื่อมาพบกับครูอารีย์เธอได้ให้การสนับสนุนเขาให้รับทุนการศึกษาตลอดจนกว่าจะเรียนจบ ทำให้ชีวิตที่เคยลำบากของเขามีความสุขสบายขึ้น นอกจากกิตติศักดิ์แล้ว นักเรียนที่มีปัญหาอีกหลายคน หลายรุ่นที่ผ่านมาต่างได้รับการจุนเจือ และแก้ไขปัญหาจากครูอารีย์ทั้งสิ้น ดังนั้น สำหรับพวกเขาแล้วครูอารีย์จึงเปรียบเสมือนแม่คนที่สองของชีวิต
ครูอารีย์รับราชการครูมาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีอาคารไม้ ๒ ชั้น เพียงหลังเดียว เด็กนักเรียนก็มีเพียง ๕๐ กว่าคนเท่านั้น จนถึงทุกวันนี้ โรงเรียนแห่งนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด มีนักเรียนกว่า ๒,๐๐๐ คน อาคารเรียนไม้ถูกแทนที่ด้วยตึกสูง ๔ ชั้นหลายหลัง อุปกรณ์การเรียนการสอน ได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนมีทุกสิ่งทุกอย่างครบครัน แม้ว่าภาพลักษณ์ภายนอกของโรงเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด แต่ครูอารีย์ก็ยังคงตั้งใจสอนลูกศิษย์ของเธอไม่เปลี่ยนแปลง ทุกวันเธอจะมาโรงเรียนแต่เช้า เข้าสอนทุกชั่วโมงมิเคยขาด พัฒนาความรู้ของตัวเองให้ทันความเปลี่ยนแปลง กระแสโลกตลอดเวลา และกว่าจะกลับบ้านก็เย็นย่ำเต็มที แต่หลังจากพรุ่งนี้แล้ว กิจวัตรที่เธอเคยปฏิบัติมาตลอด ๔๐ ปี จะจบสิ้นลง เธอจะได้กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายของเธอกับลูกๆ หลานๆ ของเธออย่างมีความสุข
รุ่งขึ้น ครูอารีย์ยังคงนั่งสามล้อถีบเข้ามาในโรงเรียนเหมือนทุกวัน แต่สำหรับเธอแล้ว วันนี้คงเป็นวันที่มีคุณค่าแก่การจดจำมากที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของเธอ แลคงเป็นวันที่ครูอารีย์เสียใจมากที่สุดวันหนึ่งเช่นกัน สายตาของเธอค่อยๆ กวาดมองสิ่งต่างๆ ในโรงเรียนแห่งนี้ สถานที่ที่เธออารีย์ใช้ชีวิตกว่าครึ่งค่อนชีวิตผูกพันอยู่ สถานที่ที่เธอได้ปฏิบัติหน้าที่ความเป็นครูอย่างเต็มที่ และเป็นสถานที่ที่ครูอารีย์รักมากที่สุด เธอมองทุกอย่างซ้ำไปซ้ำมาราวกับจะเก็บเอาภาพทุกส่วนทุกอณูมาไว้ในห้วงทรงจำอันมีค่าของเธอ
ทุกๆ เช้า ที่สนามฟุตบอลจะมีนักเรียน ทั้งมัธยมต้นและปลายรวมกลุ่มกันเล่นฟุตบอลอยู่บ้างก็นั่งคุยหยอกล้อกันที่ม้านั่งตามใต้ต้นไม้ที่มีอยู่มากมายในโรงเรียน บ้างก็นั่งทำการบ้านที่จะต้องส่งในวันนี้ ครูอารีย์คงไม่อาจลืมเลือนที่จะเก็บเอาสิ่งที่เธอพบเห็นมาตลอดนี้ไว้ในเศษเสี้ยวความทรงจำของเธอ แม้ว่าจะเป็นเศษเสี้ยวหากแต่จะเป็นส่วนที่ส่องสว่างอยู่ในใจของครูอารีย์ตลอดไปเช่นกัน
