นายรวินท์ เหราบัตย์
วานนี้(7 พ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาธิการ(กกอ.) แถลงผลการคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชัน ประจำปีการศึกษา 2552
ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดในระบบแอดมิชชั่น ได้แก่ นายรวินท์ เหราบัตย์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 89.24 สูงสุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ได้คะแนนร้อยละ 88.41 สูงสุดในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.71 สูงสุดในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.บุญญาดา ปลั่งศิริ โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนน 87.54 สูงสุดในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ น.ส.ศศิลดา ศิริรุ่งเรือง จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อยละ 87.07 สูงสุดในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ได้คะแนนร้อยละ 83.07 สูงสุดในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ นายกรกวิน พิชญโยธิน จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ได้คะแนนร้อยละ 82.21 สูงสุดในคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นายธีรวีร์ กุระเดชภพ จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้คะแนนร้อยละ 82.12 สูงสุดในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายศศิพงศ์ ลียวัฒนานุพงศ์ จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้คะแนนร้อย 81.97 สูงสุดในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ส.พูนทรัพย์ อารีกิจ จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ได้คะแนนร้อยละ 81.55 สูงสุดในคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
1. นายรวินท์ เหราบัตย์ หรือ “ต้น”
ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา
ที่ 1 นิติศาสตร์ จุฬาฯ
ได้คะแนนสูงสุดแอดมิชชัน 52
นายรวินท์ เหราบัตย์ หรือ “ต้น” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 89.24 สูงสุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคะแนนสูงสุดของการคัดเลือกระบบแอดมิชชัน กล่าวว่า รู้สึกยินดีหลังจากได้รับทราบผลคะแนน โดยตนมีความตั้งใจอยากเรียนด้านกฎหมาย และอยากเข้าไปทำงานในบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นงานที่สนใจ ท้าทาย และได้ใช้ความรู้ด้านภาษาอยู่ตลอดด้วย สำหรับจบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.99 ส่วนเคล็ดลับในการเรียนของตน จะให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้มากที่สุด โดยเฉพาะที่คิดว่าสำคัญ และพยายามวางแผนการอ่านหนังสือ และพยายามทำได้ให้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ส่วนการเรียนพิเศษนั่นตนก็เรียนทุกวิชาที่ต้องสอบ อาทิ ภาษาไทย สังคม ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือแม้จะเรียนพิเศษเสริมด้วย แต่ก็ตัวเราเองก็ต้องตั้งใจและขยันอ่านหนังสือทบทวนด้วยตนเองด้วย
“สำหรับระบบแอดมิชชันนั้น ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นระบบที่วุ่นวาย มีการเปลี่ยนแปลงไปมาตลอด เหมือนไม่มีจุดหมายที่สิ้นสุด ทำให้นักเรียนเองก็งงว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรแน่ อย่างไรก็ตามสำหรับรุ่นน้องที่จะต้องเข้าสู่ระบบแอดมิชชันในปี 2553 ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบใหม่อีกนั้น ก็อยากฝากให้รุ่นน้อง ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ และคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอ” นายรวินท์ กล่าว
2. นายกรกวิน พิชญโยธิน หรือ “อะตอม”
ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ที่ 7 แอดมิชชัน
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
นายกรกวิน พิชญโยธิน หรือ “อะตอม” จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 82.21 สูงเป็นลำดับ 7 ในการแอดมิชชัน ติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า วิธีการเรียนหนังสือและการเตรียมตัวสอบของตนเองนั้น จะทบทวนบทเรียนที่เรียนมาแล้วอย่างสม่ำเสมอ และฝึกทำข้อสอบเก่าเยอะ โดยไม่เคร่งเครียดกับการเรียนและการอ่านหนังสือมากเกินไป ที่สำคัญ ต้องรู้จักแบ่งเวลา อยู่โรงเรียนเมื่อถึงเวลาเรียนก็ต้องตั้งใจเรียน แต่ก็เล่นสนุกกับเพื่อนด้วย ส่วนที่เลือกเรียนบัญชี เพราะอยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และฝากถึงเพื่อนๆ ที่อาจจะพลาดโอกาสจากการแอดมิชชันว่าขอให้พยายามต่อไป อย่าท้อถอยเพราะสนามี้ไม่ใช่สนามเดียวของชีวิต ชีวิตย่อมมีอุปสรรคที่อต้งฝ่าฟันอยู่เสมอ
3. นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์
ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา
ที่ 3 แอดมิชชัน
ที่ 1 วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
นายธัชพล เพชรศิริพันธุ์ นักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดเป็นร้อยละ 87.71 หรือลำดับที่ 3 ในการแอดมิชชัน กล่าวว่า รู้สึกดีใจ แต่ไม่คาดคิดว่าจะทำคะแนนได้สูง ส่วนสาเหตุที่เลือกเรียนคณะนี้นั้น เพราะชอบและมีความถนัดในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ โดยพ่อแม่ไม่ได้บังคับให้เลือกแต่ตนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง สำหรับเคล็ดลับการเรียนเก่งไม่มีอะไรมาก เพียงแค่ตั้งใจ และพยายามทำความเข้าใจกับการเรียนในห้องเรียน และหมั่นทบทวนบทเรียนอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างที่ไปเรียนพิเศษเพื่อให้มีความรู้ที่แน่นขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบแอดมิชชัน เพราะการกำหนดค่าน้ำหนักขององค์ประกอบในการแอดมิชชันไม่สามารถคัดผู้ที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ ได้จริง เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ค่าน้ำหนักไปเน้นที่คะแนนโอเน็ตเยอะมาก ดังนั้นจึงอยากให้ปรับค่าน้ำหนักให้มีความสอดคล้องกับสาขาวิชาต่างๆ ให้มากขึ้น
4. นายศศิพงศ์ ลียวัฒนานุพงศ์ หรือ “เบียร์”
ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา
ที่ 9 แอดมิชชัน
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
นายศศิพงศ์ ลียวัฒนานุพงศ์ หรือ “เบียร์” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 81.79 สูงเป็นลำดับ 9 ของการแอดมิชชัน ติดคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังทราบว่าสอบติดรู้สึกดีใจมาก เพราะตนเป็นเด็กซิลมาจากคณะวิศวะ จุฬาฯ ไม่ได้คาดหวังว่าจะทำคะแนนได้สูง โดยผลคะแนนที่ใช้ยื่นสมัครแอดมิชชันก็เป้นคะแนนเดิมที่สมัครครั้งที่แล้ว ส่วนสาเหตุที่สมัครสอบใหม่นั้น เนื่องจากเมื่อเรียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ และไม่มีความสุขเลย จึงคิดว่าควรจะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบจะดีกว่า
“ผมเรียนวิศวะไปได้สักพักก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันไม่มีความสุขเลย ผมเลยไม่เข้าเรียน และเกเรไปเลย ซึ่งความรู้สึกไม่ชอบมันเริ่มเป็นมาตั้งแต่ ม.ปลาย ที่ผมลือกเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ตอนนั้นหลังจากที่จบ ม.3 จาก จังหวัดปัตตานี ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะเลือกเรียนอะไร ไม่รู้ว่าผมชอบอะไร เลยเลือกเรียนสายวิทย์ เพราะเห็นว่ามีทางเลือกมากกว่าสายศิลป์ และไม่รู้ว่าเรียนสายศิลป์จบออกไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง จนได้เข้าเรียนจึงรู้ว่าไม่ใช่ตนเอง ซึ่งผมคิดว่ากระทรวงศึกษาฯ ควรให้ความสำคัญกับการแนะแนวการศึกษา ทั้งในช่วง ม.3 และเน้นหนักในช่วง ม.ปลาย ซึ่งควรมีกิจกรรมหรือสิ่งที่จะทำให้เด็กค้นหาตัวเองเจอว่าอยากเรียนอะไร ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาเหมือนผม ที่สำคัญระบบแอดมิชชันไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย เพราะเด็กจะวางแผนไม่ได้”
นายศศิพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากที่คิดว่าจะไม่เรียนวิศวะและสมัครแอดมิชชันใหม่ ตนได้ไปเรียนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นข้อด้อยของตนเองเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าหากจะเปลี่ยนไปเรียนเศรษฐศาสตรก็ควรจะเติมเต็มเรื่องภาษาอังกฤษ หลังทราบว่าสอบติดรู้สึกมีความสุขมากและตั้งใจว่าจะตั้งใจเรียน