“ครูครับ หวัดดีครับ” นักเรียนที่เธอเดินผ่านยกมือไหว้เธออย่างนอบน้อม นักเรียนพวกนี้เธอเคยสอนพวกเขามานานแล้ว แม้วันนี้พวกเขาจะเติบโตขึ้น แต่เขาก็ยังคงให้ความเคารพเธอเหมือนเดิม นอกจากนักเรียนที่ยังเรียนอยู่แล้ว ศิษย์เก่าที่จบไปบ้างเป็นนายตำรวจใหญ่ บ้างเป็นหมอ บ้างเป็นนักธุรกิจใหญ่โตต่างก็ยังคงเคารพเธอเหมือนสมัยที่เธอเคยสอนพวกเขามา
“ครูครับ สวัสดีครับมาแต่เช้าเชียวนะครับ” กิตติศักดิ์เดินยกมือไหว้เข้ามาทักทายเธอ
“เธอก็เหมือนกันนะ แล้ววันนี้ไม่ไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ เหรอ” ครูอารีย์ถาม พลางรับไหว้ สายตาที่เธอมองนักเรียนเป็นสายตาของความเอ็นดู ความรัก และความปรารถนาดีเสมอ
“ผมทำการบ้านไม่ได้ครับ เลยมาทำที่โรงเรียนตอนเช้า”
“มีอะไรไม่เข้าใจก็มาถามครูได้นะ”
“ครับ ขอบพระคุณมากครับ” กิตติศักดิ์กล่าวขอบคุณแล้วเดินกลับเข้าห้องเรียนของเขา ครูอารีย์เองก็เดินตรงไปยังห้องพักครู ห้องที่เธอใช้ทำงานในช่วงที่เธอไม่มีชั่วโมงสอน
ชีวิตครูตลอดเวลา ๔๐ ปี ของครูอารีย์ เธอทุ่มเทให้กับการศึกษาอย่างเต็มที่ นักเรียนที่สงสัยในบทเรียนสามารถมาถามเธอได้เสมอ แทบเรียกได้ว่าทุกที่ และทุกเวลา เธอมีแบฉบับการสอน การอธิบาย ที่เป็นของตัวเธอเอง เธอมักยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันมาใช้อธิบายเนื้อหาที่นักเรียนมักไม่เข้าใจ ซึ่งวิธีการของเธอนั้นช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเห็นภาพพจน์ได้ดีกว่าการให้ท่องจำ การสอนของเธอเป็นการสอนให้เกิดกระบวนการคิดตลอดเวลา เธอมักพูดเสมอว่าการท่องเนื้อหาในตำรา ย่อมมีโอกาสที่จะลืม แต่ถ้าเป็นการใช้ความเข้าใจแล้ว จะไม่มีโอกาสลืมเลย ยิ่งได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันแล้วยิ่งฝังแน่นเข้าไปในสมองยิ่งขึ้น ครูอารีย์จึงสอนให้นักเรียนเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งต่างจากครูท่านอื่นๆ บางท่าน
เมื่อครูอารีย์เดินมาถึงห้องพักครู ทุกวันที่เธอจะพบเห็นก็คือ ภาพที่ครูสาวๆ บางท่าน นั่งจับกลุ่มคุยเรื่องละครโทรทัศน์ ขายเครื่องสำอาง เครื่องครัว ของใช้จิปาถะที่สรรหามาขายกันได้ บ้างก็นั่งอวดเครื่องเพชรเครื่องทองที่ตนเองสวมใส่มา ครูที่โรงเรียนแห่งนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องหารายได้เสริม เพราะมีรายจ่ายมากเกินกว่าเงินประจำเดือนที่ได้รับจากทางราชการ สาเหตุหลักก็คงนับได้ ๒ ข้อ ข้อแรกก็คงเป็นเงินเดือนของข้าราชการครูนั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ส่วนข้อที่สองก็คงเป็นที่ตัวครูพวกนั้นเอง ที่ใช้เงินกันฟุ่มเฟือย มีรถมอเตอร์ไซค์ ก็อยากมีรถยนต์ มีรถยนต์แล้วก็อยากมีบ้าน เห็นคนอื่นมีบ้านราคา ๑๐ ล้าน ก็อยากมีบ้าง จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ทุกวันนี้ ครูอารีย์เห็นครูรุ่นหลังๆ แล้ว ทำให้รู้สึกเป็นห่วงอนาคตของการศึกษายิ่งนัก แต่ก่อนคนที่จะมาเป็นครูต่างต้องสอบแข่งขันกันหลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่คิดจะเรียนครู ก็ต้องคัดเลือกคนที่เรียนเก่งที่สุด เมื่อเรียนจบก็ต้องสอบบรรจุเข้ารับราชการ ถึงจะมาเป็นครูได้ พอเริ่มรับราชการ ทั้งพ่อแม่ ญาติเครือต่างก็ดีอกดีใจที่ลูกหลานได้เป็นครู เพราะเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ เชิดหน้าชูตาวงศ์ตระกูล แต่สมัยนี้ถ้าลูกหลานใครสักคนบอกกับพ่อแม่ว่าอยากเป็นครู คงเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกผิดหวัง ค่านิยมในสมัยนี้มองว่า อาชีพครูเป็นอาชำที่ทำรายได้ได้ไม่ดีนัก เชิดหน้าชูตาวงศาคณาญาติได้ไม่เท่าเทียมกับอาชีพอื่น คนที่คิดจะเป็นครูส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นคนที่สอบเอ็นทรานส์เข้าคณะอื่นไม่สำเร็จ หรือไม่ก็เลือกเรียนครูเป็นอันดับท้ายๆ เผื่อว่าจะสอบเข้าคณะอื่นไม่คิดก็จะได้มีที่เรียน
เมื่อคนเหล่านี้จบมาทำงาน ก็ใช่ว่าจะภาคภูมิใจกับการเป็นครูของตนเองมากเท่าใดนัก เมื่อมีคนมาเรียกพวกเขาว่า “ครู” พวกเขาก็มักจะแสดงสีหน้าไม่พอใจ เขาเหล่านี้ต้องการให้คนทั่วไปเรียกเขาว่า “อาจารย์” มากกว่า คำสองคำที่มีความหมายลึกซึ้งนี้ พวกเขาเข้าใจมันอย่างดีหรือเปล่า หรือเพียงแต่ต้องการเรียกขานให้ดูโก้เก๋เท่านั้นเองง แต่สำหรับครูอารีย์แล้ว เธอภูมิใจที่จะให้นักเรียนและคนทั่วไปเรียกเธอว่า “ครู”
ครูอารีย์เข้ามานั่งเตรียมการสอนในห้องทำงาน ท่ามกลางครูรุ่นใหม่ท่านอื่นๆ เธอนั่งทำงานสักพักก็ใกล้เวลาเข้าแถวเคารพธงชาติแล้ว นักเรียนเริ่มทยอยออกไปที่สนาม อีกไม่นาน ครูอารีย์ก็คงต้องลงไปเข้าแถวเหมือนกัน กิจวัตรหนึ่งที่ครูอารีย์มิได้ขาด ก็คือ การไปร่วมเข้าแถวเคารพธงชาติกับนักเรียน เธอมองว่านี่เป็นหน้าที่ที่เธอต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับการสอน หนังสือ เพราะเมื่อเธอได้ไปร่วมกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติกับนักเรียน เธอก็จะช่วยดูแลความเรียบร้อยและรับทราบเรื่องราวต่างๆ ที่จะมีการประกาศหลังเคารพธงชาติ และสวดมนต์แล้ว ครูหลายท่านไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมนี้ อ้างเหตุผลว่าไม่อยากตากแดด และการเข้าแถวเคารพธงชาติเป็นเรื่องของนักเรียน พวกเธอไม่จำเป็นต้องไปร่วมก็ได้
หลังจากเคารพธงชาติแล้ว ปกติถ้ามีชั่วโมงสอน ครูอารีย์ก็จะเข้าสอนไม่เคยขาด แต่ถ้าเธอว่างเธอก็มักจะเตรียมการสอนอยู่ในห้องพัก หรืออาจจะไปค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่จากหนังสือในห้องสมุด ทุกวันนี้โลกมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง เนื้อหาในตำราที่หลักสูตรกำหนดแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอให้นักเรียนได้เรียนรู้ ครูอารีย์จึงต้องเป็นผู้รวบรวมเอาความรู้เหล่านั้นมาบอก มาเล่าให้นักเรียนได้รู้เอาไว้
เวลาผ่านพ้นไป ตอนนี้ก็เกือบเที่ยงแล้ว ครูอารีย์กลับไปห้องพัก ทุกวันเธอจะเตรียมอาหารกลางวันมาจากบ้าน วันนี้ก็เช่นเคย ข้าว ๑ ถ้วย กับข้าว ๒ อย่าง ก็เพียงพอสำหรับการดำรงชีพของเธอในหนึ่งมื้อแล้ว ครูท่านอื่นอาจจะออกไปหาอาหารกลางวันข้างนอกรับประทานกัน บางท่านออกไปนาน กว่าจะกลับก็กลับมาสอนชั่วโมงบ่ายไม่ทัน นักเรียนต้องนั่งรอ ๑๐ นาทีบ้าง ๒๐ นาทีบ้าง บางทีถึงขั้นต้องงดชั่วโมงนั้น เพราะครูผู้สอนกลับมาไม่ทันเวลา
“ครูครับ ขออนุญาตครับ” กิตติศักดิ์และเพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งยืนอยู่หน้าห้องพักครู นักเรียนที่ผ่านการสอนจากครูอารีย์จะมีมารยาทดีกันทุกคน เพราะนอกจากเธอจะสอนเนื้อวิชาในตำราแล้ว จรรยามารยาทนอกตำราก็เป็นสิ่งที่เธอพร่ำสอนนักเรียนของเธอเสมอมิได้ห่าง เหมือนคำที่บอกว่า
ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มรรยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
... ...
... ...
“เชิญค่ะ มีธุระอะไรกับใครคะ”
“พวกเราเอาของมาให้ครูครับ” กิตติศักดิ์แกนนำกลุ่มเพื่อนๆ เดินเข้ามาในห้อง ในมือมีพวงมาลัยดอกมะลิ ๑ พะวง พวกเขาคุกเข่าลง เด็กชายวางมาลับบนตักของครูอารีย์
“แด่ครูของพวกเราครับ”
ครูอารีย์ไม่สามารถพูดอะไรกับเด็กๆ กลุ่มนี้ได้ ความตื้นตันใจเอ่อล้นออกมาทางดวงตา น้ำตาแห่งความปีติไหลรินออกมาไม่ขาดสาย เธอรับพวงมาลัยจากเด็กหนุ่ม มืออีกข้างลูบศีรษะพวกเขา เด็กคนอื่นต่างเข้ามากราบที่ตักของเธอทีละคน ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นนักเรียนที่เธออบรมสั่งสอนมาทั้งสิ้น