5. น.ส.ศศิลดา ศศิรุ่งเรือง หรือน้องพัย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ที่ 1 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.ศศิลดา ศศิรุ่งเรือง หรือ น้องพัย นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คะแนนสูงสุดของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ร้อยละ 87.07 กล่าวว่า ตนทราบว่าคะแนนรวมค่อนข้างดี แต่ไม่คิดว่าจะติดคณะวิทยาศาสตร์ด้วยคะแนนที่สูงสุดขนาดนี้ ดีใจมาก ที่เลือกคณะวิทยาศาสตร์ เพราะชอบเคมี มีแรงบันดาลใจจากอาจารย์เคมีที่สอนสนุก เข้าใจง่ายโดยเฉพาะอาจารย์เคมีในค่ายศูนย์ส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ศึกษา (สอวน.)ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีส่วนอย่างมาก ทำให้ประทับใจ อีกทั้งวิชาเคมีสอนให้เป็นคนใช้จินตนาการบวกกับการคิดอย่างมีเหตุผล เนื่องจากต้องเรียนในสิ่งที่เล็กมากมองด้วยตาไม่เห็น ต้องอาศัยการจิตนาการ สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โตขึ้นอยากเป็นอาจารย์เคมี เนื่องจากคิดว่าประเทศไทย มีอาจารย์เคมีน้อย ประกอบกับรัฐบาลกำลังส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ จึงคิดว่าหลังตนเรียนจบ งานวิทยาศาสตร์ก็คงเฟื่องฟูและน่าจะมีองค์กรมาสนับสนุนงาน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ตนกวดวิชาช่วงก่อนสอบ แต่คิดว่าคงไม่มีผลถ้าไม่ตั้งใจเรียนในชั้นเรียน และหมั่นทบทวนเนื้อหาความรู้ตลอด 3 ปีที่เรียนมาเพราะเนื้อหาชั้นม.ปลายเยอะมาก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกวดวิชาให้หมดภายใน 2-3 เดือนสุดท้าย ดังนั้น เคล็ดลับจึงอยู่ที่การตั้งใจเรียนในห้องเรียน
6. น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม หรือน้องโบว์
โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี
ที่ 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.นันทิชา เรืองชัยนิคม หรือ น้องโบว์ นักเรียนโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี คะแนนสูงสุดของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 83.07 กล่าวว่า ดีใจมากที่ติดคณะทันตแพทยศาสตร์ด้วยคะแนนสูงสุด เพราะใฝ่ฝันอยากเป็นทันตแพทยศาสตร์ สำหรับตนคิดว่าการตั้งใจเรียนในชั้นเรียนมีผลอย่างมาก ประกอบกับโรงเรียนมีโครงการกวดวิชาให้กับนักเรียนนอกเวลา มีการให้ฝึกทำข้อสอบ ทบทวนเนื้อหา ดังนั้นอยากให้โรงเรียนอื่นๆ มีโครงการนี้บ้าง คิดว่า จะเพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ส่วนตัวเรียนหนังสือแบบไม่เครียด เพียงแต่ต้องรู้จักจัดสรรเวลาระหว่างเรียนกับการทำกิจกรรมกับเพื่อน
7. น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน
ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย
ที่ 1 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.กัญญารัตน์ อาจชน ร.ร.วัฒนาวิทยาลัย ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก แค่สอบติดก็ดีใจแล้ว แต่เมื่อทราบว่าได้อันดับที่หนึ่งก็ยิ่งดีใจมากยิ่งขึ้น โดยคณะอักษรฯ ใช้วิชาภาษาอังกฤษ จีน ภาษาไทย สังคมศึกษา ในการสอบเข้า ซึ่งเป็นวิชาที่ชอบ จึงรู้สึกสนุกกับการเตรียมตัว ไม่กดดัน และที่เลือกเรียนภาษาจีนเพราะเป็นภาษาสำคัญ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของโลกก็มีคนจีนอาศัยอยู่ เราจะได้ใช้เพื่อติดต่อการค้า เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยในอนาคต
“ส่วนเคล็ดลับการเรียนนั้น ยึดหลักว่า การทบทวนสิ่งที่เรียนมาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจะค่อยๆ อ่านหนังสือสะสมความรู้ และทบทวนตลอดเวลา ไม่โหมหรืออัดแน่นในช่วงใกล้สอบ จัดเวลาเรียนพิเศษให้เหมาะสมรู้จักขีดจำกัดของตนเอง โดยเน้นเรียนตอนปิดเทอม ส่วนช่วงเปิดเทอมก็จะเรียนพิเศษให้น้อยลงและใช้เวลาในการทบทวนเนื้อหา สำหรับเพื่อนๆ ที่พลาดหวังจากการแอดมิชชัน ขอเป็นกำลังใจให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ชีวิตของเราไม่ได้ขึ้นกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตัวเป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม ขอให้เรามั่นใจว่าเรามีศักยภาพ ไม่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยใด ก็ประสบความสำเร็จได้แน่นอน”
8. น.ส.พูลทรัพย์ อารีกิจ
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ
ที่ 1 คณะจิตวิทยา จุฬา
น.ส.พูลทรัพย์ อารีกิจ หรือน้องสาม นักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี คะแนนสูงสุดของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ร้อยละ 81.55 กล่าวว่า รู้สึกดีใจ ส่วนตัวอ่านและทบทวนเนื้อหาในห้องเรียนอย่างดี โดยเฉพาะตอนเรียนม.6 จะปรับตัวแบ่งเวลาระหว่างเรื่องเรียนกับกิจกรรม นอกจากนี้การที่โรงเรียนจัดโครงการติวหนังสือให้กับเด็กม.6 ทุกคน ก็ส่วนอย่างมากกับการที่ตนทำคะแนนสูงขนาดนี้ โตขึ้นตนอยากเรียนจิตวิทยา เพราะเป็นอาชีพที่สามารถเข้าไปทำงานได้กับทุกอาชีพ อีกทั้งเป็นคนที่ชอบให้คำปรึกษาคนด้วย
9. นายธีรวีร์ กุระเดชภพ
โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม
ที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
นายธีรวีร์ กุระเดชภพ หรือ ม่อน จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ได้คะแนนร้อยละ 82.12 สูงสุดในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับ 8 ของแอดมิชชัน กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่สอบติดและทำคะแนนได้สูง ซึ่งการเตรียมตัวสอบนั้นจะทยอยอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ ทั้งปี โดยไม่กดดันตนเอง พร้อมเมื่อไหร่ก็หยิบมาอ่าน ค่อยๆ อ่านไล่ไปทีละรายวิชา เมื่ออ่านจบแล้วก็อ่านใหม่อีกรอบ จะไม่กดดันตัวเองเกินไป เพราะหากกดดันตนเองอาจจะทำให้จำไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาพ่อและแม่คอยส่งเสริมด้านการเรียนอย่างเต็มที่ หากอยากซื้อตำราเรียนพ่อกับแม่ก็จะสนับสนุน อนาคตอยากเป็นนักการทูต กระทรวงต่างประเทศ หรือทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เพราะจะมีโอกาสได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย
“อยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่เรียนอยู่ต่างหวัด ผมคิดว่าการเรียนอยู่ใน กทมม. หรือต่างจังหวัด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ทำคะแนนได้ดี ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนว่าจะขวนขวายแค่ไหน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีไปทั่วถึง เพียงแต่ กทม.อาจจะมีโอกาสมากกว่าบ้าง แต่ผมมั่นใจว่าศักยภาพของนักเรียนทั่วประเทศไม่ด้อยไปกว่ากัน และขอฝากว่าองค์ประกอบแอดมิชชันไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะจะทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวลมาก”
10. น.ส.บุญญาดา ปลั่งศิริ
โรงเรียนเตรียมอุดม
ที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
นางวิระดา ปลั่งศิริ มารดา น.ส.บุญญาดา ปลั่งศิริ นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คะแนนสูงสุดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร้อยละ 87.54 กล่าวว่า ตนและนายบุญคลีไม่ได้มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกคณะของลูกสาว แต่ลูกสาวตัดสินใจเลือกเองโดยตนและนายบุญคลีให้การสนับสนุนทุกเรื่อง ที่ให้ลูกคนเล็กตัดสินใจเอง เพราะลูกคนโตก็เรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งจบและเป็นวิศวะแล้ว และคนรองก็กำลังจะจบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งสองคนก็ได้สมใจดังที่นายบุญคลีต้องการ ดังนั้นในส่วนของลูกสาวคนเล็กจึงให้ตัดสินใจว่าอยากจะเรียนทางด้านไหน ส่วนครอบครัวก็ไม่ได้วางแผนว่าลูกสำเร็จการศึกษาแล้วจะทำงานอะไร ให้อำนาจตัดสินใจแก่ลูก อย่างไรก็ตามดีใจและภูมิใจในตัวลูกมากที่ทำคะแนนสูงสุดของคณะนิเทศาสตร์ จุฬาฯ เพราะครอบครัวก็จบจุฬาฯ ทุกคนทั้งพ่อแม่และพี่ๆ รู้ว่าลูกสาวต้องติดคณะนิเทศาสตร์แน่ เพราะคะแนนรวมดีแต่ไม่คิดว่าจะสูงเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่ภาคภูมิใจในส่วนลูกสาวคนนี้มากที่สุด คือรู้จักแบ่งเวลาระหว่างการเรียนและกิจกรรม โดยเป็นประธานลีดเดอร์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แข่งลีลาศได้ถ้วยรางวัล แต่ก็ยังคงตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ลูกสาวสอบได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เรียนมหาวิทยาลัยโตได ระดับปริญญาตรี โดยเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัด ได้เบี้ยเลี้ยงแสนเยน และถ้าเรียนได้ผลการเรียนดีก็สามารถได้ทุนต่อไปจนถึงปริญญาเอกด้วย ซึ่งตอนนี้ลูกสาวตนก็อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ตนได้โทรไปแจ้งข่าวแล้ว ก็ดีใจมากและบอกว่าหลังจากกลับจากญี่ปุ่นแล้วจะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเลือกอะไรระหว่างทุนรัฐบาลญี่ปุ่นกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ (เนื่องจาก น.ส.บุญญาดา เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น)
|
นายกรกวิน พิชญโยธิน |
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์