หนึ่งชีวิตของความเป็นครูที่ไม่เคยหวังผลตอบแทนแม้แต่น้อยนิดจากเหล่าศิษย์ และหนึ่งชีวิตที่พร่ำสั่งสินศิษย์ให้เพียบพร้อมด้วยความรู้มาตลอด วันนี้หนึ่งชีวิตนั้นได้รับการตอบแทนที่คุ้มค่าเกินบรรยายเป็นคำพูดใดๆ ความอิ่มเอิบเข้าชโลมหล่อเลี้ยงหัวใจของความเป็นครูให้เบิกบาน สดใสอย่างฉับพลัน
กิตติศักดิ์และเพื่อนๆ ยังนั่งอยู่อย่างเดิม ครูอารีย์มองหน้าเด็กเหล่านี้ทีละหนๆ เธอกล่าวขอบใจนักเรียนเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา แต่เสียงนี้ก็เป็นเสียงที่เสนาะไพเราะโสตผู้ที่ได้ยิน
“ขอบใจมากนะคะ พรุ่งนี้ครูก็คงไม่ได้มาสอนที่นี่อีกแล้ว ขอให้พวกเธอตั้งใจเรียนกันให้มากนะ พยายามใฝ่หาความรู้อย่าได้ขาด หวังว่าพวกเธอจะมีอนาคตที่ดีๆ กันทุกคน
“ขอบคุณครับ” เด็กๆ กล่าวขอบคุณในคำอวยพรของครูอารีย์ บางคนก็ขอตัวออกไป แต่ก็ยังมีอีกส่วนที่ยังอยู่คุยกับเธอ
“ครูครับ ผมจะสอบเข้าเรียนครูนะครับ แล้วเมื่อเรียนจบผมก็จะมาทำงานที่นี่ มาเป็นครูที่ดีเหมือนที่ครูเป็นครับ” กิตติศักดิ์เอ่ยขึ้นมา หน้าตามุ่งมั่น เอาจริงเอาจังกับสิ่งที่พูดเป็นเครื่องรับประกันว่าเขาจะต้องทำได้ดังที่เขาบอกเอาไว้
“เหรอคะ ดีนะ ตั้งใจเรียนล่ะ ครูจะเอาใจช่วย” ครูอารีย์ตอบเด็กหนุ่มไป เธอภูมิใจที่ในชีวิตความเป็นครูของเธอได้แสดงบทบาทจนเด็กคนหนึ่งเชื่อถือ และยึดมั่นเป็นแบบอย่าง เธอเชื่อว่าสักวันเด็กหนุ่มคนนี้ย่อมเป็นครูที่ดีกว่าเธอได้แน่นอน
เสียงสัญญาณบอกเข้าเรียนดังขึ้น เด็กๆ ที่เหลือพากันขอตัวไปเข้าเรียนในชั่วโมงบ่าย ครูอารีย์เริ่มเก็บข้าวของของเธอกลับบ้าน อุปกรณ์เขียนหนังสือแต่ละชิ้นถูกเก็บเรียบร้อย โต๊ะทำงานที่เคยมีข้าวของมากมายวางอยู่อย่างเป็นระเบียบตอนนี้ว่างเปล่าแล้ว ครูอารีย์มองโต๊ะตัวนี้ โต๊ะที่เธอนั่งทำงานมานาน โต๊ะที่เป็นเหมือนเพื่อนของเธอที่เธออยู่ด้วยแล้วสุขใจ หลังจากวันนี้ไปเธอจะไม่ได้มานั่งทำงานอยู่กับมันอีกแล้ว ความอาลัย อาวรณ์ในหน้าที่ ในหัวโขนที่สวมใส่ เพื่อแสดงบทบาทของตนเอง เป็นหัวโขนที่เธอแบกรับมายาวนาน วันนี้เธอจะถอดมันแล้ว และถอดมันอย่างถาวร รอวันมีคนมารับช่วงแสดงบทบาทให้สมอุดมการณ์ต่อไป
รถสามล้อถีบพาร่างของครูอารีย์ออกจากโรงเรียนไปอย่างช้าๆ เสียงนักเรียนตะโกนโหวกเหวก ภาพเด็กนุ่งกางเกงขาสั้น เสื้อเชิ้ตสีขาวจะตราตรึงในใจเธอตลอดไป
ชีวิตนี้อุทิศเพื่อการศึกษา เพื่อวิชาชีพ ชีวิตที่เป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเหล่าศิษย์ ชีวิตที่มีพระคุณอันจะลืมเลือนมิได้ พระคุณที่เรียกว่า “พระคุณที่สาม” ...